โควิดคลื่นลูกแรก โลกร้อนคลื่นลูกใหญ่ โจทย์ท้าทายพัฒนาที่ยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

ระบบนิเวศทางทะเลและชายหาดได้ฟื้นตัวจากโควิด

 

 

     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อโลกล็อกดาวน์ ทรัพยากรธรรมชาติก็ฟื้นคืน ระบบนิเวศกลับมาสมดุล ผลจากการหยุดกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไร้การท่องเที่ยวรบกวน ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยลง พร้อมๆ กับเกิดหลากหลายแนวคิดที่หยิบยกนำเสนอขึ้นมาเพื่อช่วยนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ความยั่งยืนในระยะยาว  แต่ยังตระหนักถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมจากวิกฤตการณ์มากมาย โดยเฉพาะที่เกิดจากโรคโควิด

      ปัจจุบันมีคำนิยามใหม่ๆ อย่างคำว่า Green  Recovery ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนในสังคม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศ  รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทุกฝ่ายผลักดันมานานเป็นสิบปีควรรวมต้นทุนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะธรรมชาติคือฐานใหญ่ในการพัฒนา  การทำลายธรรมชาติ คือ การบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน

      เมื่อโลกเผชิญโควิดระลอกแล้วระลอกเล่า มีความพยายามที่จะผลักดันแผนการฟื้นฟูประเทศและเปลี่ยนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศตัวเองในระยะยาว เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึงประเทศไทย

      จากวงเสวนา Year-end Dialogue Forum : Green Recovery: มองไปข้างหน้ากับความท้าทายหลังโควิด-19 จัดโดยสำนักข่าว Bangkok Tribune กับองค์กรพันธมิตร เมื่อวันก่อน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์ที่น่าสนใจ และมีข้อเสนอแนะนำสู่ภาคนโยบายและภาคประชาสังคมที่น่าสนใจ ไม่แพ้สถานการณ์โรคโควิดที่ต้องจับตาใกล้ชิด 

ความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้น้ำหมู่เกาะสุรินทร์ ภาพเพจสำนักอุทยานแห่งชาติ 

 

      ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า โควิด-19 มาให้เราตั้งหลักและขบคิด เพราะโควิดถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทำลายทรัพยากรเพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพื่อหลุดพ้นความยากจน ไทยเข้าสู่กระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อสู้ความยากจน 50 ปี ทำลายดิน น้ำ ป่าหมด และสร้างเขื่อนในป่าที่ราบต่ำ ตามด้วยการบูมนิยมอุตสาหกรรม การใช้พลังงาน และการท่องเที่ยว แลกกับสิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม และชุมชนที่สูญเสียไป เกิดการปฏิวัติเขียวในทศวรรษที่ 30 เกิดกระแสทั่วโลก ภาพใหญ่วันนี้พื้นที่ป่าไม่ลดลงแล้วหลายปี ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น มองจากป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ สัตว์ป่าเพิ่ม เสือเพิ่มขึ้น และสังคมรู้จักการอนุรักษ์ เดินไปในทิศทางรักษาทรัพยากร แต่ไม่พอแล้ว เพราะเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

      " ถ้าเราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องกลับสู่พื้นฐานร่วมกันว่า เราเผชิญภาวะโลกร้อนอยู่ และมีแผนการ 1 2 3 หาฟังก์ชันที่จะไปด้วยกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เอ็นจีโอ ทำในหน้างานของตัวเองให้ตอบสนองอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศา ผลกระทบธารน้ำแข็งหายไป ปะการังเสียหาย ฟอกขาวบ่อยขึ้น พันล้านคนทั่วโลกขาดแคลนน้ำ  ถ้าขึ้น 3 องศา ป่าสนทั่วโลกกระทบรุนแรง 20-50% แต่มีผลอย่างไรกับเรา แต่ถ้า 4 องศา น้ำทะเลขึ้นถึงเมืองใหญ่ของโลก อันนี้รู้ แต่ก็มีความเข้าใจผิด ในระดับโลก COP21 มีเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาจากก่อนยุคอุตสาหกรรม" ศศิน กล่าว

      ประธานมูลนิธิสืบฯ บอกอีกว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด ครึ่งชีวิตคือไวรัส แต่มนุษย์เหลือครึ่งจิตวิญญาณ กักตุนหน้ากาก แอลกอฮอล์ ถ้ามนุษย์ทะเลาะกันไวรัสจะเพิ่มจำนวนขึ้น ทางกลับกันถ้าโรคระบาดทำให้เราร่วมมือกัน จะไม่ชนะแค่ไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่จะชนะเชื้อโรคอื่นๆ ในอนาคต โควิดเป็นแค่คลื่นลูกเล็ก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นคลื่นลูกที่สอง และยกให้ภาวะโลกร้อนเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุด โควิดจึงเป็นสัญญาณเตือน ควรนำข้อมูลเรื่องผลกระทบโลกร้อน เพื่อรวมพลังไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะนำมาสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 จากกิจกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างและโลกร้อน อย่างเอเลี่ยนสปีชีส์รุกรานสัตว์ประจำถิ่น หรือกบสีทองปานามา ค้างคาวเล็กสีน้ำตาล หายไป ที่สหรัฐค้างคาวจมูกขาวติดโรคเชื้อราจากยุโรปตายหมด ซึ่งมูลนิธิสืบฯ กำลังค้นคว้าประเด็นสำคัญนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้เชื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  

สิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น

 

      ศศินสรุปว่าถึงเวลาแล้วต้องคิดถึงอุตสาหกรรมใหม่ ท่องเที่ยวใหม่ เกษตรกรรมใหม่บนฐานคิดใหม่พอดี พอเพียง ทำอย่างไรสู้กับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โลกใหม่จะฟื้นฟูระบบนิเวศป่า ทะเล แม่น้ำ พลังงานใหม่ แสงแดด ชีวมวล องค์ความรู้ และที่สำคัญวิถีทางใหม่ของมนุษย์  หน้าที่ของมนุษยชาติคือ มองปัญหาเดียวกันและแก้ปัญหานั้น เพื่อเก็บครึ่งโลกไว้เป็นฐานทรัพยากร  

      โจทย์การฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิดรอบแรก ตามด้วยโควิดระบาดลอกใหม่ ในทัศนะ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า  นิตยสาร The Economist เป็นกระบอกเสียงของระบบทุนนิยมเสรี ภาพปกสื่อยุคฟอสซิลจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในอีก 80 ปีข้างหน้า หลายประเทศในกลุ่ม G20 พูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นศูนย์สะท้อนการปรับตัว  ในช่วงวิกฤติโควิดตั้งแต่ปี 63 เกิดการฟื้นฟูของธรรมชาติ การใช้พลังงานในภาคขนส่งลดลง เมื่อหลุดพ้นทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ฝุ่น PM 2.5 กลับมา มีตัวเลขทุกอย่างลดลงในภาคพลังงาน แต่การนำเข้าถ่านหินในไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

      " ขณะที่เราพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวหลังโควิด แต่เรายังเหมือนสถานการณ์หลายอย่างย้อนแย้ง ภาคอุตสาหกรรมที่ถดถอย ยังจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งถูกสุดในตลาดมาใช้ ส่วนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดไทยอยู่อันดับ 2 ในอาเซียน 4 ประเทศ งบที่ใช้ 78 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัดฉีดแต่ละภาคส่วน แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่อง Green Recovery เราเสนอให้กระทรวงพลังงานลงทุนปฏิวัติพลังงานบนหลังคาติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โรงพยาบาล โรงเรียน รวม 3,000 เมกกะวัตต์"

 

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากับการเติบโตของเมือง

 

      การขับเคลื่อนเรื่อง Green Recovery ในประเทศไทย ธารา เสนอว่า ควรมีวิสัยทัศน์ป้องกันไม่ให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สร้างเงื่อนไขที่จะทำลายโลกและสุขภาพของทุกชีวิต จุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศในปี 2573 ใกล้เข้ามา การลงทุนต่างๆ ต้องใช้เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีของทุกชีวิตและโลก ทุนสาธารณะจำนวนมากที่เคยขาดแคลน จะต้องถูกใช้เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ดีขึ้น เป็นอนาคตที่ผู้คนและโลกอยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ ไทยมีปัญหาจากการลงทุนในพื้นที่จะนะและแม่ทะ นอกจากนี้ ต้องปฏิเสธนิวนอร์มอลที่ยังคงทิ้งให้กลุ่มคนที่เปราะบางไว้ข้างหลัง มีกรณีตัวอย่างการระบาดโควิดในแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร และมุ่งมั่นไปสู่วิถีใหม่ที่ดีกว่า เพื่อรับรองว่าคุณค่าทางด้านมนุษยธรรม จะอยู่เหนือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

      อีกประเด็นเขาระบุว่า นโยบายสาธารณะต้องสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย เพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทบทวนนโยบายที่เอื้ออุตสาหกรรมที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม

      " ระมัดระวังไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสใช้วิกฤติเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด โดยกฎกติกาที่กำหนดจากกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม นอกจากนี้ ควรเสริมสร้างระบบการรักษาสุขภาพ และทางการแพทย์ให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติอื่นๆ ที่ตามมา อย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5" ธาราย้ำนโยบายหรือเม็ดเงินที่อัดฉีดต้องไม่ซ้ำเติมระบบนิเวศ

พื้นที่ป่าไทยเหลือ 33% เผชิญความท้าทายการอนุรักษ์และจัดการ

 

      อีกมุมมองจากตัวแทนของภาคป่าไม้ วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย RECOFTC (รีคอฟ) กล่าวว่า คนกับป่าสัมพันธ์กันในทุกประเภทป่า การจัดการต้องมองในรูปแบบภูมิทัศน์ป่าไม้ ไม่แยกส่วน รีคอฟเน้นขับเคลื่อนส่งเสริมสิทธิให้คนในท้องถิ่น จัดการป่า เพื่อจัดการดูแลป่าให้กับคนในสังคม เมื่อถามว่าคนกับป่ามีมากแค่ไหน ปัจจุบันพื้นที่ป่าไทยเหลือ 33% หรือ 102 ล้านไร่ เป้าหมายอนุรักษ์ 272 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 68 ล้านไร่ ป่าสงวนอีก 1,211 แห่ง พื้นที่รวม 143 ล้านไร่ ในนั้นมีป่าชุมชน 15,000 แห่ง มีพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 7% ของพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ รัฐจัดสรร คทช. ป่าสงวน 12 ล้านไร่ มีคนเกี่ยวข้อง 4.8 ล้านคน และมีการจัดสรร คทช. ป่าอนุรักษ์ 4.7 ล้านไร่ คนอยู่ในนั้น 2 ล้านคน นอกจากนี้ มีจัดสรรป่าชายเลน 28,000 ไร่ 122,000 คน ภาพรวมมีคนที่พึ่งพิงในป่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน จาก 70 ล้านคน คิดเป็น 14%

      "คนไม่ใช่แค่เก็บหาของป่าเท่านั้น แต่มีความท้าทายใน 4 ประเด็น ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจะถึง 9 พันล้านคนในปี 2593 ถัดมาความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอีก 70% ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้ผลิตอาหารได้น้อยลง ความต้องการไม้และสิ่งทอที่มากขึ้น  รวมถึงพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่จากชีวมวล ทำให้เราต้องการพื้นที่อีกมากในการผลิตพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการดำรงอยู่ของป่าอย่างท้าทาย เพราะการสูญเสียป่าคือการสูญเสียความหลากหลาย สถานการณ์ในไทย มองที่ จ.น่าน เราเสียป่า 8% ให้กับการผลิตข้าวโพดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จ.น่านเป็นจำเลยสังคม จากภาพเขาหัวโล้น" วรางคณาย้ำน่ากังวลอย่างมาก

ทรัพยากรทางธรรมชาติ ต้นทุนการเติบโตของประเทศ

 

      การฟื้นฟูภาคป่าไม้ ลดสูญเสียป่า ผอ.แผนงานไทยรีคอฟ เสนอว่า ไม่เพียงแค่อนุรักษ์ป่าให้ดำรงอยู่ เพราะมีการแย่งชิงการใช้ที่ดินป่าจากหลายปัจจัย ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องมากกว่าเพิ่มพื้นที่ป่า ควรเริ่มด้วยการจัดสรรการใช้ที่ดินอย่างมีธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับการสร้างงานใหม่ๆ ในระดับชุมชนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการลงทุนอย่างชาญฉลาดสำหรับโลกในอนาคต เช่น BCG  การเพิ่มสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการสาธารณะ นอกจากนี้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน จะมัวต่อรองไม่ได้ และส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยระบบธรรมชาติ ตลอดจนการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในสเกลใหญ่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันป่าไม้กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 

      " ไทยมีป่า 33% เราตั้งเป้ามีป่า 40% ตั้งแต่ปี 2528 ยาวจนแผนแม่บทปัจจุบัน แต่ก็ไม่ถึงตัวเลขนี้อยู่ดี ทั้งยังแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 15% ซึ่งป่าอนุรักษ์ไทยตัวเลขถึงแล้ว เหลือป่าเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่อุทยานฯ ต้องไปดูในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อไม่ให้ตัวเลขป่าลดลง ภาคป่าไม้ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม แต่ในภาคธุรกิจป่าไม้จะมีบทบาทจ้างงานอย่างไร หรือมีหน้าที่พัฒนาสังคม และสร้างสวัสดิการให้คนพึ่งพิงป่าได้อย่างไร แล้วมีโอกาสหรือไม่ ทำให้ภาคป่าไม้เป็นพระเอกฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาของโลก" วรางคณาให้ภาพชัดๆ

      เธอบอกขณะนี้ภาคป่าไม้ต่อสู้กับภาคธุรกิจพลาสติกและคอนกรีต เราเคยชินกับการใช้วัสดุอื่น หรือใช้ไม้เทียมแทน แต่ไม้เทียมผลิตจากคอนกรีต เราต้องสร้างโอกาสให้ภาคป่าไม้ นอกจากคำว่า Green Recovery และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สำคัญแล้ว อีกประการสำคัญ FAO รณรงค์ให้โลกเราพัฒนาและสร้างความยั่งยืนได้บนฐานการใช้ไม้ รวมถึงแนวคิดการปลูกป่านอกไพร หรือ TREE on Farm  เป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้น การจะฟื้นฟูป่าขนาดใหญ่ไม่มีพื้นที่อื่นอีกแล้ว นอกเหนือจากทำให้การปลูกป่าไปอยู่ทดแทนการใช้ที่ดินอื่นๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

      ศักยภาพการจัดการป่าโดยชุมชนเป็นอีกเทรนด์ที่ต้องขับเคลื่อน นักวิชาการรีคอฟระบุต้องเพิ่มอัตราส่วนคนในท้องถิ่นบริหารจัดการป่า หลายเคสที่เกิดไฟป่าพิสูจน์แล้วว่าขาดการจัดการร่วมกับชุมชน แต่ชุมชนจะจัดการได้ดีต้องมีสิทธิในการถือครองที่ดินป่าไม้ และทรัพยากรบนที่ดิน สามารถจัดการและใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการลงทุน เกิดธุรกิจ และมีการจ้างงาน ขณะนี้มีกฎหมายป่าไม้ กฎหมายป่าชุมชน และแก้ไขกฎหมายอุทยานที่เข้มงวด เปิดช่องให้ชุมชนเข้ามาร่วมดูแลรักษา

      ในท้ายนี้ ผอ.แผนงานไทยรีคอฟระบุข้อท้าทายมีทั้งความซับซ้อนและยุ่งยากของกฎหมาย ระเบียบราชการ ความไม่มั่นคงในสิทธิที่ดิน และความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย เปลี่ยนตามผู้บริหารหรือการเมือง รวมถึงความล่าช้าและขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อีกทั้งจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ จะต้องปลดล็อกเหล่านี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาคนกับป่าจะคาราคาซัง

      หลายทัศนะจากเวทีดังกล่าว เป็นข้อเสนอการบริหารจัดการเพื่อให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลงดีกว่าช่วงที่เกิดโควิด-19 เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศมีความยั่งยืน เศรษฐกิจเติบโตโดยไม่บั่นทอนสิ่งแวดล้อม และมีภูมิคุ้มกันในอนาคต.

ภาพจากเพจสำนักอุทยานแห่งชาติ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"