ชาวบางกลอย 30-40 ชีวิตอพยพคืนป่าใหญ่ยังอยู่ดี ชี้เป็นสิทธิชุมชนดั้งเดิมตามรธน.


เพิ่มเพื่อน    

ชาวบางกลอย 30-40 ชีวิตอพยพคืนป่าใหญ่ยังอยู่ดี ไม่เจอทีมเจ้าหน้าที่อุทยาน นักวิชาการ-เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องรัฐห้ามใช้ความรุนแรง ชี้เป็นสิทธิของชุมชนดั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญ-มีมติครม.รองรับ

17 ม.ค.64 - มีรายงานข่าวจากหมู่บ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถึงความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านราว 30-40 คนได้อพยพกลับหมู่บ้านบางกลอยบนในป่าใหญ่ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมว่า ขณะนี้ชาวบ้านทั้งหมดได้กางเต้นท์พักรวมกันอยู่ริมลำน้ำสายหนึ่งโดยยังไม่ได้เจอกับชุดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ส่งขึ้นไปติดตาม ทั้งนี้ชาวบ้านบางส่วนได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่ไร่ซากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานเพื่อเตรียมทำไร่หมุนเวียนตามวิถีของชาวกะเหรี่ยง

“บางครอบครัวที่ลูกยังไม่อดนม ก็ผูกเปลไว้ริมลำน้ำและช่วยๆกันเลี้ยงดู เรื่องอาหารการกินตอนนี้ยังไม่ขาดแคลนเพราะขนข้าวจากข้างล่างขึ้นไป เก็บผักเก็บหญ้ากินกันซึ่งไม่เดือดร้อน”แหล่งข่าวกล่าว และว่า “ตอนนี้หมู่บ้านบางกลอยล่างค่อข้างเงียบเหงาเพราะชาวบ้านกลุ่มใหญ่พากันอพยพขึ้นไปป่าใหญ่ บางบ้านไม่มีคนอยู่ บางบ้านเหลือเยาวชนเพียง 1 คนเพราะต้องการเรียนหนังสือ

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า วิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนบางกลอยบนใจแผ่นดินป่าแก่งกระจานได้รับการพิสูจน์ยอมรับจากกระบวนการยุติธรรมแล้วว่าอยู่มาดั้งเดิมหลายชั่วคน แม้ปู่คออี้ที่อายุกว่าร้อยปีก็เกิดที่นี่  วันนี้เขาลำบาก กำลังจะอดตาย ถ้าเขาไม่กลับไปอยู่ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ก็ต้องอยู่ในที่ดินที่หน่วยงานป่าไม้อพยพเขาออกมาจัดสรรให้ หรือไม่ก็ออกไปจากแก่งกระจาน ไปรับจ้างทำงานรายวันอยู่ที่ตัวอำเภอ ที่อำเภอท่ายางหรือเข้าไปหางานทำในกรุงเทพ โดยช่องทางแรกทำมาแล้วกว่าร้อยปีพิสูจน์แล้วว่าอยู่ได้แต่รัฐไม่ให้อยู่และบังคับอพยพเขาลงมา

นายเพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ช่องทางที่ 2  ถูกบังคับให้อยู่มา 24 ปีตั้งแต่ถูกอพยพลงมา แต่อยู่ไม่รอด ครอบครัวที่ได้ที่ดินก็ทำกินไม่พอเลี้ยงครอบครัว จำนวนไม่น้อยไม่ได้ที่ดินและครัวเรือนขยายต้องทิ้งลูกเมียอยู่กับญาติที่ได้ที่ดิน ส่วนผู้ชายที่เป็นผู้นำครอบครัวต้องออกมารับจ้างนอกพื้นที่เพื่อหาครอบครัวเดือนละครั้งหรือปีละ 2-3 ครั้ง บางครอบครัวก็ลำบากมาก หาเงินไม่พอซื้อข้าวกิน ลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือ ยามเจ็บป่วยไม่มีคนดูแลไม่มีความสุข ครอบครัวแตกแยก

นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า หน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือและปฏิบัติการอยู่ในขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของรัฐ บางโครงการพัฒนาดำเนินการแล้วกว่า 10 ปี หมดเงินไปกับค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านได้รับประโยชน์น้อยมาก และระบาดของโควิด-19แทบไม่มีความช่วยเหลือใดๆเข้าไป มีแต่ความกดดันจากการสำรวจการถือครองและห้ามใช้ที่ดินทำกินในเขตหวงห้าม

นายเพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ส่วนช่องทางที่ 3 คือการที่ชาวบ้านออกไปอยู่ข้างนอกอย่างถาวร ทำมากว่า 10 ปีแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีที่อยู่อาศัย ค่าจ้างแรงงานราคาถูกไม่ซื้อข้าวกินไม่พอเลี้ยงครอบครัว ช่วงเศรษฐกิจถดถอยและโรคระบาดโควิดหางานทำไม่ได้ อยู่ไม่รอดเช่นกัน พวกเขาจึงต้องกลับมาบ้าน

“พวกเขาพิสูจน์มากว่า 20 ปีแล้วว่าพึ่งภายนอกไม่ได้ หน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนต่างๆเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนอย่างฉาบฉวย ไม่ช่วยพวกเขาจริง ชาวบ้านจึงอยู่ไม่รอดและกำลังจะอดตาย ชาวบ้านกลุ่มใหญ่จึงต้องเลือกเส้นทางชีวิตที่อยู่รอดได้ พอให้มีที่อยู่อาศัยหลบแดดฝน มีที่ทำไร่ปลูกข้าวปลูกผักกินได้ ก็ต้องกลับไปถิ่นเดิมที่บางกลอยบนบ้านเกิดของเขาซึ่งเป็นใจแผ่นดินของป่าแก่งกระจาน”นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว 

นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ควรยอมรับการตัดสินใจของพวกเขา โดยคืนสิทธิของชุมชนดั้งเดิมในการอยู่กับป่าและทรัพยากรเพื่อการยังชีพให้แก่ชาวบ้าน ช่วยอำนายความสะดวกให้เขาจัดที่อยู่ที่ทำไร่ในป่าอย่างเหมาะเพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ โดยเจ้าหน้าที่และคนภายนอกอย่าไปรบกวนเขามากนัก แต่ช่วยออกกฎหมายคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัยทำกินของเขาตามแนวนโยบายเขตวัฒนธรรมพิเศษ ให้เกื้อกูลชีวิตคนชีวิตป่าและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล

นายเพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันในเลือกทางที่สอง รัฐควรจัดที่อยู่อาศัยทำกินให้เขาอย่างเพียงพอครบทุกครัวเรือน และสนับสนุนการพัฒนาอย่างมีมาตรฐานขั้นต่ำ ทั้งอาชีพ รายได้ การศึกษา การพัฒนาที่เขาจะอยู่รอดได้ พัฒนาได้ และมีโอกาสเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและยั่งยืนได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องหาแนวทางพูดคุยและเจรจาตามหลักการสากลที่เคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตามมาตรฐาสากล กฎหมายอาญาไทยใช้กับกรณีนี่ไม่ได้เด็ดขาด ทุกฝ่ายกำลังจับตามองเพราะกลุ่มชาวบ้านมีสิทธิอันชอบธรรมในการเดินทางกลับไปในที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ เป็นสิทธิติดแผ่นดินที่สากลรับรองและรัฐไทยก็รับรองในระดับนโยบายที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี

“ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเข้ามากำหนดนโยบายเร่งด่วน และให้ภาคส่วนต่างๆมีส่วนรวมในการตัดสินใจ พื้นที่ป่าบองกลอย ใจแผ่นดินอยู่ห่างไกลสาธารณะชนและสื่อมวลชน เมื่อเกิดเหตุรุนแรงและการละเมิดสิทธิ เช่น กรณีบิลลี่ 7ปีแล้วที่คนผิดยังลอยนวล หรือกรณีปูโคอี้ 10ปีที่แล้ว ทำให้เราไม่สามารถป้องปรามและแก้ไขเยียวยาได้จนปัจจุบัน”นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

ขณะเดียวกันหลายองค์กรเครือข่าวภาคประชาชนได้ออกแถลงการณ์ โดยในส่วนของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ได้เรียกร้องให้รัฐและสังคมร่วมปกป้องสิทธิดำรงชีพและวัฒนธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดยระบุว่า 1. การที่ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวหวนคืนสู่บางกลอยบนเพื่อไปทำไร่หมุนเวียนเดิมของชุมชน เป็นการพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตรอดในสถานการณ์วิกฤตที่ถูกรัฐทอดทิ้ง และถูกปิดล้อมอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ การกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนของชุมชนขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ และยังเป็นการยืนหยัดสิทธิทางวัฒนธรรมในถิ่นฐานมาตภูมิของชุมชนซึ่งถูกรัฐละเมิดมานาน  

2. เหตุการณ์ครั้งนี้รวมทั้งการใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อชุมชนตลอดมา สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐในการปกป้องคุ้มครองชีวิตของประชาชน แม้พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่รัฐประกาศทับ แต่รัฐก็ไม่สามารถละเลยการคุ้มครองสิทธิการดำรงชีพของชุมชนได้ และไม่สามารถอ้างเหตุเรื่องการอนุรักษ์ป่ามาลิดรอนสิทธิของชุมชนซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้ 3. จากข้อมูลเชิงประจักษ์ เห็นได้ชัดว่า วิถีวัฒนธรรมของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีพ การทำไร่หมุนเวียน (ซึ่งได้รับการรับรองตามร้ฐธรรมนูญ และจากมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553) สอดคล้องและสมดุลกับระบบนิเวศธรรมชาติ เห็นได้จากชุมชนอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยปี แต่สภาพป่าแก่งกระจานที่ยังสมบูรณ์จนกรมอุทยานแห่งชาติเสนอให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ย่อมพิสูจน์ว่า สิทธิในวิถีประเพณีของชุมชนไม่ได้ขัดแย้งกับเป้าหมายการอนุรักษ์ป่า แต่ยังช่วยทำให้ป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นการละเมิดชุมชนด้วยกฎหมายอนุรักษ์ไม่เพียงแต่จะทำลายวิถีประเพณีชุมชน แต่ยังทำลายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าด้วย 

“ รัฐต้องไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ กับชาวบ้านอพยพกลับไปบางกลอยบน รัฐต้องยินยอมให้ชาวบ้านที่ยืนยันจะกลับสู่บางกลอยบนได้กลับไปทำมาหากินตามวิถีประเพณี ทำไร่หมุนเวียนของชุมชน โดยต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือชุมชนบางกลอยที่กำลังเดือดร้อนในการดำรงชีพจากวิกฤติเศรษฐกิจโดยด่วน ที่สำคัญคือสาธารณชนทุกภาคส่วนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศให้มีเป็นประชาธิปไตยและการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ต้องช่วยกันเรียกร้อง ตรวจสอบ กดดันให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างแท้จริง และเร่งระดมสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนโดยตรง เพราะหากปราศจากแรงผลักดันสาธารณะ มีแนวโน้มที่รัฐจะละเมิดสิทธิชุมชนเช่นที่ผ่านมา”แถลงการณ์ระบุ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"