4 ปี คสช. ประเทศเสียโอกาส...


เพิ่มเพื่อน    

4 ปี คสช.ประเทศเสียโอกาส...

อย่าเอาแต่พรรคพวกตัวเอง  

     เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วอีกไม่ถึง 10 วันก็จะครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช.โดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก

     4 ปีรัฐประหาร คสช.เทียบได้กับหนึ่งเทอมของสภาผู้แทนราษฎร ที่โหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรีไปบริหารประเทศ แต่ถึงตอนนี้รัฐบาลทหาร คสช.อยู่นานเกินกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปแล้ว การบริหารประเทศของบิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์และคณะ คสช.ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของนักวิชาการ-นักคิด-นักเขียนชื่อดัง รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงทัศนะเชิงวิพากษ์ไว้หลายประเด็น โดยยอมรับว่าหากให้คะแนน 4 ปีของ คสช.ก็ผ่านแบบเฉียดฉิว เพราะเห็นว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์เคยประกาศไว้ตั้งแต่วันทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 เช่นเรื่องการปฏิรูป การสร้างความปรองดอง ผ่านมา 4 ปี คสช.-พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ทำหรือทำแต่ก็ไม่มีผลสำเร็จตามที่เคยประกาศไว้ ทำให้ประเทศเสียโอกาสอย่างมากโดยเฉพาะการปฏิรูปที่จับต้องอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ รศ.วิทยากร ที่เป็นเจ้าของบทกลอน เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนหนุ่มสาว-นักศึกษา ที่มีข้อความ ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา  ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว จนต่อมาเกิดขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังได้มองปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่นัดชุมนุมใหญ่ 22 พ.ค.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยได้ชี้ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวจึงไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีแนวร่วมในวงกว้างทั้งที่ชุมนุมกันมาแล้วหลายครั้ง

     รศ.วิทยากร เริ่มต้นว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่พลเอกประยุทธ์ทำรัฐประหาร ต้องถือว่า คสช.ทำได้เก่ง มีการวางแผนมาดี จนสามารถยุติความรุนแรงในช่วงการชุมนุมทางการเมืองตอนปี 2557 ได้ ทำให้ทั้ง กปปส.และเสื้อแดงยุติการเคลื่อนไหวชุมนุมทันที จากสถานการณ์เวลานั้นที่มีความรุนแรงสองขั้วแบบสุดโต่ง คนก็ชอบ คสช.ในด้านนี้  

     ...แต่เมื่อรัฐประหารแล้ว คสช.มีข้อจำกัด เพราะฝ่ายรัฐประหารเป็นทหาร ไม่มีประสบการณ์เคยบริหารประเทศ บริหารเศรษฐกิจ การเมือง และรู้จักคนน้อย คสช.ช่วงแรกเลยเลือกแต่คนที่ตัวเองรู้จักมาทำงานให้ เลือกพรรคพวก เห็นได้จากเช่นการตั้งรัฐบาล ตั้ง ครม. ช่วงแรกเลยตั้งทหารมาเป็นรัฐมนตรีมาก เช่นเดียวกับการตั้งคนในฝ่ายต่างๆ เช่นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คสช.ก็จะพึ่งพาแต่ทหาร พึ่งข้าราชการประจำมากเกินไป เลยทำอะไรไม่ได้มาก เพราะทำงานแบบข้าราชการประจำ การบริหารงานก็ใช้วิธีออกคำสั่งแบบทหารที่ตอนแรกก็พอจะทำได้ เช่นจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ ก็เลยทำให้ตอนแรก คสช.เข้ามา งานพวกการรักษาความสงบเรียบร้อย คสช.ก็ทำได้ แต่พอเรื่องการบริหารประเทศ คสช.ก็บริหารแบบข้าราชการประจำ ฟังแต่พวกเทคโนแครตที่ คสช.รู้จัก

     ...ซึ่งหลายคนจริงๆ ก็คือนักการเมืองเก่า ทีมเศรษฐกิจที่มาช่วยงาน คสช.ก็เป็นทีมของทักษิณมาก่อน อย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพราะ คสช.ไม่มีความรู้ด้านนี้ก็เลยพึ่งคนพวกนี้

     รศ.วิทยากร ชี้ให้เห็นว่าจุดอ่อน คสช.ก็คือเป็นสังคมแบบเล่นพวก สังคมแบบพี่น้อง เกรงใจกัน ของพวกนายทหาร รุ่นพี่รุ่นน้องเกรงใจกัน เลยทำให้เหมือนกับว่าเขาเด็ดขาดกับฝ่ายอื่น แต่กับพวกคสช.เองกลับไม่เด็ดขาด เลยทำให้ คสช.ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้จริงจัง

     “เมื่อ คสช.ไม่ปฏิรูปมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนก็เลยไม่มีทางออก ประชาชนก็ยังกลัวทักษิณจะกลับมาเมื่อมีการเลือกตั้ง เลยยังต้องเชียร์พลเอกประยุทธ์อยู่ เหมือนกับประชาชนไม่มีทางเลือก เพราะประยุทธ์ยังสามารถกันทักษิณไว้ได้ คนบางส่วนก็พอใจกันแค่นี้”

      ...แต่คนที่มีปัญหา เช่นชาวบ้านที่เจอปัญหาเศรษฐกิจเขาชักไม่พอใจ คสช. รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ เช่นการไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็เลยมีการไม่พอใจ ประท้วงกันเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งรัฐบาล คสช.ไม่เข้าใจปัญหาแล้วก็มองด้วยความคิดแบบเก่า คือไปมองว่าที่คนไม่พอใจเกิดจากเรื่องการเมือง ที่มีคนออกมาประท้วงเป็นพวกทักษิณ พวกต่อต้านรัฐบาล คสช.ไม่ยอมจำแนกออกเป็นเรื่องๆ แล้วแก้ปัญหา

     ...ผลก็เลยทำให้อยู่กันไปแบบนี้ อยู่กันไปแบบพอใช้ได้ แต่ก็ไม่ปฏิรูปอะไร เพราะ คสช.พึ่งข้าราชการเยอะ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ โดยปัญหาก็มาเรื่อยๆ ก็แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เอาแค่ให้มันพอผ่านไป รัฐบาลทำงานเหมือนลองถูกลองผิด ลองกันหลายครั้ง เช่นการตั้ง ครม.ตอนแรกก็เอาพวกทหารพวกตัวเองเข้ามา ตอนหลังเมื่อเห็นใครไม่ค่อยได้ความก็ปรับออก แล้วก็ตั้งทหารคนอื่นเข้ามาอีก  เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ลองถูกลองผิด ก็ถือว่าที่ผ่านมาก็ทำงานปานกลาง ไม่ได้ดีมากนัก แต่คนก็ยังพอรับได้

     ...ส่วนปัญหาทุจริตฉ้อฉลมันก็คงมีบ้าง คนก็พูดจาวิจารณ์กัน เพียงแต่ขอบเขตอาจไม่สูงมากเหมือนในยุคทักษิณ คนวิจารณ์ก็ส่วนหนึ่ง คนเฉยๆ ก็ส่วนหนึ่ง บางคนก็มองแบบสองขั้ว อย่างคนคัดค้านทักษิณก็มองว่าอย่างน้อยก็ต้องเลือกเอาประยุทธ์ไว้ก่อน ปล่อยผ่านไปก่อน เพราะก็ยังช่วยกันทักษิณเอาไว้ได้ ก็เลยทำให้ คสช.ยังเชื่อมั่นว่าคนก็ยังหนุนเขาอยู่

     เมื่อถามว่าที่บอก คสช. 4 ปีไม่ปฏิรูปตามที่เคยประกาศไว้ มีดัชนีอะไรเป็นตัวชี้วัด รศ.วิทยากร อธิบายว่าความเข้าใจของ คสช.เรื่องปฏิรูปมีน้อย เขาไม่เข้าใจเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ หากต้องการสร้างความเป็นธรรมก็ต้องปฏิรูปเรื่องภาษีอากร เรื่องการถือครองทรัพย์สิน  ไม่ใช่แค่การเอาเงินไปช่วยคนจน เอาเงินกู้ไปให้ ซึ่งการทำแบบนั้นมันก็ไม่แตกต่างจากยุคทักษิณ เพียงแต่ใช้ชื่อเป็นประชารัฐ แต่หลายอย่างจริงๆ มันก็คล้ายกัน เพราะ คสช.ก็ไม่ได้ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบภาษี ระบบการเงินการคลัง ปฏิรูปราชการอย่างจริงจัง แต่ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ เช่นพอมีข่าวเรื่องคอร์รัปชันก็ใช้วิธีย้ายปลด ตั้งกรรมการสอบสวนเป็นคนๆ ไป แต่ไม่ได้วางหลักเกณฑ์การป้องกันการทุจริตให้ดีขึ้นอย่างไร คสช.ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวโครงสร้าง แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ไป

-แต่ผลงานด้านสังคม การลดความเหลื่อมล้ำ คสช.ก็อ้างผลงาน เช่นการออกภาษีมรดก  หรือตอนนี้ที่ผลักดันภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในชั้น สนช.กำลังพิจารณา?

     แต่มันไม่เกิดผลจริง อย่างเรื่องการออกกฎหมายภาษีมรดก ก็ไปถูกปู้ยี่ปู้ยำจนกลายเป็นว่าแทบไม่มีใครเสียเลย มีการไปแก้ไขหลักเกณฑ์การเสียภาษีให้สูงขึ้น มีช่องทางให้คนหลีกเลี่ยงได้ มีการโอนทรัพย์สินก่อน ทำให้แทบจะจัดเก็บภาษีมรดกไม่ได้เลย เก็บได้น้อย ส่วน กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช.ก็ยังไม่ออกมา ที่หากออกมาก็อาจช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเพราะมันต้องปฏิรูปมากกว่านี้ คสช.ทำเป็นปฏิรูปบ้าง แต่จริงๆ ยังไม่ได้ลงลึก

     รศ.วิทยากร ที่เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ เมื่อถูกถามถึงการปฏิรูปการศึกษาที่มีการเขียนไว้ใน รธน.และมีการตั้งคณะกรรมการอิสระทำเรื่องปฏิรูปการศึกษา ดูแล้วถือว่ามีอนาคตไหม โดยเขากล่าวตอบว่ารัฐบาล คสช.มีความพยายาม แต่ว่าการตั้งกรรมการชุดดังกล่าวพบว่าก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร แค่ทำข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษา แต่ คสช.ก็ไม่ได้กล้าทำปฏิรูปการศึกษาจริงจัง เช่นผมเคยเสนอให้มีการนำครูทั้งประเทศมาสอบวัดเพื่อจะได้รู้ว่าครูมีความรู้จริงหรือไม่ รัฐบาลกล้าทำหรือไม่แบบนี้ เขาก็ไม่กล้า เพราะไปติดระบบราชการมาก หรือการกระจายอำนาจให้โรงเรียนที่มีความพร้อม ก็ให้เป็นนิติบุคคลไปเลย ให้โรงเรียนบริหารไปเลย หรือข้อเสนอให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในเรื่องการศึกษา ไม่ใช่มาหวงอำนาจไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างการแข่งขัน

     ...รวมถึงเสนอให้มีการจ่ายคูปองการศึกษาไว้กับตัวนักเรียนเลย เพื่อจะได้เลือกเองว่าจะเรียนในโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน แต่หากเป็นโรงเรียนเอกชนที่คุณภาพดี ตัวนักเรียนก็ต้องหามาจ่ายเพิ่มเอง  แต่อย่างน้อยเขาก็มีคูปอง มันก็จะยุติธรรมสำหรับเด็ก จะได้เกิดการแข่งขัน เพราะหากโรงเรียนไหนคุณภาพไม่ดีก็จะไม่มีเด็กมาเรียน ไม่ใช่ให้งบประมาณหมดทุกโรงเรียน โดยที่บางโรงเรียนก็คุณภาพดี  แต่บางแห่งไม่ดี แต่ก็ได้งบกันหมด แล้วคนก็ไปแย่งกันเข้าโรงเรียนดังๆ ต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ที่ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันของโรงเรียน ก็เลยอยู่แบบระบบเดิม ก็จะมีโรงเรียนดีๆ ประมาณ 300-400 แห่งที่คนแย่งกันเข้าเรียน แต่อีก 3 หมื่นกว่าแห่งคุณภาพต่างกัน รวมถึงเรื่องปัญหาคุณภาพครูที่มีคุณภาพต่ำ ไม่มีการเร่งรัดพัฒนาอย่างจริงจัง การใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเงินให้ครู เงินวิทยฐานะก็ไม่ได้ช่วย คือใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมผลการศึกษากลับไม่ได้ดีขึ้น

-สี่ปีที่ผ่านมาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็ไม่เห็นอะไร?

     ไม่เห็นผล แล้วต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยากด้วย แล้ว คสช.ก็ตั้งคนมาเป็นรัฐมนตรี ตอนแรกก็เอาทหารมาเป็น จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนไปเอานายแพทย์มาเป็น รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งหมอคนนั้นก็ไม่เคยทำเรื่องการศึกษามาก่อน เขานึกอยากตั้งใครเขาก็ตั้ง เรื่องปฏิรูปการศึกษาจึงถือว่าสอบไม่ผ่าน ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากซับซ้อน จริงๆ ต้องกล้าทำหลายอย่าง

ตีแสกหน้า คสช. 4  ปีเหลวไม่ปฏิรู

     ถามต่อไปว่าแต่เรื่องปฏิรูป คสช.ก็มีการทำหลายอย่าง เช่นตั้ง สปช.ตามด้วย สปท. แล้วก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ มีการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ แบบนี้ถือว่าสำเร็จหรือไม่ รศ.วิทยากร ระบุว่าเขาไม่ได้ปฏิรูป เขาใช้คำว่าปฏิรูปเพราะเป็นคำที่เท่ แต่ คสช.ก็แค่แก้ปัญหาประจำวัน แก้ในระบบราชการ สิ่งที่เขาคิดว่าทำปฏิรูปก็คือการวางแผนและเขียนว่าจะทำอะไร แล้วก็เขียนให้สวย ถึงกับคิดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เขียนออกมาแล้วไม่มีรายละเอียด ไม่มีแผนงานที่จะทำให้เกิดผลได้จริง มีแต่พิมพ์เขียว แล้วก็เขียนออกมาลอยๆ ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเกิดผลอะไรขึ้น วัดเป็นตัวเลข แต่วิธีการที่จะไปถึงจุดนั้นจะทำอย่างไร ทำเมื่อใด วิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายตรงนั้นพบว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมีได้ แต่ต้องคิดในทิศทางใหญ่ๆ ที่ผมเห็นผมว่าเขาเขียนแบบลอยๆ

-หากต้องให้คะแนน จากหนึ่งร้อยให้เท่าใด?

     พูดยาก ก็ปานกลาง ก็ผ่าน เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่แย่กว่าเดิม เพียงแต่ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก  อย่างเรื่องตำรวจยิ่งแย่ ผมว่าเขาไม่กล้าปฏิรูปตำรวจ เรื่องนี้ไม่ปฏิรูปเลย

        ...คสช.ไปติดอยู่กับระบบราชการ แล้วเขามีความรู้ความชำนาญจำกัด เขาเป็นทหาร เขาสั่ง คสช.ไปคิดว่าทุกอย่างสั่งได้ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ เพราะปัญหาการบริหารงานจริงๆ มันสลับซับซ้อน พอมีใครไปร้องเรียน เขาก็สั่งๆ แต่จริงๆ เมื่อเป็นนักบริหารต้องรู้วิธีการบริหาร เหมือนกับการบริหารบริษัทเอกชน ผู้บริหารไม่ได้แค่สั่ง แต่ต้องลงไปทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง บางทีอาจต้องลงไปล้วงลูก ลงไปติดตามตลอดว่าไปถึงไหน ยิ่งหากไม่ปฏิรูประบบราชการ แม้ส่งเรื่องไปให้หน่วยราชการทำ ส่งไปก็เอาเรื่องไปถ่วงเวลาไว้ ขนาดที่เห็น คสช.มีอำนาจขนาดนี้ แต่ก็ยังมีการโกงกันอยู่เช่นที่เกิดที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ยังมีการทุจริต คนก็ไม่ได้กลัวรัฐบาลเพราะคิดว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยา

-นโยบายหลักๆ เช่น โครงการประชารัฐ ไทยนิยม ก็มีเสียงวิจารณ์ทำให้กลุ่มทุนเช่นซีพี หรือกลุ่มธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดีได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้?

     ใช่ ผมว่ามันแปลกๆ อย่างนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แทนที่จะให้เงินเขา แต่กลับให้เป็นบัตรแล้วนำไปรูดซื้อของบางร้านที่มีเส้นสายกัน แล้วบางทีเอาของแพงของไม่ดีมาขาย บางคนเสียเวลาเดินทางออกจากหมู่บ้านเขามาที่ร้าน แล้วบางทีเจอบางร้านไม่มีที่รูดบัตร มันก็ตลก แทนที่จะจ่ายเงินไปเลย ทำไมต้องมาเอื้อประโยชน์พวกนี้ มันเหมือนระบบราชการ พวกคนที่คอยซิกแซ็กหาประโยชน์ ทำให้พอออกนโยบายบางอย่างส่งให้ไปทำ พวกข้าราชการประจำก็เอาไปตบแต่ง เหมือนนโยบายช่วยเหลือคนจนที่มีการโกง บางเรื่องดูเหมือนจะดี เช่นให้ซื้อแท็งก์น้ำ แต่สุดท้ายก็โกงกันเพราะกลไกการควบคุมการทำงานไม่เก่ง

-นโยบายประชารัฐกลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์?

ใช่ๆ

-ได้มากกว่ายุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง?

     ผมว่าก็พอกัน อย่างซีพีก็อยู่ได้ตลอด ไม่ว่าทักษิณหรือใครบริษัทใหญ่อยู่ได้ตลอด แต่ยุคทักษิณ ทักษิณก็อาจเอื้อพรรคพวกตัวเอง ทำนองนี้ แต่โดยโครงสร้างมันไม่เปลี่ยน คือแทนที่จะส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อมให้ขึ้นมา ต้องมีกฎหมายกีดกันการผูกขาด เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ใครกำไรมาก เสียภาษีมาก เรื่องพวกนี้ยุค คสช.ก็ไม่ค่อยทำปล่อยเสรี ก็เหมือนยุคทักษิณมือใครยาวสาวได้สาวเอา ก็ไม่แตกต่างกัน

     นโยบายประชารัฐเท่าที่เห็นรัฐบาลก็พยายามจะทำ แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงก็เห็นแล้วว่ามันก็ยาก ที่พยายามจะให้ชุมชนมีการตั้งบริษัทแบบประชารัฐขึ้นมาแล้วให้นักบริหารลงไปช่วยดูให้ แต่ว่ามันยากเพราะระบบเศรษฐกิจโดยรวม ธุรกิจใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม สามารถซื้อของได้ราคาต่ำกว่า จะไปกู้ธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า การไปหนุนธุรกิจรายย่อยในชุมชนให้มาแข่งขันต้องลงแรงมาก จัดระบบสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เขาแข่งขันได้

     ส่วนโครงการ EEC เขาเน้นการส่งเสริมการลงทุนการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป มองแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือมองว่าหากต่างชาติมาลงทุนมากๆ พวกคนไทยจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ก็จริงในบางส่วน เพราะความจริงเงินไหลไปสู่ประชาชนช้าและไปไม่มาก คนได้ประโยชน์ก็คือนายทุน ชนชั้นกลาง คนทำงานบริษัทใหญ่ๆ ทำธุรกิจค้าขาย ซึ่งจริงๆ เราควรพึ่งตัวเองได้มากกว่านี้ เราพึ่งการส่งออกนำเข้ามากเกินไป โดยคนไทยไม่มีกำลังซื้อ จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมรัฐบาลบอกเศรษฐกิจก็โตแต่เงินไปไม่ถึงชาวบ้าน คือเศรษฐกิจโต แต่พวกบริษัทใหญ่ บริษัทส่งออก คนชนชั้นกลางได้ แต่ไปไม่ถึงคนรากหญ้าหรือไปถึงแต่ก็น้อย ก็เลยมีปัญหา

-แม้ต้องการใช้ประชารัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่มองอีกมุมหนึ่งก็คือหวังผลทางการเมือง?

     ใช่ ส่วนหนึ่งก็หวังผลการเมือง และอีกส่วนหนึ่งเขาเชื่อว่าหากประชาชนมีเงินมาซื้อของ ก็ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจโต เขาเชื่อแบบนี้ ซึ่งบางอย่างก็บริโภคฟุ่มเฟือย แบบสมัยทักษิณที่ทำแล้วคนก็เอาเงินไปซื้อมือถือ มอเตอร์ไซค์ ไม่ได้เพิ่มผลผลิต แต่ไปส่งเสริมการบริโภคแล้วอ้างว่าทำให้เศรษฐกิจโต จีดีพีโต แต่โตแบบไม่ยั่งยืน สุดท้ายประชาชนก็เป็นหนี้กัน แล้วรัฐบาลก็คิดแบบราชการ  คือบอกจะทำโครงการฝึกอาชีพ แต่สุดท้ายกลับไม่มีคนมาสมัครเรียน เพราะอาชีพที่เขาเปิดสอนมันไม่มีความหมาย เพราะเขาก็มีอาชีพของเขา แล้วเคยไปฝึกมาแล้วมันไม่มีประโยชน์ 

รัฐบาลมองไม่ถึงข้างล่างมันก็เลยลำบาก เขาต้องมีคนมาช่วยไปดูงานระดับข้างล่างเพื่อให้ลงไปได้จริง แต่ที่ผ่านมาสั่งมาจากข้างบนเลยลำบาก เรื่องปฏิรูปเศรษฐกิจของ คสช.ที่ผ่านมาก็ทำได้น้อย แค่ประคับประคองสถานการณ์ เช่นแก้กฎหมายออกคำสั่งช่วยนักลงทุน แต่ที่ผ่านมาเอกชนเขาช่วยตัวเองกันมากกว่า แล้วเศรษฐกิจพอไปได้ ก็เลยไปได้ด้วยตัวเองเพราะเศรษฐกิจโลกขยายตัว 

บิ๊กตู่โอกาสสูงคัมแบ็กนายกฯ 

     คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเรื่องโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ รอบสองของพลเอกประยุทธ์ด้วยว่า เวลานี้ดูแล้วคะแนนนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ก็ยังดีอยู่ แต่อย่างที่ไปลงพื้นที่บุรีรัมย์ดูแล้วอาจจะเป็นการจัดตั้ง คือคนเชียร์รัฐบาลก็มี คนไทยชอบเชียร์คนมีอำนาจ  ยุคทักษิณคนก็เชียร์ คือใครมีอำนาจคนก็เชียร์ เพราะชอบฝากความหวังว่าคนมีอำนาจจะช่วยเขาได้  คนไทยไม่ได้สนใจเรื่องปัญหาเรื่องนโยบายจริงๆ แต่อยากให้มาช่วยเท่านั้นเอง ดังนั้นนโยบายจะเป็นชื่อประชานิยมหรือประชารัฐเขาก็ชอบทั้งนั้น แต่เขาจะไม่เห็นการแก้ปัญหาแบบระยะยาว ก็เอาแบบง่ายๆ  มีอะไรมาช่วยเขาก็เอา

     แต่ระยะหลังกระแสนิยมพลเอกประยุทธ์พบว่าลดลงบ้าง อย่างผลโพลที่คนเริ่มบ่นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องคอร์รัปชัน ก็สะท้อนว่าคนก็ไม่ได้นิยมเสมอไป แต่หากถามเป็นตัวบุคคลคนก็ยังมองไม่เห็นคนอื่น เลยทำให้บิ๊กตู่ยังมีคะแนนผลโพลนำ แต่หากถามเป็นเรื่องๆ เช่นเศรษฐกิจตอนนี้มีปัญหาไหม คนก็จะบอกมีปัญหา ก็แปลกเหมือนกับมองแยกๆ กัน คือยังหวังจะให้บิ๊กตู่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจมีปัญหา

     สำหรับจุดแข็งของพลเอกประยุทธ์เท่าที่ดู อย่างเรื่องการพูดจาเขาก็พูดตรงไปตรงมา คนก็เลยรู้สึกชอบเขาและรู้สึกว่าเขาซื่อตรงพอสมควร แม้เพื่อนฝูงรอบข้างพวกทหารจะโดนวิจารณ์บ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรที่โยงถึงเขาโดยตรง อาจจะมีโยงถึงน้องชายเขาบ้างแต่นิดหน่อย แต่ไม่มีอะไรโยงถึงนายกฯ มาก  ไม่เหมือนสมัยทักษิณที่คนเห็นชัด ก็เลยทำให้คนก็ยังชอบบิ๊กตู่ในแง่นี้

     รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่าสำหรับบุคลิกแบบทหาร แบบอำนาจนิยมของพลเอกประยุทธ์ที่แสดงออกมาตลอดสี่ปี เท่าที่เห็นพวกปัญญาชนก็จะไม่ชอบ แต่ชาวบ้านบางทีชอบเขา เขาพูดจาแบบชาวบ้าน  แล้วคนไทยบางทีชอบคนพูดจาเด็ดขาด ก็เลยชอบเขา คนชอบเขาก็เลยมีอยู่ ชอบบางทีเพราะไม่มีตัวเลือก คือเพื่อไทยก็ไม่ชอบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนก็เบื่อแล้ว เคยเป็นรัฐบาลก็ไม่เห็นแก้ปัญหาอะไร เลยเหมือนไม่มีตัวเลือก

     ส่วนจุดอ่อนผมว่าเขาไม่จับปัญหาหลัก คือพูดทุกเรื่อง แล้วก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ปรับ ครม.อะไรต่างๆ แล้วก็ไม่ได้ติดตามปัญหาอย่างจริงจัง หลังๆ ปัญหาเลยเริ่มเยอะขึ้น แล้วบางเรื่องเขาไม่กล้าตัดสินใจ เช่นกรณีปัญหาบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ เขาไปคิดโดยยึดแบบระบบราชการ มองว่าถูกระเบียบแล้ว เกรงใจศาล ทั้งที่ในทางการเมืองเขาเล่นงานได้เลย เพราะคนอนุมัติเป็นรัฐบาลชุดก่อนๆ  แต่จะทำก็จะไปโดนพวกทหารที่เคยอนุมัติ ก็เลยเกรงใจพวกข้าราชการ ก็คิดอยู่แบบนี้ ไม่กล้าทำอะไร  แล้วก็มาถามว่าแล้วคุณจะให้ทำอย่างไร ก็ในเมื่อคุณเป็นผู้นำก็ต้องตัดสินใจ

     ขณะที่เรื่องการใช้มาตรา 44 ที่ผ่านมา บางเรื่องก็พอใช้ได้เช่นการจัดการกับปัญหาผู้มีอิทธิพล การจัดการกับพวกข้าราชการ บางทีก็จำเป็นเพราะระบบราชการมีความยุ่งยาก แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กๆ  ก็น่าจะใช้วิธีอื่นได้ ก็อยู่ที่คนชงเรื่องไป แล้วบางทีไปเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ อันนี้ก็แย่ ผมว่าเขาไม่มีคณะที่ปรึกษาที่เป็นกลางมากพอ แล้วก็ไม่รู้จักฟังข้อมูลหลายทาง จะฟังแต่คนใกล้ชิด รองนายกฯ อะไรต่างๆ ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อน

     ผมนึกถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สมัยเป็นนายกฯ ก็มาจากทหาร ไม่ได้รู้อะไรมาก แต่ท่านรู้จักที่จะรับฟังคน และฟังหลายทางเช่นสภาพัฒน์ แล้วท่านก็ระมัดระวัง โครงการไหนที่ไม่แน่ใจว่าจะมีผลดีก็ไม่ทำ พวกโครงการใหญ่ๆ คือที่ผ่านมา คสช.เขาใช้ระบบทหาร ระบบข้าราชการประจำมาบริหารงาน ซึ่งก็พูดยากเพราะเขาเรียนเขาทำงานมาแบบนี้ ก็เลยเคยชินกับระบบแบบนี้

     รศ.วิทยากร วิเคราะห์ว่า เส้นทางของพลเอกประยุทธ์ทางการเมืองอาจจะลงการเมืองเพราะจะง่ายกว่า หากจะเข้ามาด้วยเส้นทางนายกฯ คนนอกจะยาก ก็ไปลงการเมือง เป็นปาร์ตี้ลิสต์อยู่อันดับต้นๆ เบอร์หนึ่ง โอกาสได้ก็มีอยู่แล้ว ก็มองว่าน่าจะมาทางนี้ เพราะหากมาด้วยนายกฯ คนนอกคนจะด่าเยอะ แล้วต้องใช้เสียงสนับสนุนในรัฐสภามาก แต่หลังจากนี้หากกลับเข้ามา ผมก็ว่าจะทำงานได้น้อยกว่าเดิม เพราะขนาดตอนนี้มีอำนาจมากมายยังปฏิรูปไม่ได้เลย แล้วหากมาเป็นนายกฯ ในระบบ ต้องเป็นรัฐบาลผสม ต้องเกรงใจคนกลุ่มต่างๆ ต้องดูเรื่องเสียงโหวตในรัฐสภาอีก ดูแล้วคงเหนื่อย

     ...ส่วนข่าวการตั้งพรรคการเมือง คงเป็นทหารกึ่งเทคโนแครต เพราะอย่างพวกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ก็คงไปหนุนให้พวกนี้ก็มีฐานทางเศรษฐกิจ พวกนักธุรกิจรายใหญ่ๆ ก็สนับสนุนเขา ก็อาจเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังคุมเสียง ส.ว.ชุดใหม่ 250 คนอีกด้วย อีกทั้งยังดึงคนมาได้ เพราะพวกพรรคการเมืองยังไงก็อยากร่วมรัฐบาล เห็นช่องไหนก็ไปร่วม

     “อย่างตอนนี้ก็เริ่มดูดเริ่มดึงคนมาได้ คนก็เริ่มดูทิศทางออกว่ามาทางนี้อาจจะง่ายกว่าที่จะไปทางทักษิณ หมดสมัยของทักษิณแล้ว เพราะผมก็มองว่าฝ่ายทักษิณเขาก็คงจะเริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว ทำให้ดูแล้วโอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ ก็เยอะมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์”

     เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่ให้พรรคใหญ่ชนะมาก โดยพรรคขนาดกลางๆ จะได้ ส.ส.มากขึ้น  ส่วนประชาธิปัตย์ดูแล้วก็คงลำบาก โอกาสจะชนะเลือกตั้งคงยาก นอกจากว่าเขาจับมือกันไปค้านพลเอกประยุทธ์ แต่จะไปจับมือกับเพื่อไทยก็จับยาก ซึ่งผมก็มองว่าพลเอกประยุทธ์คงอยากจะไปดึงประชาธิปัตย์มาเป็นพวกมากกว่า แล้วก็อาจเสนอให้อภิสิทธิ์มีตำแหน่ง เช่นประธานสภาฯ แบบนี้มีความเป็นไปได้มาก เพียงแต่ตอนนี้ประชาธิปัตย์ก็ต้องพูดไว้ก่อนว่าเขาไม่เอาทหารเพื่อหาเสียง แต่หลังเลือกตั้งก็อาจเป็นอีกอย่าง เช่นมีความจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลจึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ก็พูดอีกแบบได้

     คสช.คงมั่นใจว่าถึงตอนนั้นโอกาสจะชนะเลือกตั้งมีสูง ซึ่งผมก็มองว่าเขาก็มีโอกาสชนะ เพราะตอนนี้ก็มีการเดินสายออกต่างจังหวัด มีการออกนโยบายออกงบประมาณไปทำโครงการต่างๆ ช่วยเรื่องต่างๆ ที่ก็คือการหาเสียง แล้วก็ดูดจริงๆ เพราะนักการเมืองใครๆ ก็อยากเป็นรัฐบาล ยิ่งพรรคกลางๆ  เหมือนกันหมดไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน

      วกกลับมาขอความเห็นอีกครั้งว่า 4 ปี คสช.ถือว่าสอบผ่านหรือไม่ รศ.วิทยากร กล่าวว่า ก็ไม่น่าจะผ่าน แต่ต้องยอมรับความจริงว่าการเมืองเรามีคนจำกัด ก็มีคนเท่านี้ ซึ่งความจริงเขาก็อยู่นานเกินไป หากทำแบบสมัยก่อนรัฐประหารแล้วก็อยู่สักหนึ่งปี เป็นแบบรักษาการแล้วรีบปฏิรูป รีบจัดการเลือกตั้ง อย่างสมัยก่อนผมว่ายังดีกว่าที่ รสช.ทำรัฐประหารแล้วก็ให้อานันท์ ปันยารชุนมาเป็นนายกฯ แต่ คสช.เขายึดอำนาจเองแล้วมาเป็นนายกฯ มันถอยหลังเพราะทหารไม่เก่งอยู่แล้ว แต่ทหารเขาคิดว่าหากเอาพลเรือนมาเป็นนายกฯ แล้วเกรงจะคุมไม่ได้ จะเสียของ เลยขึ้นมาเป็นเองจะได้ไม่เสียของ ซึ่งไม่เสียของในความคิดของเขาคือกดทักษิณไม่ให้ขึ้นมาได้ นี่เป็นวิธีคิดของเขา เอาชนะทักษิณได้ก็พอใจแล้ว แต่เราคิดในแง่ประชาชนว่า คสช.ไม่ปฏิรูปเลย ทำน้อยมาก เลยเห็นว่าไม่ได้อะไรเท่าไหร่  แต่เราก็ไม่มีตัวเลือก

-หากให้คะแนน คสช.ก็คือสอบไม่ผ่าน?            

     ใช่ ผมว่าก็ก่ำกึ่งอาจประมาณ 50 จาก 100 คะแนน เกือบตกเกือบได้เพราะไม่มีตัวเลือก เวลาที่เหลืออยู่ตอนนี้ คสช.ผมว่าเขาน่าจะหาที่ปรึกษา ต้องฟังคนอื่นมากขึ้น คือไม่มีคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ชี้ปัญหาให้เขาเห็นมากพอ ที่ผ่านมาไม่มีคนกล้าวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นคนหัวก้าวหน้าวิจารณ์ให้เขาฟัง

ถามถึงที่มองว่าพลังของระบบทักษิณไม่แข็งแกร่งเหมือนอดีต ดูจากอะไร รศ.วิทยากร กล่าวว่าจะค่อยๆ อ่อนไป ตอนนี้คนยังมีความหวัง เช่นคนภาคอีสานที่ยังชอบทักษิณ แล้วหวังว่าทักษิณจะแก้ปัญหาได้ก็ยังมีอยู่ แต่คนก็จะค่อยๆ เปลี่ยน เช่นหากพลเอกประยุทธ์ให้อะไรเขามากขึ้น คนก็จะเริ่มเปลี่ยน คือคนต่างจังหวัดจะเชียร์รัฐบาล ใครเป็นรัฐบาลแล้วมาช่วยเขาได้เขาก็สนับสนุน ผมว่าเขาก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แต่ก็เป็นเรื่องของตัวคนด้วย เพื่อไทยเขาคุมท้องถิ่นได้ คนไทยเลือกตัวบุคคลเยอะ ถึงได้มีการดูดอดีต ส.ส.เป็นตัวบุคคล

-4 ปีรัฐประหาร คสช. ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรหรือไม่?

     เสียโอกาสที่จะปฏิรูป ประเทศอื่นเขาจะพยายามทำหลายอย่าง เช่นเวียดนามเขาก็ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการศึกษา หรือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียก็พยายามทำหลายอย่าง แต่ไทยเรายังย่ำเท้าอยู่กับที่ บริหารแบบระบบราชการไปวันๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าใด มองว่าหลังหมดยุค คสช.ก็ยังแย่เหมือนเดิม ก็ยังประคับประคองกันไปแบบนี้ รัฐสภาก็โต้กันไปมา รัฐบาลผสมก็ทำอะไรไม่ค่อยได้

     ...ก็ถือว่าได้น้อย จะบอกว่าไม่ได้อะไรเลยก็พูดยาก อย่างหนึ่งก็ได้ความสงบ ไม่ต้องมีการตีกัน แต่เรื่องการสร้างความปรองดองก็ไม่ได้ ไม่ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่ได้ปฏิรูปความคิดความอ่านคน ก็ทำแบบเชยๆ ไปเรียกร้องให้คนปรองดองกัน แล้วก็มีการจัดงานให้เสื้อเหลืองเสื้อแดงจับมือกัน แบบนั้นมันไม่ใช่ อาจต้องให้มีการมาเข้าค่ายทำสัมมนาถกเถียงกัน คือ คสช.ไม่เชื่อพลังประชาชน ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนทำกิจกรรมเพื่อมีความรู้มากขึ้น แต่มองด้วยระบบราชการจากบนลงล่างมากเกินไป ต้องจำแนกแยกแยะให้เป็นว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องของชาวบ้านโดยตรง ไม่ใช่เรื่องการเมืองเรื่องทักษิณทุกเรื่อง  ทหารยังทำเชยๆ ใครเคลื่อนไหวอะไรก็ไปจับกุม เช่นกลุ่มพีมูฟที่เขาเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินทำกิน ก็ไปสกัดไปหาว่าเขาเป็นเสื้อแดงเป็นพวกทักษิณ พวกโยงแบบขาวดำแบบสุดโต่งผมว่าแย่ อะไรก็โยงไปเรื่องการเมือง ตัวพลเอกประยุทธ์ช่วงหลังผมว่าเขาก็ฟังคนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ใครออกมาต่อต้านเขาก็ไปเหมาหมดว่าเป็นฝ่ายทักษิณ แต่ตอนหลังก็เริ่มแยกแยะ ผมว่าก็ต้องแบบนี้มองทีละประเด็น ถึงจะหาทางออกได้

-หลังเลือกตั้งเครือข่าย คสช.จะยังอยู่ในอำนาจการเมืองอีกหลายปี?

     ใช่ๆ อย่าง ส.ว.ที่อยู่ 5 ปี แล้วก็ตั้งคนไปคุมอะไรต่างๆ ป.ป.ช.อะไรต่างๆ ผมว่าแย่ แล้วจะตั้งคนไปคุมเลือกตั้ง

     ผมว่าเอาแต่พรรคพวกตัวเอง มันทำให้ระบบมันเฉื่อย ไม่คานอำนาจกัน ไม่ไปข้างหน้า ได้แต่ประคับประคองกันไป เป็นกึ่งราชการ อันนี้ผมว่าแย่แล้วต่อไปจะมีปัญหามากขึ้น คือ คสช.เขาคงหวังกันทักษิณ กลัวทักษิณจะกลับมา ก็เลยพยายามกัน แล้วต่อไปก็คงจะแปรรูป จะมีการจับมือกันระหว่าง คสช.กับกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มเทคโนแครต กลุ่มนักธุรกิจ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ไปได้ จะมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน”.

 

 

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

คนเขาถามว่า

รับเงินทักษิณ-เป็นเสื้อแดงหรือไม่?

        รศ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ที่มีวรรคทอง ฉันเยาว์ ฉันเขลา  ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว  ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค.16

     รศ.วิทยากร กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.มาแล้วหลายครั้งและนัดชุมนุมใหญ่ 22 พ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ คสช.จัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ปีนี้ โดยมองว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวดูแล้วเหลือน้อยคน แล้วเขาก็ทำสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้ คือการต่อต้านเผด็จการทหาร แต่แท็กติกที่ใช้ไม่ได้ผลเพราะคนก็มองว่าเป็นคนของฝ่ายทักษิณ เสื้อแดงหรือไม่  ตอนนี้มันลำบากไม่เหมือนสมัยก่อน อย่างในอดีตเช่นช่วงก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นธีรยุทธ บุญมี ผู้นำนักศึกษา เวลาเขาเคลื่อนไหวเขาทำโดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวเชิงชาตินิยม ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ค่อยๆ ดึงคนเข้ามา ค่อยๆ หาพรรคพวก ไม่ใช่ทำตัวเด่นแล้วโฉ่งฉ่าง แต่ก็อย่างว่าตอนนี้มันก็คนละยุคสมัย

     “สมัยก่อนไม่มีทักษิณ คนก็เชื่อว่านักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ แต่ตอนนี้คนไม่เชื่อ ถามว่าคุณรับเงินทักษิณมาหรือไม่ เป็นเสื้อแดงหรือเปล่า บางทีคุณก็พูดจาแบบเสื้อแดง เครดิตมันก็น้อยลง อันนี้ก็ลำบาก แล้วทีชาวบ้านเดือดร้อนก็ไม่เห็นไปช่วยชาวบ้านเลย คุณเอาแต่จะเลือกตั้ง  ชาวบ้านมีปัญหามาร้องเรียนอะไร นักศึกษาพวกคุณไม่เห็นไปช่วยเขาเลย ไม่สนใจ คือปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น"

     ...และตอนนี้นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ เป็นยุคบริโภค อยากทำงานหาเงินไปใช้สอย ที่สนใจก็มีแค่ส่วนน้อย พอส่วนน้อยก็เลยโฉ่งฉ่าง ไม่มีคนไปร่วมด้วย ไม่มีแนวร่วม จัดอะไรคนก็ไม่ไปร่วมด้วย  เพราะคนก็มองว่าทหารมาชั่วคราว ทหารมาแก้ปัญหาเรื่องทักษิณ ทหารจะมาช่วยเรื่องเศรษฐกิจเรื่องต่างๆ ได้ คนก็ยังมองแบบนี้เยอะ มันไม่เหมือนสมัยอย่างยุคจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่นานแล้วเศรษฐกิจก็แย่ พอนักศึกษาตอนนั้นออกมาคนก็เลยเชียร์หนุนนักศึกษามาก มีการไปซื้ออาหารซื้อของให้นักศึกษา ตอนนั้นคนหนุนมากเพราะสถานการณ์เวลานั้นพร้อม แต่เวลานี้สถานการณ์เป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะมีเหลืองมีแดง สถานการณ์ก็ทำให้ลำบาก คนก็เลยลังเลไม่อยากไปร่วม

     ...ส่วนที่มีการนัดชุมนุมกันวันที่ 22 พ.ค. ก็อาจมีคนจำนวนหนึ่งไปร่วมเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่ผมก็มองว่าทำอะไรตอนนี้ก็ลำบาก เพราะรัฐบาลก็ประกาศจะเลือกตั้งแล้วจะรีบร้อนไปถึงไหน แต่หากเขาประท้วงเป็นเรื่องๆ ไปจะดีกว่า เช่นเรื่องคอร์รัปชัน อะไรแบบนี้คนจะเห็นด้วย แต่หากมาแล้วบอกว่า "เลือกตั้ง เลือกตั้ง" คนก็จะบอกว่าก็จะเลือกตั้งต้นปีหน้าแล้ว จะรีบไปทำไม

     ...คือประเด็นมันห่างไกลปากท้อง แต่หากต่อไปการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในปีหน้า ตอนนั้นคนอาจมามาก ตอนนี้คนยังคาดหมายว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วจะเร่งรีบไปทำไม รอถึงต้นปีหน้าก็ได้ ก็เลยมองว่า คนจะไม่สนใจไปร่วมด้วยมากนัก มาเคลื่อนไหวก็ไม่มีแนวร่วม เพราะตอนนี้คนก็ห่วงเรื่องความรุนแรง  แต่ช่วงนี้ก็ยากแล้ว ทักษิณจะระดมคนอย่างไรก็ปลุกไม่ขึ้น ปลุกยาก บางคนก็บอกว่าอย่าเพิ่งเลือกตั้งเลย เลือกตั้งไปก็ได้นักการเมืองแบบเก่าอีก

     ขณะเดียวกันขบวนการนักศึกษาตอนนี้ผมว่าซบเซา กลายเป็นเรื่องคนส่วนน้อยแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจแม้แต่เรื่องสังคมแล้ว อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรก็ไม่สนใจ สนแต่เรื่องตัวเอง เป็นเรื่องบริโภคนิยม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"