ความชัดเจนเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค มีการเคาะออกมาว่า การฉีดวัคซีนให้กับคนไทย จะแบ่งเป็น 3 ระยะ เช่น ระยะที่ 1 ที่วัคซีนมีจำกัด เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้น เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง ผู้บริหาร อปท.ก็ออกมาแสดงเจตจำนงพร้อมเปิดตู้เซฟใน อปท.ของตัวเองที่เป็นเงินคงคลังของท้องถิ่น เพื่อนำเงินมาซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่า หากจะรอรัฐบาล-กระทรวงสาธารณสุข นำวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง กว่าจะถึงพื้นที่ของตัวเองคงรออีกนานหลายเดือน ซึ่งช่วงที่รอน่าจะกินเวลาหลายเดือน อาจทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งหวังผลเรื่องการท่องเที่ยว-การลงทุน-การทำการค้า อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง คิดเป็นเงินมหาศาลมากกว่าเงินที่ อปท.ควักไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน ด้วยเหตุนี้ผู้บริหาร อปท.หลายคนจึงมองว่า คุ้มค่าการลงทุน และ อปท.สามารถทำได้ เพราะมันก็คืองานบริการด้านสาธารณสุข-การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นงานพื้นฐานของท้องถิ่นอยู่แล้ว
อันพบว่าผู้บริหารท้องถิ่นที่ออกมาแสดงท่าทีพร้อมนำเงินของท้องถิ่นมาซื้อวัคซีน ช่วงนี้หลักๆ หลายจังหวัดพบว่าเป็นพวก
นายกเทศมนตรีนคร-นายกเทศมนตรีเมือง
ที่ถือว่าเป็น อปท.ที่มีความพร้อมทั้งเรื่องเงินงบประมาณที่เทศบาลนคร-เทศบาลเมืองมีรายได้ที่จัดเก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นเงินสำรองเก็บสะสมแต่ละปีจำนวนมาก บางแห่งปีละเป็นพันล้านบาท ทำให้เรื่องการควักเงินมาใช้ในการซื้อวัคซีน พวกท้องถิ่นอย่างเทศบาลจึงทำได้แบบไม่ยากเย็นอะไร
เพียงแต่พอดีมาจังหวะเหมาะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคาะให้มีการเลือกตั้ง เทศบาลทั่วประเทศ 2,000 กว่าแห่ง ในวันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค.นี้ และกำลังจะเริ่มเปิดรับสมัครคนลงเลือกตั้งช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มันเลยทำให้ไม่พ้นถูกมองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองและการหาเสียงแบบกลายๆ ไม่มากก็น้อย ภายใต้เสียงทักท้วงบ้างในบางมุม เช่น เกรงจะเกิดความเหลื่อมล้ำในจังหวัด ระหว่างประชาชนในเทศบาล โดยเฉพาะเทศบาลที่มีความพร้อม กับประชาชนนอกเทศบาล
รวมถึงข้อเป็นห่วงว่า ท้องถิ่นมีความพร้อมแค่ไหนในเรื่องการนำวัคซีนไปฉีดให้ประชาชน หากไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ไปบริหารจัดการ ยิ่งมีข่าวบางประเทศ เช่น นอร์เวย์มีคนเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนร่วม 23 คน ก็ยิ่งทำให้คนอดเป็นห่วงไม่ได้เช่นกัน หากมีการปล่อยให้มีการฉีดวัคซีน โดยไม่มีระบบการดูแลป้องกันที่ดีและรวดเร็ว กรณีมีการแพ้วัคซีนแล้วต้องรีบรักษา โดยเฉพาะหากมีการแพ้เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก แล้วท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการดูแลประชาชน หากเกิดเหตุคาดไม่ถึง ก็พบว่าคนก็อดเป็นห่วงเรื่องนี้กันไม่ได้
ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความเป็นท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน คนใน อปท.ก็คงหวังดี ต้องการให้ประชาชนปลอดภัยจากโควิด และคนในพื้นที่กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น เพียงแต่หาก อปท.หลายแห่งทั่วประเทศจะใช้วิธีการซื้อวัคซีนมาฉีดเอง แม้ต่อให้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่มันก็ยังมีอีกหลายกระบวนการที่ท้องถิ่นก็ต้องถามตัวเองเช่นกันว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับการบริหารจัดการและรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง เช่น ประชาชนในพื้นที่มีอาการแพ้วัคซีนขึ้นมาจำนวนมาก จะดูแลกันยังไง
ซึ่งโมเดลแบบท้องถิ่นจะควักเงินซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนเอง ก็พบว่าในภาคธุรกิจเองก็เริ่มมีข่าวว่า ก็มีบางจังหวัด บรรดานักธุรกิจ-เจ้าของกิจการในพื้นที่ก็เริ่มมีแนวคิดแบบนี้เช่นกัน คือจะซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับแรงงาน-ลูกจ้าง-พนักงานของตัวเอง โดยเฉพาะพวก เจ้าของโรงงาน เพื่อที่โรงงานของตัวเองจะได้ไม่ต้องมาห่วงเรื่องโควิด จนทำให้สายงานการผลิตล่าช้าหรือมีปัญหา ต้องปิดโรงงานชั่วคราว หากมีคนงานติดเชื้อโควิดที่ทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนครั้นจะรอวัคซีนจากรัฐบาลก็คงอีกหลายเดือน ก็สู้ดูความเป็นไปได้ที่จะควักเงินซื้อวัคซีนมาฉีดให้คนงานเองไปเลยน่าจะคุ้มกว่า
ท่ามกลางข่าวว่า แนวคิดข้างต้นเริ่มมีการคุยกันบ้างแล้วในบางจังหวัด เช่น สมุทรสาคร ที่เป็นพื้นที่สีแดง มีการพบการติดเชื้อโควิดในพื้นที่สูงมาก โดยเฉพาะ กลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา จนมีแนวโน้มหากปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ คงใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าศึกไวรัสโควิดที่สมุทรสาครจะยุติลง เลยเริ่มมีข่าวว่า เจ้าของโรงงานในสมุทรสาครบางส่วนมีการคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่อาจใช้วิธี ร่วมกันลงขัน-ออกเงิน เพื่อซื้อวัคซีนมาฉีดให้แรงงานในพื้นที่ รวมถึงแม้แต่ประชาชนเองด้วย
"เจ้าของโรงงานต่างๆ ในจังหวัดก็อาจใช้วิธีช่วยกันลงทุนให้ได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้วก็มาติดต่อกับหน่วยงาน เช่น อย. เพื่อขอซื้อวัคซีนไปฉีดให้แรงงานในพื้นที่ รวมถึงประชาชนในจังหวัด เพราะเขามองกันว่าหากไม่ใช้วิธีนี้ ดูแล้วที่สมุทรสาคร กว่าจะจบเรื่องโควิด อาจไม่ใช่แค่ 3-6 เดือน เผลอๆ อาจข้ามปี ซึ่งพวกโรงงานอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น เรื่องการขายอาหารทะเล เขารอไม่ไหว เพราะมันเสียหายมากในทางธุรกิจ หากปล่อยไว้แบบนี้ เลยอาจจะขอสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเข้ามาต่างหากมาฉีดในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงพวกแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา แต่จะไม่ใช่การมาแย่งวัคซีนจากคนไทยไปฉีดให้แรงงานเมียนมา แต่เป็นลักษณะการขอให้สั่งซื้อเพิ่มเข้ามาโดยใช้เงินจากการลงขันกันเองของเจ้าของโรงงานในสมุทรสาคร
วิธีดังกล่าว พวกเจ้าของกิจการในสมุทรสาครบางส่วนบอกว่าคิดแล้วมันคุ้ม เพราะหากทำแล้วทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ โรงงานกลับมาเดินเครื่องได้เต็มร้อย แรงงานเมียนมากลับมาทำงานตามปกติ ประชาชนในจังหวัดไม่มีความเสี่ยงในการติดโควิด ก็จะทำให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม จังหวัดก็อาจหลุดจากพื้นที่สีแดง พวกเจ้าของโรงงานบางส่วนก็บอกพร้อมจะลงขัน ก็มีการคุยกันอยู่ในระดับพื้นที่เพื่อเตรียมประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐต่อไปว่าจะเอาด้วยไหมกับแนวทางนี้ " รายงานข่าวระบุ
การที่แต่ละฝ่ายพยายามดิ้นรน เพื่อจบสงครามโควิดให้เร็วที่สุด ทั้งกรณีของ อปท.และเจ้าของโรงงานในสมุทรสาครข้างต้น มันคือการดิ้นรนของแต่ละภาคส่วนเพื่อหวังให้สถานการณ์โควิดยุติโดยเร็ว แม้จะรู้ว่ากระบวนการต่างๆ ในการนำวัคซีนโควิดที่ยังเป็นของใหม่สำหรับประชากรโลกมาฉีด ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ก็ตาม แต่คงมองว่า อย่างน้อยก็ควรคิดเผื่อไว้ และหากมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ดีกว่าคิดหวังพึ่งกลไกรัฐอย่างเดียว ที่อาจช้าไม่ทันการณ์!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |