"หมอระวี" ส่งหนังสือถึง "ชวน" คัดค้านการนัดประชุมสภาในวันที่ 20-22 ม.ค. เหตุโควิดยังไม่นิ่ง เกิดมี ส.ส.ติดเชื้อ 1 คน ต้องกักตัว ส.ส. ทีมงาน ข้าราชการทั้งสภาหลายพันคน ฝ่ายค้านปฏิเสธลั่น! ซักฟอกไร้ชื่อ "บิ๊กป้อม" ยันไม่เคยให้ข่าว "แรมโบ้" รำคาญ "เจ๊หน่อย" ท้าตั้งพรรคให้ไวแล้วเจอกัน ประธานญาติวีรชนยก "บิ๊กตู่" เทียบ "ทรัมป์" ปัญหาเจ็บป่วยทางจิต
เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์การเยียวยา 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือนนั้น มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อน โดยครั้งนี้จะเป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วนำมาพิจารณาการจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยแรงงานในระบบหรือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้จะไม่นำมาพิจารณาในครั้งนี้ ดังนั้นส่วนที่เหลืออยู่จะได้รับการเยียวยา เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 35-40 ล้านคน
เขากล่าวว่า ในวันอังคารนี้จะมีการประชุม ครม. และมีความชัดเจน แต่ทั้งนี้กลุ่มเปราะบางที่มีถึง 14 ล้านคน ก็จะได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ผู้ที่เคยลงทะเบียนในแอปพลิเคชันต่างๆ และมีฐานข้อมูลในแอปพลิเคชันเป๋าตัง อาจจะไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำ เพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็จะมีมาตรการคัดกรองอย่างรอบคอบ
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ตอบโต้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ออกมาวิจารณ์การใช้งบ 300 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมติเห็นชอบเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2564 ว่าตนอยากให้คุณหญิงในฐานะนักการเมืองผู้ใหญ่และมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาแล้ว ควรมองบริบทที่เป็นภาพรวมของการบริหารประเทศ ไม่ใช่จับเฉพาะบางจุดมาโจมตี
“การที่ กสทช.ให้เงินมา 300 ล้านนั้น วัตถุประสงค์คือต้องการให้นำไปผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมไทยและคนไทยตระหนักรู้ในหลายๆ เรื่อง ทั้งโควิดและความรักชาติ นั่นคือเจตนารมณ์ของการใช้เงิน จะมาบอกว่าเอาไปซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนดีกว่านั้น แสดงว่าคุณหญิงไม่รู้ ตกข่าว หรือแกล้งโง่ เพราะรัฐบาลได้ประกาศมานานแล้วว่าได้จองซื้อวัคซีนไป 70 ล้านโดส รวมทั้งที่จุฬาฯ ผลิตเองด้วย พอเพียงแต่ต่อการให้บริการประชาชนทั้งประเทศ”
ส่วนประเด็นที่โจมตีว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ให้รัฐบาลกลับไปทำงานให้ดีก็พอนั้น นายสุภรณ์กล่าวว่า คุณหญิงเป็นฝ่ายค้านจะวิจารณ์อย่างไรก็ได้ แต่ที่ผ่านมาผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกสำนักโพลยกให้พลเอกประยุทธ์ทำงานดีที่สุด นี่เป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่คุณหญิงพูดมานั้นพูดไม่จริง และพยายามให้ประชาชนมองรัฐบาลในทางเสียหาย ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วาทะตีกินทางการเมืองซ้ำซากรายวัน
“ผมอยากให้คุณหญิงตั้งพรรคไวๆ จะได้เอานโยบายมาแข่งกันให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกใคร ผมก็สงสัยว่าจะมีประชาชนจะเลือกพรรคคุณหญิงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไปหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ.พรรคเพื่อไทยยังสอบตกในหลายจังหวัด จนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาโวยวายคุณหญิงว่าไปหาเสียงพื้นที่ไหนก็แพ้ที่นั่น ตนไม่ทราบว่าเป็นจริงตามที่นายพิชัยโวยวายหรือไม่" นายสุภรณ์กล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยได้คัดค้านการนัดประชุมสภาในวันที่ 20-22 มกราคมนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่นิ่งพอ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 200 คน และกระจายไปทั่วประเทศมากกว่า 60 จังหวัดแล้ว ในทุกจังหวัดไม่อนุมัติการจัดกิจกรรมที่มีคนมาร่วมงานมากกว่า 100 คน และหากมีการเปิดประชุม สภาอาจจะกลายเป็นจุดกระจายเชื้อจุดที่ 3 ต่อจาก ตลาดกุ้งและบ่อน
ติดคนเดียวกักตัวทั้งสภา
“ถ้าจัดการประชุมสภาในช่วงนี้จะมี ส.ส.เขตมากกว่า 60 คนจากพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งจะมีความเสี่ยง เพราะปกติ ส.ส.เขต 350 คนจะมีการลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ทุกวัน และการประชุมสภาก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าหลังจากเปิดประชุมแล้วเกิดมี ส.ส.เพียง 1 คนติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลให้ต้องเกิดการกักตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายพันท่าน ทั้ง ส.ส., ทีมงาน ส.ส., เจ้าหน้าที่รัฐสภา, ผู้ร่วมประชุมกรรมาธิการทุกคณะ” นพ.ระวีกล่าว และว่า สภาควรจะรอให้การระบาดของโควิด-19 ลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยก่อน จึงจะมีการประชุม โดยในชั้นต้นควรจะรอจนกว่าสิ้นเดือน ม.ค.64
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โต้ข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าไม่เป็นความจริง เป็นแค่การคาดเดา เรายังไม่เคยให้ข่าว และยังไม่ได้มีการเปิดชื่อ และก็ไม่ได้บอกว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่โดน สำหรับการเปิดรายชื่อนั้น ขอเป็นวันที่ 25 ม.ค. วันเดียวเท่านั้น
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงบทบาทผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าน่าจะมีปัญหาเจ็บป่วยทางจิตที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน เนื่องจากพฤติกรรมการบริหารประเทศมุ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความถูกต้อง ผลประโยชน์ประเทศและความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องที่ให้เอาผิดดำเนินคดีอาญากับกลุ่มข้าราชการที่ทุจริตรับส่วยบ่อนการพนันและค้าแรงงานเถื่อนซึ่งเป็นต้นตอของโควิดระบาดรอบ 2 แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับเลือกซื้อเวลาโดยอ้างการตั้งคณะกรรมการสอบ ซึ่งเป็นความคุ้นชินของระบบราชการไทย เพราะถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ เหมือนกรณี พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ที่ถูกสอบสวน เรื่องจัดมวยลุมพินี จนทำให้โควิดแพร่ระบาดในรอบแรก วันนี้กลับมานั่งตำแหน่งเดิม
เขากล่าวว่า ความวิปริตที่ไม่น่าเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าทำก็คือการให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณบวกไปยังนายบ่อนว่า “100 นายกฯ ก็แก้ไม่ได้” เหมือนกับอยากให้ประชาชนยอมรับว่าบ่อนและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติที่อยู่คู่กับสังคมไทย และเพื่อเป็นการกลบกระแสข่าว ก็มาโหมกระแสยัดคดีไล่จับนักศึกษาเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง
“ผมรู้สึกมองไม่เห็นทางออกกับการมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ยังหวั่นใจอยู่ก็คือ กลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นเหมือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะทำลายกติกาของบ้านเมือง ไม่ยอมลงจากอำนาจแล้วปลุกระดมคนให้ออกมาปกป้องรักษาอำนาจของตัวเอง” นายอดุลย์กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง นายกฯ กับ งานตำรวจกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,675 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ให้นายกฯ ถือธงนำ
เมื่อถามถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้ตำรวจและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ต้องเร่งแก้ไข พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 91.8 ระบุยาเสพติด เช่น เคนมผง ไอซ์ ยาบ้า ผงขาว ระบาดหนักในชุมชน สถาบันการศึกษา และสถานบันเทิง รองลงมาคือ ร้อยละ 87.8 ระบุบ่อนพนัน แหล่งแพร่โควิด ทำลายความสุขประชาชน หมดโอกาสช่วงเทศกาลความสุข บั่นทอนเสาหลักของสังคม ต้นตออาชญากรรมอื่นๆ, ร้อยละ 87.3 ระบุขบวนการขนแรงงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าเมือง ฟอกตัว ต้นตอแพร่โควิด, ร้อยละ 86.1 ระบุ อาชญากรรม ออนไลน์ เช่น ล่วงละเมิดสถาบันหลักของชาติ ล่อลวง คุกคาม พนันออนไลน์ มิจฉาชีพ, ร้อยละ 85.3 ระบุค้ามนุษย์ ทั้งที่สมัครใจและไม่สมัครใจ แรงงานบังคับ เป็นต้น
ถามถึงการรับรู้ของประชาชนต่อ ปัญหาการทำงานของตำรวจ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 98.0 ระบุ มีหลายเรื่องเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ที่ทำให้ต้องเร่ง ปฏิรูปตำรวจ เช่น ร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ช่วยผู้ต้องหา ผู้มีฐานะร่ำรวย พ้นผิดคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ต้นตอความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม การแสวงหาผลประโยชน์จากบ่อนพนัน ขบวนการฟอกตัว แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ยาเสพติด ฯลฯ ต้นตอการแพร่โควิด ทำประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อน ในขณะที่ ร้อยละ 2.0 ไม่ระบุ
ที่น่าพิจารณาคือ ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปตำรวจ ต้นตอและวิธีการแก้ไข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.9 เคลือบแคลงสงสัยตำรวจซื้อขายตำแหน่ง รับสินบน ทุจริตต่อหน้าที่, ร้อยละ 98.7 ระบุนายกรัฐมนตรีควรหาผู้นำหน่วยที่พร้อมร่วมมือปฏิรูปตำรวจมาทำงาน, ร้อยละ 98.3 ระบุการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปตำรวจร่วมปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด, ร้อยละ 95.8 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องถือธงนำปฏิรูปตำรวจ
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.2 เชื่อมั่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถปฏิรูปตำรวจสำเร็จ ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ เสริมสร้างศรัทธาของประชาชนต่อตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ไม่เชื่อมั่น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 เห็นด้วยที่ช่วงวิกฤติโควิดคือ จังหวะเวลาเหมาะสมของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งปฏิรูปตำรวจ เพื่อยับยั้งปัญหาซ้ำซากในอนาคต
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า “วิกฤติคือโอกาส” ที่ไม่ใช่โอกาสของตำรวจ แต่เป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นอกจากมีผลงานทำให้เกิดการรับรู้ (Perception) ในหมู่ประชาชนว่า เคยเข้ามาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีและมีผลงานต่างๆ จำนวนมาก แต่ยังเป็นผลงานในระดับการรับรู้ที่นายกรัฐมนตรีน่าจะใช้วิกฤติโควิด วิกฤติสังคมเวลานี้เป็นโอกาส “ปฏิรูปงานตำรวจ” กลายเป็นที่จดจำ (Remarkable) ของการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นที่รักของประชาชน ทำให้เสาหลักของชาติเป็นที่รักของประชาชนจากรุ่นสู่รุ่น มากกว่าผลงานของนายกรัฐมนตรีในอดีตที่เข้ามาและก็ออกไป โดยมีผลงานที่อยู่ในระดับของการรับรู้และเข้าใจเท่านั้น ดังนั้นวิกฤตินี้คือโอกาสของนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความทรงจำที่ดีในหมู่ประชาชน
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อด้วยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของกระแสการปฏิรูปตำรวจ เอแบคโพลเคยมีการสำรวจพบมาแล้วในปี พ.ศ.2550 โดยสอบถามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น ประชาชนผู้สัมผัสงานตำรวจระดับสถานีทั่วประเทศ 10 กองบัญชาการ ประชาชนทั่วไป กลุ่มนักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และกลุ่มข้าราชการตำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 70 ของประชาชนทั่วไปต้องการให้มีการปฏิรูปงานตำรวจ แต่เวลาผ่านมากว่า 10 ปี ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่กว่าร้อยละ 90 ของประชาชนทั่วไปต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ
“จึงสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้มีอำนาจรัฐน่าจะนำไปพิจารณาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นที่รักของประชาชน เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ และลดความเคลือบแคลงสงสัยว่าทุจริตต่อหน้าที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่นๆ กระทรวงอื่นในหลายจังหวัดของประเทศทั้งเรื่องบ่อนพนัน แรงงานเถื่อน ยาเสพติด แหล่งมั่วสุม จนกลายเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ ทำลายความสุขของประชาชนทั้งประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีขู่หรือปรามขบวนการเหล่านี้อย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอเพราะมันแค่หลบ ไม่ได้หมดไป นายกรัฐมนตรีจึงน่าจะถือธงนำปฏิรูปตำรวจ ตามที่ประชาชนไว้วางใจและเชื่อมั่นจากข้อมูลผลสำรวจครั้งนี้” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |