นานาทัศนะตั้งกก.สมานฉันท์ ลดความขัดแย้งต้องจริงจังจริงใจ


เพิ่มเพื่อน    

            คณะกรรมการสมานฉันท์ประเดิมประชุมกันเป็นครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา และเลือกให้ “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ และในการประชุมครั้งต่อไปจะมีการประชุมเพื่อกำหนดว่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คนจะประกอบด้วยใครบ้าง

            อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ได้รับคำปรามาสตั้งแต่ที่ยังไม่มีการประชุม ว่าสมานฉันท์ไม่สำเร็จแน่นอน เหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา เพราะขณะนี้มีเพียงแค่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนักวิชาการ ส่วนฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมไม่ได้เข้าร่วม เสมือนเป็นการตบมือข้างเดียวแล้วจะสมานฉันท์อย่างไร

            ในทัศนะของ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา บอกไว้หลายต่อหลายครั้งว่า ไม่ได้คาดหวังจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ และคิดว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย การสมานฉันท์ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชน

            ส่วนที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าสัดส่วนคณะกรรมการของฝ่ายค้านเป็นธรรมนั้น นายชวนกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าลงมติใครแพ้ ใครชนะ แต่เป็นการระดมความคิดเพื่อลดความขัดแย้งในบ้านเมือง ดังนั้น ฝ่ายค้านหรือผู้ชุมนุมจะเข้ามาเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้

            ขณะที่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เคยระบุไว้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีความขัดแย้งรุนแรงกว่าทุกครั้ง ทั้งในแง่การต่อสู้ รูปแบบทางความคิด มีการแสดงออกที่ใครก็คาดไม่ถึง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว

                “ท่านชวนคงตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงพยายามทำอะไรสักอย่างให้ได้ แต่ตั้งกรรมการขึ้นมาแล้วไม่ใช่ความปรองดองจะเกิดทันที แต่ทำได้บ้างบางส่วน ดีกว่าไม่ได้ทำ ตรงนี้สำคัญ”

            นายบัญญัติ ยังกล่าวด้วยว่า บางครั้งที่ฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมไม่ร่วม เพราะไม่แน่ใจว่าซื้อเวลาหรือเปล่า ผู้มีอำนาจรัฐ กลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ๆ ของประเทศ ถ้าตระหนักและช่วยลดอำนาจ ความได้เปรียบที่มีลงมาบ้าง ความร่วมมือก็น่าจะเกิดขึ้น เรื่องนี้ที่สามารถทำได้คือ แสดงความจริงใจ และมีผลต่อการสมานฉันท์ด้วย คือยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็น 2 ใน 12 ข้อ นโยบายเร่งด่วนอยู่แล้ว ต้องแสดงออกมาเลยว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ อุณหภูมิการเมืองลดลงได้แน่นอน หันหน้าเข้าหากัน แก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสมานฉันท์ก็ได้

            วนกลับมาที่ “ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์” โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชื่นชม “เทอดพงษ์” ว่าเหมาะสม เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติมายาวนาน ผ่านสถานการณ์บ้านเมืองมาหลายยุค ทั้งยามปกติและวิกฤติ ประกอบกับเป็นผู้มีบุคลิกภาพประนีประนอม จึงเชื่อว่าจะร่วมกับคณะกรรมการช่วยหาทางออกให้กับประเทศต่อไปได้หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

                “ขณะนี้ก็ถือได้ว่าสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็เกิดขึ้นได้จริงแล้ว และมีความคืบหน้าไปแล้วระดับหนึ่ง แม้บางฝ่ายยังไม่เข้าร่วม แต่ก็ถือว่าอย่างน้อยประเทศก็มีเวทีที่เปิดให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปนั่งจับเข่าคุย เพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศเกิดขึ้นได้อย่างเป็นทางการแล้ว และตนอยากเห็นทุกฝ่ายเข้าร่วมใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อไป”

            นี่คือเสียงจากพรรคที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

            อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะได้ยินเสมอว่าความปรองดองจะประสบความสำเร็จ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งอยู่ในบรรยากาศที่ต้องการจะสมานฉันท์

            แต่ถ้าพิจารณาดูจากสถานการณ์ในตอนนี้ก็จะเห็นว่า นอกจากไม่มีฝ่ายใดจริงใจจะปรองดองแล้ว ยังพบด้วยว่าแต่ละฝ่ายยังมีทิฐิต่อกัน และไม่มีฝ่ายใดยอมถอยอย่างแท้จริง

            ที่สำคัญต้องยอมรับว่าประเด็นความขัดแย้งของเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็มีปมใหม่เข้ามาเพิ่มอีก โดยไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันด้วยเหตุและผล ในทางกลับกัน การโต้ตอบล้วนเต็มไปด้วยวาทกรรมและอารมณ์ รวมถึงการบิดเบือนการพูดความจริงไม่ครบผ่านโซเชียลมีเดีย

                ด้วยเหตุนี้ลองพินิจแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเจอประตูปรองดองสมานฉันท์ในอนาคตหรือไม่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"