วุ่น!บุคลากรรพ.ศิริราชติดเชื้อ


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.พบติดเชื้อเพิ่ม 369 ราย จากค้นหาเชิงรุก-ต่างด้าว 275 ราย รับทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ยาก แต่แนวโน้มดีขึ้น "บิ๊กตู่" คอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์สมุทรสาคร ห่วงตัวเลขป่วยยังพุ่ง กำชับคุมเข้ม พร้อมโชว์ผลตรวจปลอดโควิด ส่งดอกไม้เยี่ยม ผวจ. ตลาดกุ้งมหาชัยเตรียมเปิด 27 ม.ค. "อนุทิน" ชี้อย่ากังวลเรื่องวัคซีนอันตราย มีแพ้บ้างยันภาพรวมปลอดภัย สธ.คาดสัปดาห์นี้อนุญาตนำเข้าวัคซีนใช้กรณีฉุกเฉิน ศิริราชวุ่น! บุคลากรแพทย์ติดโควิด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่  369 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 357 ราย  แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 82 ราย การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 275  ราย ในจำนวนนี้พบที่ กทม. 5 ราย ชลบุรี 1 ราย และที่สมุทรสาคร 269 ราย ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมด นอกจากนี้เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 12 ราย
    ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 12,423 ราย หายป่วยสะสม 9,206 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,147 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 70 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 95,479,062 ราย เสียชีวิตสะสม 2,039,601 ราย โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ  ประเทศมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 3 พันราย  เราจึงต้องเฝ้าระวังชายแดน
    อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตัวเลขที่สูงขึ้นวันนี้มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน หลายคนอาจไม่รู้ว่าติดเชื้อ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่เพื่อสอบสวนโรค ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ วันนี้เราอยากเห็นตัวเลขเป็นศูนย์ แต่อาจยังเป็นไปไม่ได้ แต่ถือว่าตัวเลขไม่สูงกว่าที่ผ่านมา และถ้าไปดูตารางตัวเลขผู้ติดเชื้อรายจังหวัดจะเห็นว่าหลายจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะทุกคนการ์ดสูง แต่ละจังหวัดมีมาตรการที่เข้มข้น ขณะที่การค้นหาเชิงรุกในชุมชนก็เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปได้มากที่สุดและลดอัตราการเสียชีวิต  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตัวเลขการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร มาจากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ภาคเอกชนก็พยายามช่วย ทั้งการให้ความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญประชาชนมีส่วนร่วม มีจิตอาสาเข้ามาผลัดเวรกันทำงาน พยายามดูแลพื้นที่อย่างเข้มแข็ง จึงอยากเห็น จ.สมุทรสาครกลับมาคึกคักในเร็ววัน กลับมาใช้ชีวิตปกติเร็วขึ้น และทราบว่ามีการเตรียมพร้อมสำหรับสองสัปดาห์ข้างหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ เพราะหากมีการค้นหาเชิงรุกอีกแล้วพบผู้ติดเชื้ออีกจะได้ไม่ตกใจ เพราะมีการเตรียมมาตรการไว้รองรับ  เช่น โรงพยาบาลสนาม เตียงผู้ป่วย โดยเราจะดูแลคนไทยและต่างชาติให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ย้ำว่าอยากเห็นความร่วมมือของประชาชน เรายังต้องการเห็นแนวโน้มลดลง ตายเป็นศูนย์ ดังนั้นทุกคนการ์ดตกไม่ได้  ยังต้องค้นหาเชิงรุก ส่วนเรื่องการป้องกันตามแนวชายแดน รัฐทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องเป็นหูเป็นตา ขณะที่ใครมีความเสี่ยงสูง อย่าลังเลขอให้ไปตรวจ   
ห่วง ผวจ.สมุทรสาคร
    ที่ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า เวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมด้วย โดยเชื่อมสัญญาณจากตึกไทยคู่ฟ้าไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม  
    โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า "ขอถือโอกาสพบกับพวกเราทุกคนที่อยู่หน้างาน และดูแลรับผิดชอบแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีความห่วงกังวลสถานการณ์ขณะนี้ รวมถึงการติดตามคัดกรอง แต่ผู้ติดเชื้อยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความเสียสละ อดทนตามมาตรการที่รัฐบาลได้กำหนดลงไปอย่างดี  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องแก้ปัญหาให้ได้ ทั้งปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาอื่นๆ"
    นายกฯ ยังกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับอาการของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างรักษาอาการติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า เป็นบุคคลที่เสียสละในการทำงานมาโดยตลอด ซึ่งได้ให้กำลังใจไปแล้ว นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ระมัดระวังดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคัดกรอง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายกฯ ยังได้โชว์ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Swab Test ซึ่งผลการตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 พร้อมยืนยันว่าตนเองยังปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้นายกฯ ได้ตรวจหาเชื้ออยู่แล้วเป็นระยะ
     ด้านนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร สรุปรายงานภาพรวมสถานการณ์ของจังหวัดสมุทรสาครว่า นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ตลาดกลางกุ้ง 1 ราย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.63 และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมาก จนมีคำสั่งล็อกดาวน์ตลาดกลางกุ้งเมื่อวันที่ 19  ธ.ค.63 ถึงปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,679 ราย  ประกอบด้วยทั้งคนไทยและต่างด้าว รักษาหายป่วยจำนวน  3,059 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,619 ราย เสียชีวิต 1  ราย ยืนยันมีโรงพยาบาลและเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้มีกำหนดทำบิ๊กคลีนนิงเดย์ในวันที่ 26 ม.ค. รองรับตลาดกลางกุ้งที่จะกลับมาเปิดอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค.นี้  
    สำหรับการจัดตั้งจุดคัดกรองทางบกและทางน้ำก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกำชับประชาชนให้ใช้แอปพลิเคชันหมอชนะและไทยชนะ เพื่อบันทึกการเดินทาง  ขณะเดียวกันจังหวัดสมุทรสาครยังคงใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงในหลายๆ แห่ง ยกเว้นสถานที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่นร้านค้าปลีก โดยไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน แต่ยังอยู่ภายใต้มาตรการของ ศบค.
    ขณะที่นายกฯ ได้สั่งการให้กองทัพช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แสดงความเป็นห่วงทั้งแรงงานต่างชาติและแรงงานไทยที่ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ในช่วงนี้ ขอให้จังหวัดประสานกับกระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบตัวเลขแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ไม่ถูกกฎหมาย เพื่อจะได้ทราบตัวเลขที่แท้จริง รวมทั้งฝากจังหวัดและภาคเอกชนช่วยดูแลแรงงานเท่าที่จะทำได้ สำหรับการเปิดตลาดกลางกุ้งในครั้งนี้ ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะจะต้องคัดกรองคนในพื้นที่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่ง รวมไปถึงชาวประมงที่นำเรือขึ้นฝั่งด้วย รวมทั้งอาจจัดตั้งให้มีตลาดกลางซื้อ-ขายสินค้าเพิ่มเติม เพื่อให้สินค้าอาหารทะเลสามารถกระจายไปได้มากขึ้น
    พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา  Prayut-Chan-o-cha" ว่า "บ่ายวันนี้ได้มอบหมายให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นำแจกันดอกไม้เข้าเยี่ยมอาการป่วยของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล"
    ช่วงค่ำวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "วันนี้ผมขอขอบคุณทาง อย. ที่เร่งดำเนินการพิจารณาตรวจสอบวัคซีนล็อตแรก และขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เร่งเตรียมการ เพื่อให้เรามีความพร้อมในเรื่องการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการเตรียมระบบการติดตามผล และอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน  #รวมไทยสร้างชาติ"
อย่ากังวลฉีดวัคซีน
     นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนอาจไม่ปลอดภัยว่า ข้อมูลทุกวันนี้ได้มาจากสื่อต่างชาติ ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐใดๆ  การใช้วัคซีนและมีปัญหาว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่ หรือควรที่จะต้องยกเลิกการใช้หรือไม่ ยืนยันว่าในส่วนของประเทศไทยต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยในภาพรวม ซึ่งต้องยอมรับว่าหากฉีดคนเป็นล้านคนก็ต้องมีอาการแพ้บ้าง และเป็นเรื่องปกติทางการแพทย์     โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนขึ้นมาพิจารณา ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงและจะได้รับการฉีดก่อน หรือกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา  และหากมีอะไรจะให้คณะกรรมการชุดนี้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการ พวกเราพร้อมสนับสนุนโดยคำนึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ
    เมื่อถามว่า ในประเทศไทยต้องมีกลุ่มตัวอย่างทดลองวัคซีนกลุ่มแรกก่อนหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เวลาขึ้นทะเบียนยา ทะเบียนวัคซีน ต้องใช้ผลการทดลองของประเทศผู้ผลิตมาเป็นองค์ประกอบ เราไม่ทำอะไรที่แปลกแยก เพราะจะมีประเด็นอื่นแทรกเข้ามา เพราะทุกอย่างต้องทำด้วยกัน และเวลาก็สำคัญ เพราะหากจะต้องรอปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาการแพ้ ไม่มีอาการข้างเคียงเลย กลัวว่าเราจะไม่ได้วัคซีนกัน เราต้องยึดถึงหลักทางการแพทย์และที่องค์การอนามัยโลกยอมรับ เรามีทั้งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ, คณะกรรมการโรคติดต่อ มีทั้งแพทยสภาที่จะต้องระดมกำลังกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน
    "เรื่องวัคซีนไม่ต้องกังวล สธ.มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องทำการตรวจสอบเอกสาร แต่ละยี่ห้อส่งเข้ามาเป็นหมื่นๆ หน้า กว่าจะตรวจสอบและอนุมัติได้ต้องใช้เวลาและการพิสูจน์เยอะแยะไปหมด ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานการพิสูจน์อยู่แล้ว และการอนุมัติการใช้วัคซีนเพื่อแก้โควิด-19 ใช้ในมาตรฐานของมาตรการฉุกเฉิน ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนยังไม่สามารถสั่งเข้ามาได้  เพราะในการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินรัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนด อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล" นายอนุทินระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับนายกฯ ก่อนหรือไม่ว่าจะเป็นผู้ทดสอบฉีดวัคซีนก่อน นายอนุทินกล่าวว่า ประเด็นนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เอาเรื่องของความปลอดภัยเป็นที่ตั้งและเวลาที่เราจะได้วัคซีนมาเป็นที่ตั้ง เพราะนโยบายของเราต้องฉีดให้ประชาชนทั่วไป แต่ไปบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งเราต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สุดให้ประชาชนได้พิจารณา  และจะจัดระดับความสำคัญในการฉีด และต้องใช้เวลา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ และประมาณเดือน มิ.ย. วัคซีนที่เราซื้อจะเริ่มให้บริการครอบคลุมกับจำนวนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้
    เมื่อถามถึงสถานการณ์ของโควิด-19 บรรเทาลง จะมีข่าวดีคลายล็อกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่เฝ้าระวังตัวเองและควบคุมโรคได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องผ่อนคลายการควบคุม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ส่วนจะผ่อนคลายในช่วงใดก็ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นเช่นไร รวมถึงอาชีพไหนจะคลายล็อกก่อนต้องยึดกับ ศบค.และ สธ.เป็นหลัก ที่จะมีการแถลงข่าวให้ทราบทุกวัน รัฐบาลขอยืนยันว่า ในเมื่อทุกอย่างปลอดภัยและประชาชนให้ความร่วมมือ เราก็จะผ่อนคลายทันทีจะไม่รั้งรอ
ศิริราชวุ่น! ติดโควิด
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการอนุญาตให้นำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาใช้ในประเทศไทยเป็นกรณีฉุกเฉิน ขณะนี้มีผู้ผลิตวัคซีนที่ยื่นเรื่องให้ อย.ตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนแล้ว จะมีการติดตามผลที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นเวลา 4 สัปดาห์  เช่น อาการแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์ อาการผิดปกติ หรือเสียชีวิต ซึ่งจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่รวบรวมข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อประมวลผลว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ โดยคณะกรรมการจะดูข้อมูลทั้งหมด หากไม่เกี่ยวกับวัคซีนจะอนุญาตให้ฉีดต่อไปได้ แต่ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจจะให้หยุดการฉีดวัคซีนเอาไว้ก่อนจนกว่าจะหาสาเหตุได้
    โดยขณะนี้ทั่วโลกมีการนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้งานกว่า 10 ล้านโดสแล้ว และมีรายงานการเกิดผลข้างเคียง ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับมาฉีดให้ประชาชนในเดือน ก.พ.นี้
    นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์ในภาพรวมสามารถควบคุมได้ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้นเรื่อยๆ  ในอีก 1-2 สัปดาห์ โดยมี 16 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ  และอีก 32 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งการติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก อย่างไรก็ตามขณะนี้พบแนวโน้มการแพร่ระบาดภายในครอบครัว ร้านอาหาร และเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากระหว่างรับประทานจะไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่างหรืองดรับประทานอาหารร่วมกัน เช่นกรณีชุมชนวัดสิงห์ที่แพร่ระบาดไปยังคนในครอบครัว วินมอเตอร์ไซค์ ร้านหมูกระทะ รวม 34  ราย และมีการแพร่เชื้อต่อไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะดำเนินมาตรการค้นหาเชิงรุกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนให้อยู่ในวงจำกัด
     วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพบบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อในเจ้าหน้าที่และบุคลากรเกือบร้อยรายว่า ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ภายหลังจากการแถลงความคืบหน้าอาการป่วยของ ผวจ.สมุทรสาคร จะมีการแถลงรายละเอียดในเรื่องนี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลการพบบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ศิริราชติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วย โดยในไทม์ไลน์ระบุว่า 14 ม.ค. มีเจ้าหน้าที่ภาควิชาพยาธิวิทยา ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 8 ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย ต่อมามีการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยรายนี้ จำนวน 16 คน พบว่ามี 4 รายที่มีอาการ URI โดยพบเชื้อ 3 ราย ส่วนอีก 1 รายไม่พบเชื้อ มีอาการเหนื่อยและออกซิเจนต่ำ จึงจะขอตรวจซ้ำ โดยทั้ง 3  รายรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช ส่วนอีก 12 รายที่ไม่แสดงอาการ พบเชื้อ 1 ราย กำลังอยู่ในขั้นตอนติดตามตัวเพื่อนำมารักษาใน รพ. ขณะที่ผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อจะต้องถูกกักตัว  14 วัน และตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ได้มีการสุ่มตรวจเจ้าหน้าที่ในภาควิชาพยาธิวิทยาอีก 60-80 คน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"