วันนี้ - นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.อนรรฆ พัฒนพิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS Thailand) นางสาวดวงกมล วงศ์วรจรรย์ องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF Thailand) ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่านายสัตวแพทย์ เบญจรงค์ สังขรักษ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมแถลงข่าว “กรณีพลายดื้อ ทำร้ายนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรณีเหตุการณ์ที่ช้างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเสียชีวิตบริเวณลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอแสดงความเสียใจผู้เสียชีวิต และครอบครัวผู้เสียในครั้งนี้เป็นอย่างสูง ปัจจุบันช้างป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ มีประมาณ 551 ตัว อยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 250 ตัวอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา 251 ตัว อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ 50 ตัว สำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่าบริเวณลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น ช้างป่าจะมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูหนาว คือ เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยช้างป่าจะเข้ามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่ลูกหวายสุก และแตกยอดใหม่ โดยมากจะพบช้างป่าใช้เส้นทางบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นที่ 2 (ผากล้วยไม้ –น้ำตกเหวสุวัต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่ช้างตกมันและมักพบว่ามีช้างป่ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ทางกรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงได้มีการออกประกาศปิดให้บริการพักค้างแรมบริเวณลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ และลำตะคองเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 15 มกราคม เป็นต้นไป จนกว่าจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวจากสัตว์ป่า ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จองเข้าพักลานกางเต็นท์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า สามารถติดต่อขอคืนเงินได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-6666 ต่อ 1743 , 1744 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 08-6092-6529
รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่า (พลายดื้อ) เป็นโครงการศึกษาการติดตามการเคลื่อนที่ของช้างป่าโดยปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเป็นแบบเรียลไทม์ จะระบุตำแหน่งของช้างป่า ณ เวลานั้นๆ ได้เพียงไม่กี่วินาที หลังปลอกคอบันทึกตำแหน่งพิกัดและส่งข้อมูลผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมมาอย่างผู้รับ ทำให้ติดตามช้างป่าที่ติดปลอกคอได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวนี้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อสนับสนุนทั้งงานวิจัยและการจัดการช้างป่า โดยสัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียมและส่งสัญญาณมายังภาคพื้นดิน ผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้ทราบพิกัดที่แม่นยำสามารถติดตามพฤติกรรมของช้างป่า เช่น พื้นที่หากิน เส้นทางการเดินของช้างป่าเพื่อนำไปสู่ การป้องกัน และเฝ้าระวังช้างป่ารวมถึงการฟื้นฟูถิ่นอาศัยในพื้นที่ป่าธรรมชาติ
นายสัตวแพทย์ เบญจรงค์ สังขรักษ์ สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า การติดปลอกคอช้างป่านั้น ใช้การติดปลอกคอที่เป็นระบบมาตรฐานสากลที่มีใช้กันทั่วโลก โดยจะมีการตรวจหาตัวสัตว์ที่จะทำการติดปลอกคอก่อน จากนั้นจะทำการยิงยาซึม โดยช้างจะไม่ล้มลงเมื่อได้รับยา เมื่อผ่านไปสักระยะ เมื่อช้างเริ่มมีเสียงกรน เจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปดำเนินการติดปลอกคอ ทั้งนี้ การติดปลอกคอจะต้องมีการตรวจสุขภาพของสัตว์ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการดำเนินการติดปลอกคอ เมื่อดำเนินการเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะให้ยาแก้แก่ช้าง ประมาณ 4-5 นาที ช้างก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์ติดตามช้างป่า(collar) มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2561 มีเป้าหมายในการติดปลอกคอทั้งหมด 67 ตัว ปัจจุบันมีการดำเนินติดมาแล้ว 11 ตัว ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จำนวน 1 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน (พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) จำนวน 7 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จำนวน 1 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จำนวน 1 ตัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จำนวน 1 ตัว ซึ่งอุปกรณ์ติดตามสัตว์มีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม คือ ไม่เกิน 0.2 % ของน้ำหนักตัว จึงไม่มีผลต่อพฤติกรรมของสัตว์ สำหรับช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมเรียนรู้ได้เร็ว ช้างบางตัวอาจรู้สึกมีสิ่งแปลกปลอม แต่จะใช้ระยะเวลา 3 - 4 วัน จะคุ้นชิน เนื่องจากขนาดของปลอกคอมีน้ำหนักเบา ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ เพื่อใช้ติดตามพฤติกรรม คำนวณการใช้พื้นที่และการอพยพของช้างป่า ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้เพื่อนำไปวิเคราะห์แนวทางในการรักษาความเชื่อมต่อของผืนป่าเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น และเป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างอีกด้วย
นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่ป่าเขาใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ พฤติกรรมช้างป่าเขาใหญ่จะมีการเปลี่ยนในช่วงปลายฝนต้นหนาว ส่วนอาการตกมันจะมีในช่วงที่ช้างมีความสมบูรณ์มาก เมื่อช้างตกมันจะมีอาการขมับบวม และจะปวดขมับ ช้างจะรักษาตัวเองโดยการกินพืชสมุนไพรในป่า แต่ในกรณีที่ฮอร์โมนสูงขึ้น อาจมีน้ำมันไหลออกมาและไหลเข้าปาก ทำให้ช้างเมา ช้างจะมีอารมณ์ปรวนแปรมาก ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติได้มีมาตรการต่าง ๆ เมื่อเจอช้างป่า เช่น การเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 50 เมตร เพราะปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมช้าง ซึ่งช้างป่าตกมัน ไม่น่ากลัวเท่าช้างตกใจ
นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในจุดกางเต็นท์ ทางอุทยานฯ จะมีการติดตั้งแนววงจนสวิตซ์ โดยใช้เส้นเอ็น โยงกับสวิตซ์เพื่อเปิด-ปิดระบบ เมื่อมีสัตว์เข้ามาในพื้นที่ สวิตซ์จะเปิดและมีสัญญาณแจ้งเตือน เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าไปดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด จึงความร่วมมือนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างเคร่งครัด ต่อไป