ก่อนหน้านี้มีกระแสตามหาปลาส้มโด่งดังมากจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์รัวๆ อยู่หลายวัน ผู้ใหญ่หลายคนแอบเข้าใจว่าวัยรุ่นสมัยนี้หันมากินปลาส้มแบบไทยๆ (ชนิดปลาที่มีการนำไปหมักดองยัดด้วยข้าวในท้องปลา มีรสชาติเปรี้ยว เค็ม) กันมากขึ้น แต่ที่ไหนได้ ปลาส้มที่เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ตามหากันก็คือ ปลาแซลมอน หรือปลาสีส้มที่มักจะนิยมมาทานกันในร้านอาหารญี่ปุ่น ไม่ว่าจะทานดิบ หรือผ่านกรรมวิธีต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการอาหารสมัยนี้
จากเดิมที่ปลาแซลมอนจะอยู่เพียงในร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันด้วยความนิยมและการหาซื้อที่ง่ายขึ้น ทำให้ปลาชนิดนี้กระจายอยู่ในเกือบทุกเมนูอาหาร ไม่ว่าจะร้านอาหารไทย ร้านสตรีทฟู้ด ฟาสต์ฟู้ด หรือแม้แต่ร้านอาหารอีสานบ้านเรา ก็มักจะหยิบยกเมนูปลา (สี) ส้มนี้ไปผสมรวมกับรสชาติที่จัดจ้านอย่างยำ ส้มตำ หรือต้มแซ่บได้แบบลงตัว สร้างความแปลกใหม่ให้กับอาหารอย่างมากขึ้น จึงทำให้ปลาแซลมอนยิ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในอาหารทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้ออกมายืนยันอีกหนึ่งเสียงถึงความนิยมของอาหารทะเลอย่างปลาแซลมอน ว่ามีอัตราการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายอัสบีเยิร์น วาร์วิก เรอร์ตเว็ต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ NSC กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่แน่นอนที่สุดของโลกมาแล้ว และยังคงความเป็นผู้นำในตลาดอาหารทะเลไทยไว้ได้ โดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรด้านธุรกิจ เพื่อปรับตัวและคิดค้นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้แซลมอนนอร์เวย์ยังเป็นที่ต้องการและเป็นวัตถุดิบยอดนิยมตลอดกาลของคนไทย แม้เทรนด์การบริโภคอาหารจะเปลี่ยนเป็นการทำที่บ้านและสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดนิ่ง แต่สำหรับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์กลับรายงานตัวเลขรวมการส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ที่เป็นที่น่าพอใจ ด้วยปริมาณ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% นับเป็นมูลค่ากว่า 377,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดการส่งออกอาหารทะเลที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองในรอบหลายปี และมีอัตราลดลงจากปีก่อนเพียง 1% เท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขนำเข้าปลายอดนิยมของคนไทยอย่างแซลมอนนอร์เวย์มีปริมาณลดลง 1% เช่นกัน อยู่ที่ 16,771 ตัน มูลค่า 3,650 ล้านบาท
ด้านตัวเลขปริมาณการนำเข้าอาหารทะเลสดและแช่แข็งโดยรวมของปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในตลาดไทยปี 63 มีอัตราลดลงเล็กน้อย โดยแซลมอนอยู่ที่ 14,083 ตัน ลดลง 10% ฟยอร์ดเทราต์ 4,903 ตัน ลดลง 12% และแมคเคอเรล 8,873 ตัน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งนับว่ามีอัตราการลดลงที่ต่ำมากเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมของตลาดและเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับตัวเลขปริมาณการส่งออกอาหารทะเลนอร์เวย์ทั่วโลกอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2% มีมูลค่าอยู่ที่ 377,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับมื้ออาหาร 37 ล้านมื้อต่อวัน หรือ 25,000 มื้อต่อนาที
แม้เทรนด์ของอาหารทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 63 แต่แนวทางต่างๆ ที่ออกมารองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในปัจจุบัน ทำให้อาหารทะเลนอร์เวย์ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น และปัจจัยหลักๆ ที่สนับสนุนทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ค่าเงินโครนนอร์เวย์ที่อ่อนตัวลง 2.ความสามารถในการปรับตัวที่ฉับไวของอุตสาหกรรม 3.ปลาบางสายพันธุ์ที่มีอัตราการเติบโตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แมคเคอเรลและแฮร์ริง 4.ตัวเลขการส่งออกแซลมอนที่สูงเป็นอันดับสองในรอบหลายปี และ 5.ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของอาหารทะเลนอร์เวย์ในตลาดโลก
มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ช่องทางรายได้จากร้านอาหารและโรงแรมหายไป การขนส่งสินค้าต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น รายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลของนอร์เวย์ รวมไปถึงแซลมอน จึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต บริการเดลิเวอรี และการสั่งอาหารกลับบ้าน แต่ต้องยอมรับเลยว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ก็มีตัวเลขที่ดี แนวโน้มการดำเนินงานนั้นดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิดแบบนี้.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |