18 ม.ค.2564 - ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ปี 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี และเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physical meeting) ครั้งแรกหลังจากปี 2561 ที่ปาปัวนิวกีนี (ปี 2562 ชิลีต้องยกเลิกการประชุมไปเนื่องจากเกิดเหตุการณ์จลาจลในประเทศ และปี 2563-2564 มาเลเซียและนิวซีแลนด์จัดการประชุมทางไกลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19)
นายอนุชา กล่าวว่า เพื่อความพร้อมนายกฯ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ปี พ.ศ. 2565 มีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ รองนายกฯ ทุกท่านเป็นรองประธานกรรมการ พร้อมกรรมการจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสารัตถะ 2. ด้านพิธีการและอำนวยการ 3. ด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร และ 4. ด้านประชาสัมพันธ์
นายอนุชา กล่าวว่า ด้านสารัตถะ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในกรอบเอเปก และกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการร่วมกันเพื่อพัฒนาหัวข้อหลัก (theme) ประเด็นสำคัญ (priorities) และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (deliverables) เพื่อให้การเตรียมการด้านสารัตถะเป็นไปอย่างครอบคลุมรอบด้าน และเป็นประโยชน์ ซึ่งคาดว่าไทยจะผลักดัน 5 เรื่อง คือ การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรี การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล สุขภาวะ ความมั่นคงทางการทหารและการเกษตร การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และรับผิดชอบ
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ด้านพิธีการและอำนวยการ กระทรวงการต่างประเทศได้เริ่มดำเนินการสำรวจสถานที่จัดการประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัยและการจราจร ความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์ การบริหารจัดการสถานที่ รวมทั้งความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่ด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร ในช่วงเวลาที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปกในปี 2565 จะมีผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก คู่สมรส รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก โดยแผนการรักษาความปลอดภัยและการจราจรจะยึดตามแนวปฏิบัติที่ได้ดำเนินการ
นายอนุชา กล่าวว่า ด้านประชาสัมพันธ์ วางแผนการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ช่วงก่อนการจัดการประชุม ระหว่างการประชุม และหลังการประชุม โดยจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อความเป็นเอกภาพได้ผลการสื่อสารในวงกว้าง ภายใต้แนวคิด “เข้าใจ เข้าถึง และมีส่วนร่วม” รวมทั้งจะสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชน เช่น บริษัทสื่อแนวใหม่ และดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยนอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบกรอบการดำเนินงานเพื่อให้การจัดการประชุมฯ มีความพร้อมและประสบความสำเร็จโดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนตุลาคม ปี 2565 นายกฯ ย้ำให้ทุกหน่วยงานวางแผนการทำงานและบูรณาการกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรค และจะใช้โอกาสนี้สร้างความมั่นใจต่อประชาคมโลกของไทย ในภาวะหลังโควิด-19 ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |