“บิ๊กตู่” สั่งคลังตรวจสอบระบบ ห้ามสะดุดเมื่อคลอดมาตรการเยียวยาออกมา พร้อมสั่งหน่วยงานแจงตอบโต้เฟกนิวส์ ตามคาด “เพื่อไทย” อัดนโยบายครึ่งๆ กลางๆ ชงจ่าย 5 พัน 3 เดือนให้ประชาชน ส่วน 5 จังหวัดได้ 6 พัน พ่วงแนะกองทัพชะลอสารพัดโครงการ
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมระบบรองรับการลงทะเบียนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่งที่เพิ่ม 1 ล้านสิทธ์ และโครงการเราชนะที่เยียวยาประชาชน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้ดูความพร้อมของระบบเพื่อบริการประชาชน ลดช่องโหว่ต่างๆ ให้มากที่สุด พร้อมอธิบายชี้แจงวิธีการลงทะเบียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ ป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
“นายกฯ ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ที่มีการส่งต่อข้อมูลเท็จเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของรัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สับสน และขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้า รายละเอียดมาตรการต่างๆ จากการประกาศของหน่วยงานราชการ เลือกบริโภคข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช็กก่อนแชร์” น.ส.ไตรศุลีระบุ
ขณะที่นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์คิดให้ครบกรอบ อย่าได้คิดครึ่งๆ กลางๆ แล้วต้องมาตามแก้ หรือที่ถูกล้อเลียนว่าเป็นนโยบายทราบแล้วเปลี่ยน คือประกาศแล้วต้องมาเปลี่ยนตลอด ทำความสับสนและเพิ่มความลำบากให้ประชาชนมากขึ้น และยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือนนั้น ไม่น่าจะเพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะเฉลี่ยแล้วเหลือเพียงวันละ 117 บาทเท่านั้น คราวที่แล้วเบากว่านี้ยังได้เดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งประชาชนก็ยังไม่พอเลี้ยงชีพ อีกทั้งหนี้ได้เพิ่มขึ้นอีกมาก
“อยากเรียกร้องให้เยียวยาตามที่พรรค พท.เสนอคือ 5,000 บาท 3 เดือน โดยต้องแจกประชาชนที่ลำบากให้ทั่วถึง และ 6,000 บาท 3 เดือน สำหรับ 5 จังหวัดที่ควบคุมเข้มข้น โดยเชื่อว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอจะจ่ายอยู่แล้ว” นายกฤษฎากล่าว
นายกฤษฎากล่าวว่า การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น อยากขอให้มีแผนงานชัดเจน และต้องมีปริมาณเงินที่เพียงพอด้วย เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีเดือดร้อนกันอย่างหนัก หากไม่ช่วยเหลือหรือช่วยเหลือไม่เพียงพอ ช่วยแบบเสียไม่ได้จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องเลิกกิจการเป็นจำนวนมากตามข่าวที่ปรากฏเกือบทุกวัน และจะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจมีอาชญากรรมตามมาอีกมาก จึงอยากให้รัฐบาลได้คิดให้ครบกรอบ และอยากให้คิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเยียวยา รวมทั้งการป้องกันไวรัสโควิดด้วย
ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวตอบโต้นายกฤษฎาว่า การวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐบาลว่าไม่รอบคอบนั้น เป็นการวิจารณ์เหมือนปั้นน้ำเป็นตัว เพราะข้อเสนอแนะของเพื่อไทยที่เสนอมาก็ไม่รอบคอบ ไม่เท่าเทียม ไม่อยู่ในเหตุในผล เสมือนว่าจำเขามาพูดมากกว่า
“มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ออกมา เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน ทั้งทีมแพทย์ ประชาชน และภาคธุรกิจ ไม่ได้เป็นนโยบายจากแดนไกลที่สั่งมาแล้วต้องทำตามโดยจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แบบที่บางพรรคมักถูกบุคคลอื่นครอบงำ” น.ส.ทิพานันระบุ
ส่วนนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบนี้ถือว่าหนักกว่าปีที่แล้ว แต่กลับจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนเดือนละ 3,500 บาท 2 เดือนเท่านั้น เมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาปีที่แล้วให้น้อยลง และยังบอกจะให้แค่ 28 จังหวัด แต่ในการจัดทำงบประมาณปี 2565 โดยเฉพาะงบของทั้ง 3 เหล่าทัพกลับมีโครงการสารพัด เมื่อนำงบประมาณที่สามารถชะลอได้ของทั้ง 3 เหล่าทัพมาคำนวณแล้วอยู่ที่ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท หากเอาไปช่วยเหลือประชาชนคนละ 3,500 บาท คนละ 2 เดือน จะช่วยประชาชนได้อีก 5.43 ล้านคน
วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสร้างไทย และทีมงานลงพื้นที่ชุมชนพระเจน เขตปทุมวัน กทม. เดินหน้าโครงการรวมพลังสู้ภัยโควิด และรับฟังปัญหาของชุมชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยระบุว่าการช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ ทั้งที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากความบกพร่องของผู้มีอำนาจ จึงตัดสินใจเดินหน้า โครงการรวมพลังสู้ภัยโควิด โดยการเดินแจกข้าวสาร เยี่ยมพี่น้องประชาชนภายในชุมชน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง อย่างน้อยที่สุดจะได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลว่า ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ โดยภาพรวมแล้วมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ไม่เพียงพอ เพียงบรรเทาไปได้ช่วงสั้นๆ โจทย์ของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรจะให้ ภาคส่งออก ภาคลงทุนขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งช่วยลดการเลิกจ้างรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |