สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูก 7 พันธุ์กว่า 3.6 แสนซองแก่พสกนิกร-ชาวนา เป็นสิริมงคลวันพืชมงคล กรมข้าวชูงานวิจัยข้าวป่ายับยั้งเซลล์มะเร็ง ส่วนประมงนำร่อง "ปลานิลจิตรลดา 4" ที่เบตงสร้างสันติสุข โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ไอศกรีมนมระดับพรีเมียม 3 รส
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เวลา 09.00 น. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมอนามัย กรมประมง กรมการข้าว โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ร่วมกันแถลงข้อมูลและการจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในงานวันพืชมงคล ประจำปี พ.ศ.2561 ณ อาคารศาลามหามงคล ภายในพื้นที่เขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
โดยในเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พ.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรความก้าวหน้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เนื่องในโอกาสวันพืชมงคล
นายโอภาส วรวาท ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กรมการข้าว กล่าวรายงานสรุปผลผลิตการดำเนินงานปี 2560 ณ แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาว่า แปลงนาทดลองฯ มีผลผลิตพืชหมุนเวียนตระกูลถั่วและตระกูลไร่ รวมทั้งสิ้น 325 กิโลกรัม ผลผลิตข้าวนาสวน พันธุ์คัด จำนวน 45 สายพันธุ์ ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 24,515 รวง ผลผลิตข้าวนาสวนพันธุ์หลัก จำนวน 7 พันธุ์ รวมทั้งสิ้น 1,799 กิโลกรัม โดยนำผลผลิตข้าวนาสายพันธุ์หลักจำนวน 7 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 กข 71 กข 43 ขาวดอกมะลิ 105 กข 6 กข 57 และข้าวสังข์หยดพัทลุง ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 1,799 กิโลกรัม ขอพระราชานุญาตจัดเป็นพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน บรรจุซอง 361,000 ซอง แจกจ่ายให้พสกนิกร ชาวนาผู้สนใจเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนหนึ่งนำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2561
นายโอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดนิทรรศการในงานวันพืชมงคล ประจำปี พ.ศ.2561 วันที่ 14 พ.ค.นี้ ได้แก่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "น้อมนำคำ "พ่อ" สอน" สานต่อปณิธานการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงงานด้านข้าว นิทรรศการพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงงานด้านข้าว นิทรรศการพระประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
นิทรรศการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ข้าว กข 75 นำมาผลิตเป็นแป้งทำขนมดอกจอก พันธุ์ข้าว ข้าวเหนียวดำหมอ 37 เป็นพันธุ์ข้าวเพาะปลูกมากใน จ.พัทลุง มีวิตามินบี 1 และ 6 ธาตุเหล็ก สังกะสีและไอโอดีนมากกว่าข้าวชนิดอื่น ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำข้าวต้มใบกะพ้อ ขนมพื้นเมืองของชาวใต้สำหรับใช้ในงานบุญ รวมทั้งพันธุ์ข้าว ขะสอ เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกในระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 1,200-1,500 เมตร เดิมทีชาวลาหู่เป็นผู้ริเริ่มเพาะปลูก สามารถนำมาผลิตเป็นสุราพื้นบ้าน นิทรรศการข้าวเหนียวดำหมอ 37 นิทรรศการข้าวพันธุ์ใหม่ที่รอการรับรอง ข้าวพันธุ์ขะสอ
นายพีรพล ม่วงงาม นักวิชาการเกษตร ปฏิบัติการ กรมการข้าว กล่าวว่า นิทรรศการในวันพืชมงคลปีนี้ยังมีนิทรรศการข้าวป่ากับคุณค่าทางเภสัชกรรม จะนำเสนอผลการศึกษาข้าวป่าสปีชีส์ O.officinalis ซึ่งพบในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ใบของข้าวป่าสปีชีส์นี้มีคุณสมบัติยับยั้งเซลล์มะเร็งได้สูง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า พบสุนัขป่วยเป็นเนื้องอกที่บริเวณหน้าอก เมื่อได้กินใบของข้าวป่าดังกล่าว ทำให้เนื้องอกยุบลง จึงเก็บตัวอย่างใบนำไปวิเคราะห์ฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งผลตรวจพบสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้สูง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม ปี 2561 จึงเริ่มทำโครงการวิจัยอย่างจริงจัง เน้นการศึกษาเปปไทน์ หากรู้ว่าเป็อะมิโนชนิดใด ก็สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อขยายผลนำไปสู่การใช้ในวงการเภสัชกรรมและวงการแพทย์ ขณะนี้ยังเป็นผลการทดลองเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม พบภัยคุกคามจากการขยายตัวของหมูบ้านจัดสรร ทำให้พื้นที่แปลงข้าวป่าดังกล่าวลดลง
นายก่อเกียรติ กูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี กรมประมง ทำการทดลองเลี้ยงเปรียบเทียบ "ปลานิลจิตรลดา 4" กับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ พบว่า ปลานิลจิตรลดา 4 ให้ผลผลิตสูงกว่าถึงร้อยละ 36 และเป็นครั้งแรกที่ อ.เบตง จ.ยะลา ทดลองปฏิบัตินำร่องเป็นหมู่บ้านปลา มีเกษตรกรสนใจเลี้ยง 200 ราย เลี้ยงด้วยระบบน้ำไหล ออกแบบให้มีบ่อระบบน้ำไหลผ่าน 24 ชั่วโมง มีการจัดวางระบบน้ำโดยการวางท่อทางธรรมชาติบางส่วนเพื่อให้น้ำไหลผ่านบ่อเลี้ยง และไหลออกจากบ่อกลับสู่ทางน้ำธรรมชาติตามเดิม ทำให้สามารถผลิตปลาคุณภาพ ไร้กลิ่นโคลนให้ผู้บริโภค ราคาขายอยู่ที่ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม จะผลักดันปลานิลเป็นหนึ่งในกุญแจเปิดประตูสันติสุข เพราะปลานิลสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในงานวันพืชมงคลประจำปี 2561 กรมอนามัยจะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย ซึ่งทางกรมร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สร้างเด็กไทยฟันดีอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ในรูปแบบการเสริมฟลูออไรด์ผ่านทางนม ซึ่งอยู่ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพื่อป้องกันฟันผุ มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตเด็กไทยที่ดื่มนมที่โรงเรียนทุกวัน เริ่มครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพบปัญหาฟันผุสูง และมีฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคต่ำ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมฟลูออไรด์เป็นแห่งแรกในประเทศ ในรูปแบบนมพาสเจอไรซ์ขนาดถุงละ 200 มิลลิลิตร ปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัมต่อถุง ปัจจุบันโครงการทำใน 12 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง ตรัง อีกทั้งพบปัญหาที่ขอนแก่น สระแก้ว ชลบุรี มีโรงนมที่ร่วมผลิตนมฟลูออไรด์รวม 21 แห่ง กระจายในจังหวัดเหล่านี้
"โครงการมีความก้าวหน้า จากผลศึกษาพบว่าการดื่มนมฟลูออไรด์ต่อเนื่อง 5 ปี ลดโรคฟันผุในฟันแท้ได้ ร้อยละ 34.4 ไม่พบผลเสียเรื่องฟันตกกระ และเด็กยังต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามปกติ และจากการกำกับเฝ้าระวังปริมาณฟลูออไรด์ทั้ง 12 จังหวัด พบเด็กได้รับฟลูออไรด์ระดับพอเหมาะป้องกันฟันผุตามค่ามาตรฐาน WHO ปีนี้มีแผนการปรับปรุงข้อมูลปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำบริโภคของจังหวัดที่ร่วมโครงการ เพื่อจัดทำแผนที่ฟลูออไรด์ต่อไป" นายแพทย์ดนัยกล่าว
ด้านเจ้าหน้าที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนดำเนินการปรับปรุงอาคารและโรงงานต่างๆ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มเติมจัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรด้วย
เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเตรียมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ไอศกรีมนมคุณภาพสูง เพิ่มเติมอีก 3 รสชาติ ได้แก่ ไอศกรีมนมกลิ่นวานิลลา ที่ใช้ฝักวานิลลาแท้ ไอศกรีมนมรสกาแฟผสมอัลมอนด์ และไอศกรีมนมรสช็อกโกแลตผสมช็อกโกแลตชิพ โดยใช้นมผงที่ใช้ผลิตนมอัดเม็ดมาเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต นอกจากนี้มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์นมให้มีความทันสมัยและสะดวกในการบริโภคขึ้น โดยหลังจากเสร็จงานนิทรรศการวันพืชมงคล 14 พฤษภาคมแล้ว จะมีการวางจำหน่ายตามร้านค้าโครงการส่วนพระองค์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดจิตรลดา รวมถึงผลิตภัณฑ์นมพาสเจอไรซ์จนขาดตลาดนั้น เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เกิดจากกำลังการผลิตจำกัดเพียง 5 หมื่นซองต่อวัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ที่สำคัญที่นี่เป็นเพียงโรงงานสาธิต จึงผลิตในจำนวนจำกัด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |