21 ม.ค.64- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตอบข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 ใน 4 ประเด็นสำคัญว่า ในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินนั้น หากเป็นยามปกติการคิดค้นวัคซีนใหม่จะเป็นไปตามขั้นตอนคือ การทดลองในสัตว์เพื่อศึกษาความปลอดภัย การศึกษากระตุ้นภูมิต้านทาน หลังจากนั้นจึงจะมีการขออนุญาตทดลองในมนุษย์ ซึ่งมี 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ศึกษาความปลอดภัย ระยะที่ 2 ดูว่ากระตุ้นภูมิต้านทานได้จริงหรือไม่ และระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน โดยจะแบ่งกลุ่มให้วัคซีนจริงและและวัคซีนหลอก แล้วติดตามไปอีกเป็นปีหรือสองปี เพื่อดูประสิทธิภาพ
แต่ในภาวะโรคระบาด ไม่สามารถรอจนสิ้นสุดขั้นตอนการวิจัยได้ แค่ฉีดไป 2-3เดือน การวิจัยก็เปิดรหัสแล้ว เพราะมีผู้ป่วยเกิดขึ้น เมื่อเปิดรหัสดูแล้ว ก็จะรู้ว่าในกลุ่มควบคุมติดเชื้อไปกี่คนแล้วมาหารเปรียบเทียบอัตราส่วนป้องกันโรค ว่าป้องกันโรคได้กี่เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่ากลุ่มที่เป็นโรคอาจจะบอกแตกต่างกันในแต่ละวัคซีนที่ทำวิจัย เพราะโรคทุกโรครวมทั้งโควิด เป็นได้ทั้่งไม่มีอาการ ตั้งแต่น้อยมาก ไม่มีอาการ ปานกลาง จนถึงอาการรุนแรง ในบางวัคซีนตั้งเป้า บอกอาการน้อยไม่เอา เอาแต่ที่มีอาการมาก หรือรุนแรง แต่ละวัคซีน จึงมีตั้งเป้าหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพิจารณาประสิทธิภาพแต่ละวัคซีน บางครั้งอาจจึงอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แล้วแต่ใครกำหนดคำนิยามของการเป็นโรคหรือติดโรค อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านระยะนี้ไปแล้ว ถือว่าการศึกษายังไม่สิ้นสุด ต้องดำเนินต่อไปเป็น 6เดือน หรือ1ปีข้างหน้าจึงถือว่าสิ้นสุดการทดลอง
ทั้งนี้ การระบาดของโควิดทำให้รอไม่ได้ เมื่อการศึกษาเปิดโค้ดมาแล้ว ว่ารักษาโรคได้จริง แม้การศึกษาระยะที่ 3 ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็สามารถยืนต่อองค์การอาหารและยา(อย.) ขอใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งอย.จะต้องดูข้อมูลทั้งหมด และอย.จะเน้นส่วนที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย แล้วค่อยดูประสิทธิภาพ แล้วประสิทธิภาพที่คำนึงผลนี้ ต้องเอามาชั่งน้ำหนักดูว่าให้ไปแล้ว จะมีผลดีต่อกลุ่มที่จะฉีดวัคซีน มากกว่าที่จะปล่อยให้เขาไปเป็นโรคเอง เป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย จึงยอมให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ก็ยังรอผลการศึกษาต่อไปที่จะมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากนั้น ก็จะยื่นผลศึกษาสมทบไปกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ให้อย.พิจารณาต่อไป และอย.คงจะต้องดูต่อไปว่าทุกอย่างสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าสมบูรณ์ อย.ก็จะอนุญาตให้ใช้ในภาวะปกติ ซึ่งทั้งภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติ จะต้องติดตามคนที่ฉีดล้ว อย่างน้อยอีก 2ปี ถ้ามีอะไรผิดปกติ หรือสงสัย จะต้องรายงาน อย.หรือบริษัทผลิตวัคซีนทราบ
ประเด็นที่สอง รูปแบบของวัคซีนที่จะนำมาฉีดในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน มี 3 รูปแบบ คือ 1.ชนิด mRNA โดยใช้รหัสพันธุกรรม RNA ของไวรัสโควิด 19 มาห่อหุ้มด้วยตัวนำ Nano Particle วัคซีนกลุ่มนี้คือ ของบริษัทไฟเซอร์ และบริษัทโมเดอร์นา เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน 2.ไวรัสเวคเตอร์ เป็นการนำสารพันธุกรรมไวรัสโควิด 19 มาฝากกับไวรัสที่ไม่ก่อโรคหรือถูกทำหมันแล้ว ได้แก่ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สปุตนิก5 ของรัสเซีย และแคนไซโนของจีน ซึ่งรูปแบบนี้เคยใช้ในวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา ที่ฉีดหลายแสนคนในแอฟริกา และ 3.วัคซีนเชื้อตาย โดยเพาะเลี้ยงไวรัสจำนวนมากแล้วทำให้ไวรัสตาย นำมาใส่สารช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน และฉีดให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน แต่ต้องให้หลายครั้ง การเพาะเชื้อต้องทำในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ข้อดีคือ เรารู้จักรูปแบบนี้มานานกว่า 70 ปี ทั้งวัคซีนโปลิโอ ไวรัสตับอักเสบเอ พิษสุนัขบ้า อาการข้างเคียงต่างๆ ศึกษาง่ายกว่าวัคซีนชนิดใหม่ที่ไม่เคยศึกษามาก่อน แต่การผลิตจำนวนมากไม่สามารถลดต้นทุนให้ถูกลงเท่า 2 รูปแบบแรก ประเทศไทยจึงเลือกทางสายกลางในการนำวัคซีนไวรัสเวคเตอร์และวัคซีนชนิดเชื้อตายที่เคยมีการใช้มาบ้างเข้ามาใช้
ประเด็นที่สาม กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนนั้น เนื่องจากผลการศึกษาวัคซีนทุกตัวเป็นเรื่องประสิทธิผลลดอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิต ยังไม่มีผลการศึกษาที่บอกว่าจะลดการติดโรคหรือลดการแพร่เชื้อ คือ ไม่ได้บอกว่าฉีดแล้วจะไม่เป็นโรค เหมือนกรณีวัคซีนคอตีบที่ฉีดแล้วจะไม่เป็นโรคคอตีบ ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายในการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงไม่ใช่ฉีดให้คนหนุ่มสาวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุ เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าจะป้องกันการติดโรค แต่จะฉีดให้กลุ่มที่เสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง นอนในโรงพยาบาลและเสียชีวิตสูง คือ ผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว บุคลากรด่านหน้า เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร ส่วนที่ไม่ฉีดให้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีการศึกษา และยังไม่รู้ว่าจะต้องลดโดสลงครึ่งหนึ่งหรือไม่ ในสตรีตั้งครรภ์ก็เช่นกัน ยังไม่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ แต่หากอยู่ในวงระบาดอย่างหนักก็อาจมีการพิจารณาเป็นรายกรณี
ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า ประเด็นที่สี่ เรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ต้องแยกก่อนว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ และอาการข้างเคียงของวัคซีน อาการข้างเคียงคือผลที่เกิดขึ้นจากวัคซีนจริง แต่อาการไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากตัววัคซีนหรือไม่ก็ได้ ต้องมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยพิจารณา เพื่อพิสูจน์ว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องจะเป็นอาการข้างเคียง
"เช่นเดียวกับที่มีข่าวการเสียชีวิตหลังการฉีดที่นอร์เวย์ 29 ราย ที่เยอรมัน หมอที่โปรตุเกสเสียฃีวิต หลายคนตกใจ เราต้องยอมรับว่าประเทศตะวันตก มีความโปร่งใส เมื่อไหร่ที่มีวัคซีนใหม่ เมื่อฉีดแล้ว เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หลังได้รับวัคซีน จึงต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ แต่เราต้องแยกอาการไม่พึงประสงค์กับอาการข้างเคียงออกจากกัน อาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากวัคซีนหรือไม่เกิดจากวัคซีนก็ได้ ต้องพิสูจน์ต่อไป" ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยงกล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนจากแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส ขณะนี้ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากเราฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ คือ ผู้สูงอายุ มีประมาณ 10 ล้านคน คนที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมแล้วประมาณ 13-14 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส จำนวน 28 ล้านโดสก็ถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย เนื่องจากมีจำนวนน้อย ดังนั้น เมื่อเรารอจนถึงใกล้สิ้นปี หรือปีหน้า ตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ เนื่องจากจะมีวัคซีนออกมามากขึ้น เราก็สามารถเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด ราคาเหมาะสมที่สุด มาฉีดเพิ่มเติมหลังจากนี้ได้ ซึ่งปี 2564 วัคซีนเป็นเพียงมาตรการเสริมจากมาตรการที่เราทำดีอยู่แล้ว คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง จึงขอทุกคนช่วยกันมีระเบียบวินัยในการป้องกันโรคต่อไป จะช่วยให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกันได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |