“ประวิตร” ฉุนข่าว กอ.รมน.อุ้มการ์ดราษฎร บอกทำไปทำไม “ตำรวจ” เต้นสั่งตรวจกล้องวงจรปิดกรณีเยล ชี้เป็นเรื่องอุกอาจหากเป็นจริง ส่วนกรณี “ทศเทพ” เจ้าตัวรับสารภาพพ่นสีสเปรย์พระบรมฉายาลักษณ์จริง คดีละเอียดอ่อนตำรวจไม่มั่วนิ่ม ผกก.สำโรงเหนือแจงยิบจับ 2 การ์ดอาชีวะไม่ใช่เรื่องปลอกแขน แต่เพราะพกระเบิด 2 ลูก-มีด ส่งอีโอดีคุ้ยพันบึ้มสามย่านหรือไม่ “พท.-ก.ก.” กอดคอถล่ม ชี้เป็นกองกำลังป่าเถื่อนหลัง “บิ๊กปั๊ด” ไฟเขียว เตรียมตั้งกระทู้สดถามนายกฯ ตามคาดที่ประชุมเคาะ “เทอดพงษ์” นั่งประธานสมานฉันท์
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ม.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงข้อสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เกี่ยวข้องกับการอุ้มตัวนายมงคล สันติเมธากุล หรือเยล กลุ่มการ์ดราษฎร ก่อนจะนำตัวไปปล่อยในภายหลังว่า กอ.รมน.ชี้แจงแล้ว
เมื่อถามต่อว่าเป็นห่วงที่เกิดเหตุการณ์โยนระเบิดปิงปอง ในระหว่างการชุมนุมที่บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่าไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งตำรวจทำตามขั้นตอนอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจเกี่ยวข้องกับเหตุโยนระเบิด พล.อ.ประวิตรพูดสวนทันทีว่า “เจ้าหน้าที่ทำเมื่อไหร่ คุณก็พูดไปเรื่อย เจ้าหน้าที่จะไปทำทำไม คุณก็ไม่น่าถามเลย ถามทำไม ถามให้มีเรื่องหรือ คุณพูดไปเรื่อย คิดเองคนเดียว คนอื่นเขาไม่คิดหรอก”
เมื่อถามย้ำเกรงสถานการณ์จะบานปลายหรือไม่ เพราะผู้ชุมนุมยังรวมตัวไม่กลัวการระบาดโควิด-19 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะบานปลายหรือไม่ต้องไปถามผู้ชุมนุม เราก็ดูแลอย่างที่ดูแลอยู่
ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการอุ้มนายมงคลว่า ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ โดยเบื้องต้น พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ สั่งระดมทีมสืบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิด หาพยานแวดล้อม จุดที่ผู้เสียหายถูกอุ้มไป ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงถือว่าอุกอาจพอสมควร
พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวอีกว่า บางคนอาจบอกว่าเป็นฝ่ายความมั่นคงของตำรวจ ขอชี้แจงว่าเวลานี้ตำรวจทำงานยึดถือกฎหมาย หากเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร ไม่ใช่งานของตำรวจที่ต้องไปอุ้มเขาอยู่แล้ว ซึ่งพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น หากไม่ใช่การทำตามกฎหมายของหน่วยราชการใด ถือว่าเป็นเรื่องที่อาจละเมิดกฎหมาย และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่าง เพราะเป็นเรื่องละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน
พล.ต.ต.ยิ่งยศยังกล่าวถึงกรณีตำรวจ สภ.บางแก้ว จับกุมนายทศเทพ ดวงเนตร หรืออาร์ต หนึ่งในการ์ดราษฎร จากเหตุการณ์ทำกิจกรรมพ่นสีสเปรย์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ว่าตำรวจได้เชิญตัวนายทศเทพมาสอบถาม ก่อนที่เจ้าตัวจะรับสารภาพว่าได้ก่อเหตุจริง ตำรวจจึงขออนุญาตศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายจับ และแจ้งข้อกล่าวหาทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ซึ่งเมื่อผู้ต้องหารับสารภาพ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ซึ่งวันนี้จะนำตัวนายทศเทพไปฝากขัง ทั้งนี้ยืนยันว่านายทศเทพไม่ได้ถูกอุ้มหายไปไหน
ตร.ยันมีหมายจับ
ถามว่ากรณีโลกโซเชียลแชร์ข้อมูลว่าตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือของนายทศเทพไม่ให้โทร.หาทนาย รวมถึงไม่ให้พบญาติ พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เพราะตำรวจเชิญตัวมาพูดคุยก่อน ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้หรือไม่ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้ว เขาก็รับสารภาพว่าทำ จึงไปขอศาลออกหมายจับ เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวทางสังคม เราไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา ตำรวจไม่กล้าทำ ส่วนการที่เขาจะร้องขอทนายหรือไม่เป็นสิทธิ์ของเขา
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.วิชิต บุญชินวุฒิกุล รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ พร้อมคณะได้นำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 1 กองร้อยเข้าตรึงกำลังที่บริเวณหน้า สภ.สำโรงเหนือ หลังมีข่าวในโซเชียลว่ากลุ่มการ์ดอาชีวะประชาธิปไตยนัดรวมตัวกันปิดล้อมโรงพัก เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว 2 การ์ดอาชีวะ ซึ่งถูกตำรวจสำโรงเหนือจับกุมกรณีพบระเบิดทำเองและปลอกแขนซุกอยู่ใต้เบาะระหว่างขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพักเมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ม.ค. แต่เวลาผ่านไปก็ยังไม่พบกลุ่มการ์ดอาชีวะเดินทางมาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ พ.ต.อ.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ ยังได้ประสานเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดจากนครบาล (อีโอดี) เข้ามาตรวจสอบระเบิดทั้ง 2 ลูกที่ตรวจยึดเอาไว้ ว่าเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดระเบิดขึ้นที่ปทุมวันหรือไม่ โดย พ.ต.อ.อาทิตย์กล่าวถึงการจับกุมนายสิทธิชัย ขำจริง อายุ 18 ปี และนายสิทธิ์ไพศาล พูลสมบูรณ์ศรี อายุ 17 ปี สมาชิกการ์ดอาชีวะประชาธิปไตย พร้อมวัตถุระเบิดไทยประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นเองพันด้วยผ้าเทปสีดำ จำนวน 2 ลูก และอาวุธมีดดาบยาว 80 เซนติเมตร และมีดง้าวพร้อมด้ามยาว 1 เมตรเมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ม.ค.ว่า ทั้งคู่ขี่รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ 125 สีแดง-เทา ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ผ่านมาที่บริเวณปากซอยด่านสำโรง 24 ด้วยท่าทางมีพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าตรวจค้น พบของกลางทั้งหมดซุกซ่อนอยู่ในตัวและกระเป๋าเสื้อแขนยาวของนายสิทธิชัย และมีดดาบพกอยู่ที่เอว ส่วนนายสิทธิ์ไพศาลพกอาวุธมีดง้าว อยู่ที่เอว พร้อมปลอกแขนการ์ดอาชีวะประชาธิปไตย จึงคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองมาทำการสอบสวนที่โรงพัก โดยนายสิทธิชัยรับสารภาพเป็นคนทำระเบิดดังกล่าวขึ้นมาเอง และอ้างว่าที่พกติดตัวมาเพื่อเอาไว้ป้องกันตัวเอง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งการจับกุมทั้งสองไม่ได้กลั่นแกล้งจับกุมเพราะมีปลอกแขน แต่เป็นการจับกุมคดีอาวุธมีดและวัตถุระเบิด
ส่วนที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานสอบสวน สน.พญาไท นำตัวนายภานุพงศ์ หรือตา พงษ์ธนู อายุ 20 ปี และนายใบบุญ หรือโอม ไทยพานิช อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาแนวร่วมกลุ่มการ์ดปลดแอก มายื่นคำร้องขอผัดฟ้องฝากขังครั้งแรกต่อศาล มีกำหนดวัน 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-23 ม.ค.นี้ จากกรณีโพสต์เชิญชวนชุมนุม รวมทั้งการเขียนป้ายความยาว 112 เมตรที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลให้ผัดฟ้องและฝากขัง แต่ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสดคนละ 20,000 บาท
ไม่ต่างจากที่ศาลแขวงปทุมวัน พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องผัดฟ้องและฝากขังนายสถาพร วราวงศ์วณิชย์, นายอภิสิทธิ์ ชนากรสุนีย์, นางกฤษณา สาระ และนางจารุณี สายแผลง 4 ผู้ต้องหาผู้ชุมนุมสนับสนุนกลุ่มการ์ดปลดแอกในความผิดต่างๆ ในการชุมนุมที่แยกสามย่าน ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังมีกำหนด 6 วัน ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสดคนละ 20,000 บาท
ด้าน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการชุมนุมทำกิจกรรมของประชาชนเมื่อวันที่ 16 ม.ค และมีบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ลักพาตัวผู้ทำกิจกรรมว่า ทำเหมือนประชาชนเป็นเชลยสงคราม ไม่ใช่พฤติกรรมที่รัฐควรทำกับประชาชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐประหารไม่เสร็จ รัฐบาลละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างชัดแจ้ง และทำจนเป็นนิสัยอ้างเพียงมิติด้านความมั่นคง
ตั้งกระทู้สดถามนายกฯ
ส่วน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า การจับกุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ และสามย่านมิตรทาวน์มาจากการที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไฟเขียวให้ตำรวจใช้กำลังจัดการผู้ชุมนุมได้หากจำเป็นโดยไม่ลังเล นำมาสู่การจับกุมประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย รวมทั้งยังเกิดการอุ้มเยลไปจากที่พักกว่า 14 ชั่วโมง รวมถึงการคุมขังนายทศเทพไว้ที่ สภ.บางแก้ว โดยไม่ได้แจ้งไปยังญาติ ซึ่งการที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ไฟเขียวเช่นนี้ นับเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก เป็นการเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธกำลังกลายเป็นกองกำลังที่ป่าเถื่อน สามารถใช้กำลังและอาวุธได้ตามใจชอบในการกำจัดและจัดการผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และถ้าเปรียบเทียบการดำเนินการที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนต่อผู้ชุมนุม กับกรณีบอส กระทิงแดง หรือกรณีบ่อนการพนัน กลับไม่เห็นความขมีขมันความตั้งใจจริง
"พรรคก้าวไกลเตรียมตั้งกระทู้ถามสดถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อนายกฯ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” น.ส.เบญจากล่าว
ขณะเดียวกันที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง นายพินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เป็นตัวแทนนายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือบอล แกนนำกิจกรรมวิ่งไล่ลุง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร และนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เข้ามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นการนัดรายงานตัวครั้งที่ 3 ในการจัดกิจกรรม “ลำปางรวมการเฉพาะกิจ รวมพลคนไม่ทนในลำปาง” เมื่อวันที่ 26 ก.ค.63 โดยเจ้าหน้าที่ได้เลื่อนนัดเป็นครั้งที่ 4 โดยให้มาอีกครั้งในวันที่ 22 ก.พ.64 เพื่อรับฟังว่าอัยการจะพิจารณาสั่งฟ้องดำเนินคดีหรือไม่
ส่วนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำสั่งชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ อท188/2563 ที่นายวสันต์ เสตสิทธิ์ หรือโต้ง อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นจำเลย ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และข้อหากลั่นแกล้งให้เป็นคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 จากกรณีถูกระบุเป็นผู้ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่สนามหลวง
โดยศาลให้โจทก์แก้ฟ้อง และจัดทำคำฟ้องฉบับสมบูรณ์ยื่นต่อศาลแทนฉบับเดิมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 18 ม.ค. และมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีต่างๆ ตามที่ปรากฏในฟ้องโจทก์ พร้อมบทบัญญัติที่ยกขึ้นอ้างเพื่อดำเนินการในกรณีดังกล่าวต่อศาลภายในวันที่ 18 ก.พ.64 และเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งและกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 มี.ค.64 เวลา 10.00 น.
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นนัดแรก ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้เข้ามานั่งเป็นประธานในเบื้องต้น และได้กล่าวถึงที่มาของคณะกรรมการ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ได้หารือเรื่องนี้กับผู้นำฝ่ายค้านและบอกไปว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ฝ่ายค้านยังสามารถไล่นายกฯ ได้เหมือนเดิม ซึ่งท่านก็บอกว่าขอกลับไปพิจารณาอีกครั้งก่อน ต่อมาก็ไม่ได้เข้าร่วม ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมยอมรับว่าไม่สามารถประสานกับใครได้โดยตรง ทั้งนี้เหลือผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ก็จะให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้เลือก ซึ่งเรื่องนี้ถ้าไม่มีฝ่ายค้านก็ใช่ว่าจะทำงานไม่ได้ หรือหากไม่มีฝ่ายรัฐบาลก็ใช่ว่าจะทำงานไม่ได้เช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน
'เทอดพงษ์' นั่งประธาน
นายชวนกล่าวอีกว่า ในฐานะรัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราจะไม่ทำเรื่องถูกให้เป็นเรื่องผิด หรือทำเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก ขอให้กำลังใจทุกท่าน เราไม่สามารถบันดาลใครได้หรือสั่งใครได้ แต่ขอให้คิดว่าเป็นการนำความรู้มาพูดคุยเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง
ต่อมานายชวนได้ให้คณะกรรมการหารือเบื้องต้น โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ในฐานะกรรมการ ได้สอบถามถึงการรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมการว่าควรรายงานความคืบหน้าอย่างไร นายชวนตอบกลับว่าเบื้องต้นให้รายงาน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง จากนั้นนายชวนได้เชิญให้กรรมการที่มีความอาวุโสสูงสุดเป็นประธานเพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระต่างๆ ต่อไป
นายชวนให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีให้รายงานความคืบหน้าให้รับทราบใน 2 สัปดาห์ว่า ไม่ใช่การแทรกแซงเพียงแค่ให้รายงาน เพราะยังมีรายละเอียดของการทำงาน เช่นการตั้งกรรมการสมานฉันท์ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และฝ่ายผู้ชุมนุมที่ต้องลงนามแต่งตั้งเพิ่มเติม ส่วนกรณีไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วมและหลายคนมองว่าไม่สำเร็จ ขอให้เข้าใจว่าฝ่ายค้านไม่ขอเข้าร่วม ไม่ใช่ว่าเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดีในการทำงานของกรรมการ อาจแต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน หรือศึกษาโดยขอความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ได้
สำหรับการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์นัดแรก 11 คน ที่ประชุมได้ให้ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวเพื่อเลือกตำแหน่งประธาน ซึ่งก่อนจะเริ่มคณะกรรมการมีความเห็นเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งแรกต้องการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คนเข้ามาก่อนแล้วถึงเลือกประธาน ขณะที่อีกฝั่งเห็นว่าควรเดินหน้าทำงานเลย กระทั่งที่สุดเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเดินหน้าทำงานเลย ซึ่งท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือกนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ต้องรอมีผู้ทรงคุณวุฒิให้ครบ 4 คนก่อนถึงจะเลือก โดยคณะกรรมการจะประชุมทุกวันจันทร์เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |