คลังแจงลงทะเบียนเก็บตกคนละครึ่งเฟส 2 จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ 20 ม.ค.นี้ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ยันผู้ถูกตัดสิทธิ์รอบ 1 และ 2 และผู้ไม่ได้รหัส OTP รอบ 2 สามารถช่วงชิงรอบนี้ได้ เริ่มใช้สิทธิ์ 25 ม.ค. ส่วนเยียวยาเราชนะ 3,500 บาทเข้า ครม.อังคารนี้ เครือข่ายแรงงานฯ ไล่บี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินเยียวยาแรงงานทั่วหน้า 5 พันต่อเนื่อง 3 เดือน ญาติวีรชนพฤษภา 35 ตั้ง "รวมธารปันสุข" แจกอาหารฟรี
เมื่อวันที่ 18 มกราคม น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 รอบเก็บตกวันที่ 20 ม.ค.64 จะมีจำนวนทั้งหมด 1.34 ล้านสิทธิ์ ซึ่งกระทรวงได้ประสานธนาคารกรุงไทยในการปรับปรุงระบบไว้รองรับประชาชนที่จะเข้ามาลงทะเบียนตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยยืนยันว่าผู้ลงทะเบียนและไม่ได้รับรหัส OTP รอบที่แล้ว หรือคนสมัครโครงการคนละครึ่งเฟส 1 และเฟส 2 ไม่ได้ใช้แล้วถูกตัดสิทธิ์ จะสามารถลงทะเบียนรอบเก็บตกในวันที่ 20 ม.ค.นี้ได้ เมื่อลงทะเบียนใส่ข้อมูลในวันที่ 20 ม.ค.แล้วได้เอสเอ็มเอสยืนยัน ก็ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตัง และสามารถเริ่มใช้สิทธิ์คนละครึ่งได้ภายในวันที่ 25 ม.ค.64
"ส่วนการปิดช่องโหว่ทุจริตโครงการคนละครึ่งได้มีการดำเนินการหลายด้าน โดยในส่วนร้านค้าที่ขึ้นราคาก็ติดตามดูทั้งทางกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขอเตือนร้านค้าอย่าไปหลงเชื่อทำผิดเงื่อนไขโครงการ จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย" น.ส.กุลยากล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.กุลยามองว่าไม่ต้องขยายระยะเวลาใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งออกไปจากวันที่ 31 มี.ค. 64 เนื่องจากหากมีการใช้เงิน 150 บาททุกวัน ระยะเวลา 24 วันก็จะใช้เงินครบ โดยปัจจุบันมียอดใช้จ่ายคนละครึ่งอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท
ด้านโครงการเราชนะ เพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รอบ 2 นั้น ในวันที่ 19 ม.ค.จะมีการนำเสนอรายละเอียดเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือคือ 3,500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 2 เดือน ส่วนรายละเอียดกลุ่มไหนบ้างให้รอผลประชุม ครม.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2564 ที่มาตรการล็อกดาวน์ไม่เข้มข้นอยู่ที่ 1.5-2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้พยายามใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในจำนวนเท่าที่ เท่ากับ หรือมากกว่าตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ลง
สำหรับโครงการคนละครึ่งมีประสิทธิภาพมาก ที่ทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ด้วยโครงการคนละครึ่งยังไม่ถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการและยังมีสิทธิ์คงค้างอยู่ ทำให้รัฐบาลเลือกใช้วิธีโอนเงินโดยตรงในโครงการเราชนะให้แก่ผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 และให้ครอบคลุมกับประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยชดเชยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปด้วย
โดยโครงการเราชนะที่จะแจกเงินให้เปล่า 3,500 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ว่าให้ไปซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร หรือเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งเห็นว่าควรให้เกณฑ์การใช้เงินกับร้านค้าแบบโครงการคนละครึ่งมากกว่า เพราะไม่แน่ใจว่าเงิน 3,500 บาทจะถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เช่นการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือการซื้อของที่ไม่ได้ผลิตภายในประเทศ ทำให้เงินเหล่านี้อาจจะไม่ได้ไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีโดยตรง
ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรภาคี นำโดยนายเซี้ย จำปาทอง ตัวแทนเครือข่ายและผู้ได้รับผลกระทบด้านแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 เดินทางมาร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี โดยทำกิจกรรมปราศรัยพร้อมถือป้ายข้อความ "เงินเยียวยาแรงงานต้องได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เงินภาษีจากประชาชนทำไมต้องลงทะเบียน"
โดยนายเซี้ยกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ส่งผลต่อการจ้างงานและชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการออกมาตรการต่างๆ ที่กระทบต่อผู้ประกอบการแรงงานไทยและข้ามชาติ รวมถึงสถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการโดยไม่มีงบประมาณชดเชยจากรัฐ ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจำนวนเงิน 3,500 บาท ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งยังมีขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยาก เครือข่ายจึงขอเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือนแก่แรงงานทุกประเภทอย่างทั่วหน้า ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ โดยเครือข่ายมีความกังวลจากการใช้มาตรการควบคุมโรค ที่สะท้อนวิธีการบริหารประเทศแบบสั่งการอนุมัติจากบนลงล่าง ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาโรคระบาด
ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมการจัดงานครัวสุข "รวมธารปันสุข" เพื่อแจกน้ำและอาหารช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิดระบาดครั้งใหม่ ให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้ร่วมรับอาหารฟรีจากครัวปันสุขได้ทุกวัน เปิดเป็นเวลาหนึ่งเดือนตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.-2 ก.พ.64 ที่บริเวณสวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม
นายอดุลย์กล่าวว่า ได้เชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันในกิจกรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบาก อย่าให้ลำบากไปมากกว่านี้ เพราะการระบาดของโควิดครั้งนี้ประชาชนมีความลำบากมากขึ้นจริงๆ จึงหวังว่าทุกฝ่ายจะมาช่วยกัน โดยละทิ้งความขัดแย้งทางความคิดไว้ก่อนเพื่อให้ประชาชนพ้นภัย
ด้าน ดร.สุริยะใสกล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าในยามที่สังคมยังมีปัญหา จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่ทั่วถึง ดังนั้นคนในสังคมต้องช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งเป็นจุดแข็งของสังคมไทยบ้านเรา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเรามีต้นทุนความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยไม่มีมิติการเมืองอะไรมาเกี่ยวข้อง
ขนะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวว่า อยากให้โครงการครัวสุข "รวมธารปันสุข" ตั้งขึ้นมาเพื่อประชาชน โดยไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ขอให้เรื่องการเมืองเป็นอีกหนึ่งเวที ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้เนื่องมาจากมาตรการของภาครัฐไม่ได้ตรงและทันต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้น
ขณะที่บรรยากาศภายในงานครัวสุข "รวมธารปันสุข" เมนูอาหารที่นำมาแจกประกอบด้วย กะเพราไก่ กะเพราหมู หมูทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียม ไข่ต้ม และน้ำดื่ม บรรจุในกล่องโฟมแจกจ่ายประชาชน โดยการเปิดกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 11.30 น. และมีประชาชนอาชีพต่างๆ ทยอยเข้ามารับอาหารและน้ำดื่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้กำหนดการแจกจ่ายอาหารไว้ที่ 500 คนต่อวัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |