กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวกรุงเทพฯ และพี่น้องชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ปริมณฑลในช่วงวิกฤติโควิด เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย ไม่เกิน 158 บาท ก่อนมาปรับลดเหลือ 104 บาท โดยมีผลวันที่ 16 ก.พ.นี้
เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลโดย ครม.เห็นชอบให้ กทม.ต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แก่บริษัทบีทีเอสไปอีก 30 ปี ระหว่างปี 2572-2562 เพื่อแลกกับค่าโดยสารตลอดสาย ไม่เกิน 65 บาท พร้อมด้วยการยกหนี้สินต่างๆ และหนี้การว่าจ้างเดินรถที่มีต่อบีทีเอสประมาณ 9 พันล้านบาท ที่ กทม.บอกว่าไม่มีเงิน จริงหรือไม่
หลังจากที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ระบุว่าสถานะทางการเงินของ กทม.ในการรายงานของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สิ้นเดือน ก.ย.2562 มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันสูงสุดถึง 53,568 ล้านบาท แล้วไฉน กทม.จึงบอกถังแตกไม่มีเงินจ่ายหนี้
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศราคาค่าโดยสารใหม่ของ กทม. คือเก็บไม่เกิน 104 บาท เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกว่าทัวร์ลง กทม.และผู้ว่าฯ กทม.ทุกทั่วสารทิศทันที พร้อมข้อสังเกตจากฝ่ายการเมืองออกมามากมาย เพื่อหวังกดดันให้รัฐบาลอนุมัติการให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นเวลา 30 ปีใช่หรือไม่
เริ่มที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ กมธ.การคมนาคม สภาฯ ตั้งข้อสังเกตว่า สภาผู้แทนฯ เคยพิจารณาประเด็นนี้แล้ว และกรรมาธิการเสียงข้างมาก ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน 30 ปี แต่ล่าสุด กทม.ยังดึงดันจะขยายสัมปทาน โดยใช้ผลการมุบมิบเจรจาตามมาตรา 44 โดยออกมาขู่ประชาชนว่าหากไม่ขยายก็จะแพงอย่างนี้ หากยอมขยายก็จะลดเหลือ 65 บาทตลอดสาย นี่คือจับประชาชนเป็นตัวประกันชัดๆ
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาดักคอว่า เป็นเพราะแบบนี้ใช่ไหมครับ เลยต้องเร่งประกาศค่าโดยสารใหม่ 104 บาท ให้คนกรุงเทพฯ ออกมาบ่นให้หนัก กดดันรัฐบาลให้ต้องขยายสัมปทานตามที่ต้องการ
"จึงอดสงสัยไม่ได้ว่านี่มันเป็นเกมตบตาประชาชนหรือหวังฮุบสัมปทาน 30 ปีกันแน่ส่วน กทม.จะเดินเกมเดี่ยว หรือแบ่งงานกันทำ เล่นคนละหน้ากับ ครม.เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมประโยชน์ทั้งคู่หรือไม่ อันนี้ไม่กล้าฟันธง แต่ที่เห็นชัดคือประชาชนเดือดร้อน ไม่ขยายสัมปทานก็ต้องจ่ายแพง ขยายสัมปทาน ผลประโยชน์รัฐที่เป็นของประชาชนทุกคนก็จะถูกย้ายกระเป๋าไปอยู่ในมือของเอกชน กลายเป็นเหยื่อทั้งขึ้นทั้งล่อง"
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และอดีต รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท เป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ เคยขอให้ กทม.ชี้แจงที่มาของการคำนวณราคาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนบัดนี้ยังไม่ได้รับข้อมูล แต่กลับออกประกาศจะขึ้นราคา 104 บาท โดยในวันที่ 21 ม.ค. จะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มารับฟังและเพื่อคัดค้านการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม และแจ้งเรื่องการคัดค้านดังกล่าวไปยังรัฐบาล เพื่อสั่งให้ยุติวิกฤติความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด
ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้จังหวะตีปี๊บทันที โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นในวันที่ 25 ม.ค.ในตอนหนึ่งว่า การอภิปรายครั้งนี้เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวยิ่งเข้มข้นขึ้น เพราะแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปี โดยไม่เปิดประมูลใหม่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน
"การอภิปรายครั้งนี้จะโยงไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ลงนามใน พ.ร.บ.ร่วมทุน ฝ่ายค้านมีหมัดเด็ด หลังการอภิปรายจะทำให้มีคนต้องไปศาลรัฐธรรมนูญต่ออีก และเชื่อว่ากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว พรรคภูมิใจไทยจะยกมือให้ฝ่ายค้านด้วย” นายยุทธพงศ์กล่าว
ความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐกันเอง ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ต้องทุบโต๊ะ ก่อนที่ กทม.จะขึ้นราคาค่าโดยสาร 104 บาท ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ และยุติปัญหาคาราคาซังเรื่องสายสีเขียวเสียที มิใช่ปล่อยให้ชาวบ้านถูกซ้ำเติมความเดือดร้อนที่กำลังผจญกับวิกฤติโควิด ท่ามกลางข้อสงสัยว่าประชาชนถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างใช่หรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |