เข้าใจวิถีความต่างใช้เวลาว่างสร้างสรรค์


เพิ่มเพื่อน    

    ช่วงเวลา 3 เดือนการปิดภาคเรียนของเด็กและเยาวชน นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เพราะมีเวลาได้พักผ่อนสมองหลังจากที่ร่ำเรียนหนักกันมานาน แต่ใช่ว่าช่วงเวลานี้พวกเขาจะพลาดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว  ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองควรจะต้องชี้แนะและสนับสนุนให้บุตรหลานออกไปเปิดโลกเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ได้ทั้งประสบการณ์ชีวิตและสามารถช่วยเหลือสังคมอีกด้วย 

 

    เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ชุมชนเกาะยาว จ.พังงา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง และกลุ่ม Music Sharing จัดกิจกรรม ปิดเทอม เปิดชีวิต Play & Learn โดยมีเด็กและเยาวชนแกนนำจากชุมชนคลองเตย เยาวชนมอญ กลุ่มชาวไทยภูเขา จ.สุรินทร์ และเยาวชนแกนนำในพื้นที่ชุมชนเกาะยาว รวม 40 คน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชนจากหลากหลายพื้นที่ ผ่านการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม การสื่อสารความเข้าใจวิถีมุสลิมผ่านงานศิลปวัฒนธรรม การสื่อสารความเข้าใจวิถีมุสลิมผ่านงานศิลปวัฒนธรรม พัฒนาให้เด็กและเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างการเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกการทำงานร่วมกัน   

 

(ภรณี ภู่ประเสริฐ)

    นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสส.ได้หนุนเสริมการรวบรวมกิจกรรมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กได้ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์ในช่วงปิดเทอม  ซึ่งจากผลสำรวจของยูรีพอร์ต (U-Report) เรื่องพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ สื่อสร้างสรรค์ในความเห็นของเด็กและเยาวชน จำนวน 1,882 คน ในช่วง ธ.ค.2560-ม.ค.2561 พบว่า เยาวชนเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ไม่ค่อยปลอดภัย และ 35% คิดว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย และ 12% มองว่าไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ เนื่องจากไม่ทราบช่องทางการเข้าถึง 

    โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เด็กเยาวชนมีเวลาว่างมาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมมากเกินไป กินอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสในการมีสุขภาวะที่ดี การมีตัวตนในสังคม และการเข้าไม่ถึงกิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์ เช่น การเรียนดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ สร้างงานศิลปะ เป็นต้น เนื่องจากมีข้อจำกัด หรือไม่ได้รับสิทธิและบริการต่างๆ เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ ในสังคม  

    สสส.จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโอกาสให้กับเด็กกลุ่มนี้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มเยาวชนที่หลากหลาย ณ ชุมชนเกาะยาว จ.พังงา ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเสริมศักยภาพและพัฒนาการสร้างการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ในช่วงปิดเทอม โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เห็นคุณค่าในตนเอง สร้างมุมมองใหม่ เสริมทักษะชีวิต ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมมุสลิมในพื้นที่ชุมชนเกาะยาว

    “เด็กๆ เยาวชนจะได้เห็นและร่วมสัมผัสกับวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น ทักษะอาชีพของคนในท้องที่ ตลอดจนการใช้ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้คือส่วนของทักษะชีวิตที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการมาทำกิจกรรมนอกพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่ในส่วนเรื่องของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็มีทั้งด้านสังคมและธรรมชาติ ได้เรียนรู้เรื่องแมลงและต้นไม้นานาชนิด ได้รู้จักธรรมชาติของตัวเองในพื้นที่ในประเทศไทย ก็จะเกิดความผูกพัน เห็นคุณค่าของทรัพยากรในประเทศ เกิดความภาคภูมิใจ เปิดใจในอีกมุมมองหนึ่งของชีวิตที่จะสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดสิ่งดีๆ ต่อไปได้” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.เผย

 

(น.ส.ศิริพร พรมวงศ์)

    นางสาวศิริพร พรมวงศ์ จากกลุ่ม Music Sharing ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าถึงกิจกรรมที่ผ่านมาว่า ทางโครงการใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ และการให้เด็กได้สร้างจินตนาการผ่านการลงมือทำ และใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างง่ายให้เด็กได้ตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ประกอบกับประสบการณ์ทางสังคมแบบกระบวนการกลุ่มและประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือง่ายๆ และเรียนรู้จากวัสดุต่างๆ โดยผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทางศิลปะ 

 

 

    สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย การเรียนรู้วิถีชีวิตประมงผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวจากผู้เฒ่าในชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ เช่น การทดลองหาหอยริมหาด การศึกษาน้ำขึ้น-น้ำลง เพื่อจะลงเรือออกทะเลหาปลา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมมุสลิมผ่านคำสอนทางศาสนา การปฏิบัติและข้อห้ามเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดี อาทิ ข้อห้ามสูบบุหรี่ของชาวมุสลิม ทำไมมุสลิมไม่ทานหมู ทำไมผู้หญิงมุสลิมต้องคลุมหน้า เป็นต้น 

    ทั้งนี้ ทางโครงการคาดหวังว่า เมื่อกิจกรรมเหล่านี้จบลง เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์ และเกิดการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะชีวิต สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับปรุง ปรับใช้ และเปลี่ยนแปลงตนเอง สร้างการยอมรับและการมีตัวตนในสังคมต่อไป 

    ด้านนางไขแสง ศักดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนสภากาชาดไทย การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนถือเป็นหนึ่งในภารกิจของเหล่ากาชาดจังหวัด การที่เยาวชนจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศได้มาใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขของการปิดภาคเรียน ณ “เกาะยาว” ซึ่งถือเป็นเกาะ 1 ใน 155 เกาะของ จ.พังงา เพราะสามารถทำนาปลูกข้าวเลี้ยงคนพังงาได้เกือบทั้งจังหวัด เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของชาวพังงา และมีการดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมตามวิถีมุสลิมอย่างมีความสุข 

    จึงนับว่าเกาะยาวเป็นพื้นที่ที่มีสุขภาวะเหมาะสมให้เด็กๆ มาใช้ชีวิต สัมผัสความงดงามของธรรมชาติและความอบอุ่นของครอบครัวมุสลิม เชื่อว่าสัมพันธภาพระหว่างเด็กๆ กับธรรมชาติและมวลมิตรที่นี่จะเพิ่มประสบการณ์ “สุข” เติมเต็ม หัวใจให้เบิกบานไปอีกนานแสนนาน

 

(น้องแจ๋ว)

    ขณะที่ น้องแจ๋ว-พรรณพฤกษา จิตรนาวี อายุ 17 ปี โรงเรียนอ่าวกะพ้อ เยาวชนจากกลุ่มเกาะยาว เผยว่า ดีใจที่มีการจัดกิจกรรมปิดเทอม เปิดชีวิต Play & Learn ขึ้น เพราะจะได้มีกิจกรรมเข้ามาในชุมชน ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น และพอเข้าร่วมก็ยิ่งชอบ เพราะเป็นเรื่องของศิลปะ การแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ทำเข้าใจในวิถีชีวิตของเพื่อนๆ ที่มาจากต่างถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนชาวมอญ เพื่อนจากสุรินทร์ คลองเตย ซึ่งภาพลักษณ์ที่เห็นตามสื่อมองว่าเป็นสถานที่ที่น่ากลัว แต่พอเราได้สัมผัสกับเพื่อนๆ น้องๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ทุกคนเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่น่ารัก ทำให้พวกเราได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหลังจากนี้หนูตั้งใจว่าจะนำความรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ไปแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ น้องๆ ในโรงเรียน ญาติพี่น้องต่อไป จะได้มีกิจกรรมศิลปะทำในช่วงเวลาว่าง

 

(น้องซี)

    น้องซี-กองชาน สินธุ อายุ 17 ปี เยาวชนจากกลุ่มมอญ บอกว่า การมาร่วมกิจกรรมนี้นอกจากจะได้มิตรภาพใหม่ๆ จากเพื่อนๆ น้องๆ ต่างถิ่น ยังเป็นการฝึกการเข้าสังคม ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ที่สำคัญก็คือเราได้เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างทางด้านศาสนา ว่ามีกฎ ข้อปฏิบัติ ความเชื่อที่ต่างกัน ทำให้เราเข้าใจพวกเขามากขึ้น รู้สึกดีใจที่ได้มาที่เกาะยาว มาสัมผัสกับธรรมชาติ ทะเลที่สวยงาม ได้แลกเปลี่ยนศิลปะทางดนตรี วัฒนธรรม ดีกว่าต้องอยู่บ้านเฉยๆ ดูทีวี เล่นเกม เหมือนเป็นการได้มาเที่ยวพร้อมเรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียนไปในตัว เพราะได้มาสัมผัส ได้เห็นกับของจริงๆ ซึ่งประทับใจมากๆ ครับ

 

(น้องหมอก)

    น้องหมอก-วิทวัส กรสวัสดิ์ อายุ 12 ปี เยาวชนจากกลุ่มคลองเตย เล่าว่า รู้สึกดีใจมากที่มีการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้พวกผมได้มีโอกาสเข้าร่วม เพราะปกติช่วงปิดเทอมก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ อยู่บ้านเฉยๆ แต่พอมาร่วมกิจกรรมนี้ก็ทำให้ได้รับประโยชน์ ได้ความรู้จากเพื่อนๆ มุสลิม ทั้งทางด้านศาสนา ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งเรื่องการแต่งกาย การห้ามกินหมู ก็ทำให้เราเข้าใจเขา อีกทั้งยังประทับใจกับความสวยงามของท้องทะเลที่นี่ อยากจะอนุรักษ์ รักษาความสะอาดให้คงอยู่ต่อไปนานๆ ครับ

 

(น้องเข็ม)

    ปิดท้ายด้วย น้องเข็ม-วรพรรณ ทรงสะดี อายุ 14 ปี เยาวชนจากกลุ่มสุรินทร์ บอกว่า รู้สึกสนุกมากและยังได้ความรู้จากการมาทำกิจกรรมนอกสถานที่ เหมือนกับได้มาทัศนศึกษากับเพื่อนๆ จากที่ต่างๆ ทำให้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆ มาร่วมกันทำงานศิลปะ ดีกว่าปกติที่อยู่บ้านเฉยๆ ในช่วงปิดเทอม ซึ่งทางกลุ่มสุรินทร์เองก็เอาศิลปะการทำนกหวีดดินมาร่วมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่นำวัสดุอย่างดินมาปั้นให้เป็นนกหวีด และสามารถปั้นออกมาให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามความชอบได้ ถือว่าการร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นการใช้เวลาว่างได้อย่างมีความสุข ประทับใจมากๆ เลยค่ะ

    นี่คือตัวอย่างดีๆ ของเด็กและเยาวชนที่ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมมาร่วมทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ หากสนใจกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com หรือ Facebook: Happy Schoolbreak.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"