เคาะซักฟอก5วัน พท.กั๊กเชือดป้อม


เพิ่มเพื่อน    

 

ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก 25 ม.ค. วิปรัฐบาลล็อกวันทำศึกให้สี่วัน 16-19 ก.พ. ลงมติเสาร์ที่ 20 ก.พ. พปชร.เก็งข้อสอบ รมต.พรรคโดนจองกฐิน 5 คน "บิ๊กตู่" หยันฝ่ายแค้นคนเบื่อเต็มทีแล้ว เพื่อไทยยังกั๊ก "บิ๊กป้อม"  หลุดโผหรือไม่ "สิระ" ยื่น กกต.ยุบ พท. อ้างคนในพรรคหนุนเพราะอยากย้ายออกเต็มทน
     การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังวิปรัฐบาลเคาะปฏิทินการเมืองดังกล่าวออกมาแล้ว
     โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายเมื่อใด ถ้ายื่นในวันที่ 25 ม.ค. คาดว่า ครม.จะจัดการอภิปรายได้ในช่วงกลางเดือน ก.พ. โดยวิปรัฐบาลได้เสนอช่วงเวลาอภิปราย 4 วันไปให้ ครม.พิจารณา  ได้แก่ ช่วงวันที่ 16-19 ก.พ. เป็นเวลา 4 วัน รวมกับวันลงมติ วันที่ 20 ก.พ.อีก 1 วัน รวมทั้งหมด 5 วัน หากฝ่ายค้านอยากได้เวลา 7 วันคงต้องคุยกัน แต่คงเป็นไปได้ยาก เวลา 5 วันถือว่ามากแล้ว ถ้ามีไฮไลต์อะไรก็ให้อภิปรายตั้งแต่วันแรกๆ  ไม่ใช่เอาแต่น้ำก่อนส่วนเนื้อไว้ทีหลัง
     นายวิรัชกล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  รัฐสภาจะนำเข้าพิจารณาวาระ 2 ได้ช่วงวันที่ 24-25 ก.พ.  จากนั้นจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ. จึงคาดว่ากลางเดือน มี.ค.จะเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาลงมติร่างแก้ไข รธน.ในวาระ 3 รวมถึงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติด้วย  แต่คงใช้เวลาเปิดประชมสมัยวิสามัญไม่นาน
    ขณะที่ท่าทีจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล  พบว่าวันเดียวกันนี้ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอนุชา  นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม  และรองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังจากงดประชุมไปนานกว่า 2 สัปดาห์ ในวันที่ 20-22 ม.ค.นี้
     นายวิรัชกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคาดว่าจะมีรัฐมนตรีในสังกัดพรรค พปชร.ถูกอภิปรายมากที่สุดไม่น้อยกว่า 5 คน รวม พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมด้วย ที่เบื้องต้นได้วางกรอบเวลาไว้ 4 วัน คือ 16-19 ก.พ.นี้ และลงมติในวันเสาร์ที่ 20 ก.พ.นี้ จึงขอให้ ส.ส.ทุกคนเตรียมความพร้อมสู้ศึกอภิปราย
     ประเด็นดังกล่าวมีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 19 ม.ค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ว่านายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานเรื่องผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ที่พบว่าประชาชนพึงพอใจมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ในฐานะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประสานกับวิปรัฐบาล รายงานเรื่องที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า จะมีการอภิปรายระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.และลงมติในวันที่ 20 ก.พ. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรารภถึงฝ่ายค้านตอนหนึ่งว่า "อยากให้ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ พัฒนาหน่อย คนเบื่อเต็มทีแล้ว"
     ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกวุฒิสภา และเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 ของ พล.อ.ประวิตร เตรียมไปตั้งพรรคการเมืองว่า "ไม่รู้"
     ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวไม่มีชื่อ พล.อ.ประวิตรในการอภิปรายไม่วางใจ ว่าได้ไปพูดคุยกับฝ่ายค้านไว้ก่อนหรือไม่  โดย พล.อ.ประวิตรตอบว่า "ไม่รู้ ไม่ได้คุย"
พท.ไม่ชัดล็อกเป้าบิ๊กป้อม
     ด้านฝ่ายค้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แกนนำหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยมีปัญหาแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย เป็นสาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สายนายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ สายคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมทั้งตนเองไปกีดกันไม่เชิญ ส.ส.พรรคเพื่อไทยคนละสายมาร่วมประชุมเมื่อ 15 ม.ค.เพื่อเตรียมตัวทำศึกอภิปรายว่า มีการเชิญฝ่ายต่างๆ มาประชุมจริง แต่พรรคได้เลื่อนการประชุมออกไป เนื่องจากติดงานศพ ไม่ได้มีสาเหตุอะไรเลยที่จะขัดแย้งกัน  พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันทำงาน เตรียมความพร้อมอภิปรายตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนจะมีรายชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หรือไม่นั้น  ต้องบอกว่าการอภิปรายครั้งนี้อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก เพราะเกี่ยวทั้งด้านโควิด-19, ความมั่นคง และหากไปเกี่ยวถึงรัฐมนตรีคนไหนก็อภิปรายหมดไม่มียกเว้น อยู่ที่ข้อมูล
     "ขอบอกว่าอภิปรายครั้งนี้มีเซอร์ไพรส์ รัฐมนตรีที่คิดว่าไม่น่าจะโดนก็จะโดนด้วย โดยมีข้อมูลที่หนักแน่น วันอาทิตย์ที่ 24 ม.ค. เวลา 10.00 น.จะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 25 ม.ค. ซึ่งตอนนี้คืบหน้า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป การอภิปรายต้องทำเป็นความลับ  คงไม่มีใครบอกข้อสอบล่วงหน้า" นายยุทธพงศ์กล่าว
     นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองสายคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกระแสข่าว ส.ส.เพื่อไทยในกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์อาจไม่ร่วมอภิปรายด้วยว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนว่าจะให้ใครเป็นผู้อภิปราย ประเด็นอะไร ที่ผ่านมาเป็นการหารือกันกว้างๆ ข่าวที่ออกมาจึงไม่ใช่ปัญหา
    เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้จะมีชื่อของนายสุทินและ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านร่วมอภิปรายหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า อยู่ที่ประเด็นและข้อหาที่จะหยิบยกขึ้นมา ซึ่งพรรคมีคณะกรรมการกลั่นกรองอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอภิปรายได้เหมือนกัน  ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาว่าเป็นใครหรือกลุ่มไหน ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีใครที่ไม่ได้อภิปราย ทุกคนมีโอกาสเท่าๆ กัน โดยเฉพาะคนที่เคยได้อภิปรายมาแล้ว เชื่อว่าพรรคยังเห็นความสำคัญและยังอยากให้อภิปรายอยู่ เว้นแต่ว่าข้อมูลไม่พร้อมหรือเจ้าตัวไม่พร้อมจริงๆ ทีมงานการอภิปรายในวันนี้ยังเป็นทีมงานเดิมชุดเดิม ซึ่งตนเองก็มีประเด็นที่จะอภิปรายเยอะ แต่จะถูกจำกัดให้ตนเป็นคนสรุปหรือไม่ยังไม่ทราบ แต่ได้แสดงเจตนาไปแล้วว่าใครสรุปก็ได้
     ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวด้วยว่า เรื่องการจัดการเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยอมรับว่าการประสานงานในการอภิปรายครั้งที่ผ่านมาไม่เข้าขากันเท่าที่ควร และการบริหารเวลาผิดพลาดในบางจุดบางคนเท่านั้น จึงทำให้การจัดการยาก ซึ่งทุกคนก็เข้าใจในข้อจำกัด และการอภิปรายครั้งนี้เราระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น จึงคิดว่าการบริหารเวลาไม่มีปัญหาแบบเดิม ส่วนกระทบกับตำแหน่งประธานวิปฝ่ายค้านก็อาจจะเป็นไปได้หลายสาเหตุ แต่เชื่อว่าวันนี้ไม่มีอะไรเป็นเหตุให้เปลี่ยนตัวประธาน เว้นแต่ครั้งหน้าอาจจะเป็นไปได้ เพราะเราทำงานมาก็อาจจะผิดพลาดได้ ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ ยืนยันเท่าที่อยู่มาทุกวันนี้ยังทำงานได้และสบายใจอยู่
     ถามถึงกระแสข่าวชื่อของ พล.อ.ประวิตรไม่มีในลิสต์ที่จะถูกพรรคเพื่อไทยอภิปราย แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นจะอภิปรายแทน นายสุทินกล่าวว่า ถ้าพรรคอื่นอยากอภิปรายก็อภิปรายได้อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ข้อมูล เราไม่มีการจำกัดกัน โดยในวันที่ 20 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะประชุมกลั่นกรองอีกรอบหนึ่ง จากนั้นวันที่ 22 ม.ค.ช่วงเย็นพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมาประชุมร่วมกันเพื่อสรุปประเด็น ดังนั้นชื่อใครก็แล้วแต่มีโอกาสถูกอภิปรายทั้งนั้น ยังไม่ได้ตัดชื่อออก
     เช่นเดียวกับนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์  กล่าวถึงกระแสข่าว ส.ส.กลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์จะไม่ได้ร่วมอภิปรายในศึกซักฟอกครั้งนี้ว่า ทุกคนก็เป็นคนของพรรคเพื่อไทย อย่าคิดว่าเป็นคนของคนนั้นคนนี้ พรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนหัวหน้าพรรค เปลี่ยนเลขาฯ พรรคมาไม่รู้กี่คน หากคิดเช่นนั้นก็จะทำให้เสียกำลังใจฝ่ายค้านด้วยกัน ในฐานะที่ได้อภิปรายทุกครั้งยังมั่นใจว่า ข้อมูลที่จะนำเสนอหากจัดลำดับเป็นพีระมิดตนจะอยู่กลางๆ ถึงหัวที่จะได้รับโอกาสอภิปราย แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรค เบื้องต้นคาดว่าสำหรับพรรคจะมี ส.ส.ที่อภิปรายประมาณ 10 คน ซึ่งปัญหาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินและการทุจริต ช่วยเหลือพวกพ้อง เชื่อว่าสังคมเคยเห็นและรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว และต้องพึ่ง ส.ส.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
สิระเอาคืนยื่นยุบเพื่อไทย
     ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสิระ  เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกระทำการเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92  (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. พรรคเพื่อไทยมีแถลงการณ์ว่าพรรคมีมติให้ ส.ส.ของพรรคร่วมลงชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนเองขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และขู่ว่าหาก ส.ส.ไม่ดำเนินการพรรคจะมีมาตรการลงโทษ ซึ่งต่อมามี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยร่วมลงชื่อกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จำนวน 104 คน จึงเห็นว่าการร่วมลงชื่อดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114  ที่กำหนดว่า ส.ส.ต้องไม่อยู่ในอาณัติ มอบหมาย หรือควบคุมบังคับใดๆ แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการบังคับ ส.ส.ให้ลงชื่อและควบคุมการทำงานของ ส.ส.ไม่ให้ใช้สิทธิ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
     นายสิระกล่าวด้วยว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องมายื่นคือ มีเพื่อน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยขอให้ตนมาร้องต่อ กกต.เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้มีอิสรภาพ เพราะอยากออกจากพรรคเพื่อไทย หากมีการยุบพรรคก็จะได้ไปหาพรรคอื่นสังกัดได้ จึงต้องการให้ กกต.ตรวจสอบว่ามติดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หากเป็นมติพรรคจริงก็ขอให้ยื่นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรค เพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"