บก.ปคบ.ติดต่อ "กาละแมร์" ไม่ได้ เปลี่ยนเป็นออกหมายเรียกมารับทราบข้อหาแทน 28 ม.ค.นี้ ด้านพิธีกรชื่อดังแจงผ่านไอจี อ้างไม่รอบคอบพร้อมขอโทษ สั่งระงับและลบโฆษณาแล้ว "กสทช.-อย." จับมือฟันโฆษณาเกินจริงให้สิ้นซาก เชือด "ถั่งเช่า" ใช้นักแสดงจัดฉากลวงโลก อ้างสรรพคุณสารพัด ชงบอร์ด กสทช.ปรับทีวีดาวเทียม-อย.ดำเนินคดีพรีเซนเตอร์ พร้อมเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณา นอกจากเสียเงินแล้วยังทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลง
มีความคืบหน้ากรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรณี น.ส.พัชรศรี เบญจมาศ หรือกาละแมร์ พิธีกรชื่อดัง โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของตัวเอง อวดอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วยกหน้า ตาหายตกเหมือนทำตาสองชั้น ดั้งโด่ง เหนียงหาย ฯลฯ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ และเคยถูกดำเนินมาก่อนหน้านี้ 7 คดี ในข้อหาโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตและโฆษณาโอ้อวดเกินจริงมาแล้ว
เมื่อวันที่ 20 มกราคม พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ประสาน น.ส.พัชรศรี ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เข้าพบพนักงานสอบสวนภายในสัปดาห์นี้ ตามที่ พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. ได้แถลงแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 มกราคม ว่าจะให้เจ้าตัวเข้าพบพนักงานสอบสวนภายในสัปดาห์นี้ แต่เมื่อโทรศัทพ์มือถือปลายหา น.ส.พัชรศรี ไม่รับสายและไม่โทร.กลับ ติดต่อไม่ได้
พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ไปตามที่อยู่ นัดหมายให้ น.ส.พัชรศรีเข้าพบในวันพฤหัสฯ ที่ 28 ม.ค.64 เวลา 11.30 น. เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท และข้อหาโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 41 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ขณะที่ น.ส.พัชรศรี เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน บริษัท พาวเวอร์ชอต ได้โพสต์ไอจีมีข้อความว่า จากกระแสที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของการโฆษณาหรือโปรโมตผลิตภัณฑ์ Botera แมร์ขอใช้พื้นที่นี้ชี้แจงว่า คลิปโปรโมตดังกล่าวได้ตัดมาจากเนื้อหาที่แมร์ไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับและลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ โดยชวนกันมาพูดคุยถึงประสบการณ์จริงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งแมร์ได้เล่าถึงประสบการณ์จริงและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับแมร์ โดยไม่ได้ระวังในความไม่เหมาะสมของเนื้อหา และหลังจากนั้นทีมงานก็ได้นำเนื้อหาบางส่วนจากการไลฟ์มาตัดเป็นคลิปวิดีโอเพื่อใช้โปรโมตทางโซเชียลมีเดียจนเกิดกระแสดังกล่าว
"ซึ่งทันทีที่แมร์ได้ทราบถึงกระแสที่เกิดขึ้น แมร์ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้สั่งระงับและลบโฆษณาชิ้นนี้ทันที และขอย้ำอีกครั้งว่าผลลัพธ์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล สุดท้ายนี้แมร์และทีมงานพาวเวอร์ชอตทุกคนขออภัยอย่างสูงในความไม่รอบคอบในครั้งนี้” น.ส.พัชรศรีระบุ
วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงเรื่อง การกำกับดูแลการโฆษณาเกินจริงกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่า โดย พล.ท.ดร.พีระพงษ์กล่าวว่า บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี ซึ่งจัดฉากการโฆษณาลวงโลก เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคนั้น โดนจับ ปราบ ส่งดำเนินคดีจนเข็ดหลาบ และได้เลิกการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว การจัดฉากโฆษณาลวงโลกในลักษณะดังกล่าวได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
"โดยผู้โฆษณารายใหม่คือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่า ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าวสามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดงแสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้วกลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราจะจับมือกับ อย.ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก"
กรรมการ กสทช.กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ลงโทษ โดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาทไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 รายที่เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และจะส่งเรื่องไปยัง อย.เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรากล่าวว่า ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย.จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ตามกฎหมายที่ อย.รับผิดชอบ ส่วน กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช.รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย.ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช.ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง
"ผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อนำเสนอภาพหรือคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง" รองเลขาธิการ อย.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |