เป็นที่น่าจับตาอีกครั้งสำหรับกรณีการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ครั้งที่ 2 ว่าจะถูกเทกระจาดอีกหรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็น กกต.ทั้งสิ้น 17 คน โดยไร้เงาของ พล.อ.อู้ด เบื้องบน สนช.มาร่วมเป็นประธานเนื่องจากยังติดหล่มกรณีคลิปฉาวคว่ำ กสทช.อยู่
โดยคณะ กมธ.ชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจคุณสมบัติเชิงลึกของว่าที่ 7 กกต.ที่มาจากการสรรหา 5 คน ที่มี นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการสายวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า และ 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
ส่วนอีก 2 กกต.ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้แก่ 1.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 2.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นบุคคลรายเดิมที่ สนช.เคยลงมติไม่ให้ความเห็นชอบรอบที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่า กมธ.จะเสนอผลตรวจสอบต่อที่ประชุมใหญ่ สนช. 12 หรือ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อลงมติ โดยบุคคลที่ได้รับเลือกต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งคือ 124 เสียงขึ้นไปจากที่ประชุม สนช.
และเช่นเคยที่รายชื่อว่าที่ 7 กกต.เหล่านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม เริ่มจากความย้อนแย้งของคณะกรรมการสรรหาเพราะปรากฏรายชื่อบุคคลที่เคยปัดตกรอบแรกมาแล้ว ครั้งนี้กลับเอามาใส่ตะกร้าล้างน้ำชูขึ้นมาใหม่ เช่น นายอิทธิพร บุญประคอง โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในฐานะคณะกรรมการสรรหาให้เหตุผลว่า ตำแหน่งทูตในการสรรหารอบแรกไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เพราะไม่ถือว่าเป็นหัวหน้าส่วนราชการ แต่หลังจากมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้พิจารณาและทบทวน คณะกรรมการสรรหาจึงได้กำหนดให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง โดยเบื้องต้นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งทูตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีสามารถยื่นใบสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาในรอบนี้ได้
รวมทั้งกรณี นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ซึ่งการสรรหาครั้งแรกคุณสมบัติไม่ผ่านเพราะถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ แต่ครั้งนี้ได้แก้ไขแล้วจึงสมัครได้ นอกจากนี้บางคนยังมีข้อสงสัยในความสามารถและประสบการณ์ ว่าสุดท้ายจะเข้ามาจัดการเลือกตั้งได้อย่างไรเพราะมีแต่ผลงานทางด้านวิชาการเท่านั้น
ทั้งนี้จากเสียงสะท้อนดังกล่าวจึงทำให้สมาชิก สนช.หลายวงหลายก๊วนได้ประเมินแนวทางเห็นชอบผู้ที่จะเข้ามาเป็น 7 เสือ กกต.หลายด้าน โดยส่วนมากยอมรับด้วยเงื่อนไข "สเปกเทพ" ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกแบบมา ทำให้รายชื่อบุคคลที่เข้ารอบสุดท้ายมีตัวเลือกน้อย รวมทั้งเข็ดขยาดกับชื่อเสียงต้องมาเสียหายหากถูก สนช.คว่ำอีก และที่สำคัญรายชื่อที่เข้ามายังไม่ตอบโจทย์ผู้มีอำนาจทั้งหมด เพราะมีหน้าที่หลักคือ ผลักดันและประคับประคองให้ คสช.ครองอำนาจหลังเลือกตั้งให้สำเร็จ
โดยแนวทางการเลือกของ สนช.ประกอบด้วย ประการแรกเลือก 7 กกต.ทั้งหมด แต่ก็มีโอกาสน้อยเพราะไม่ใช่คนดังและสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจยังไม่ปรากฏ ประการที่สองคว่ำ 5 คนเพื่อเปิดช่องทางพิเศษตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ที่สามารถให้คณะกรรมการสรรหาเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาสมัครเป็น กกต.ได้ นอกเหนือไปจากการยื่นใบสมัครตามปกติ แต่จะไม่แตะสายศาล 2 คน เนื่องจากศาลได้ไปแก้วิธีการลงคะแนนเป็นแบบ เปิดเผย มาแล้ว และเชื่อว่า สนช.-ผู้มีอำนาจ คงไม่กล้าหักหน้าศาล รอบ 2 อีก
ประการสุดท้ายคือ วิธีรอมชอม โดยในส่วนของการสรรหา 5 คนก็จะเลือกเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติครบตามความต้องการ และอาจใช้วิธีการคว่ำบางคน เพื่อเปิดใช้ช่องทางพิเศษตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ด้วยการเชิญบุคคลที่ต้องการเข้ามาเป็น กกต.แทน
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ฟันธงได้ว่าแนวทางที่จะถูกเลือกสุดท้ายอยู่ที่ คสช.เป็นผู้ให้สัญญาณ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |