“ดรังเกตา” แห่ง “กาลาเบรีย”


เพิ่มเพื่อน    

    หลายท่านคงรู้จัก “คอซา นอสตรา” มาเฟียบนเกาะซิซิลี และเคยได้ยินชื่อ “กามอรา” จากนาโปลีมาแล้ว อิตาลียังมีอีกหนึ่งองค์กรอาชญากรรมที่อิทธิพลล้นเหลือ นั่นคือ “ดรังเกตา” แห่งแคว้นกาลาเบรีย

            เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฏข่าวการเริ่มพิจารณาคดีแบบรวมหมู่ครั้งใหญ่สุดในรอบ 3 ทศวรรษของอิตาลี มีจำเลยถึง 325 คน ข้อหาฆาตกรรม ค้ายาเสพติด คอร์รัปชัน  ฟอกเงิน กรรโชกทรัพย์ ปล่อยเงินกู้นอกระบบ และอื่นๆ

            คดีนี้เกิดจากปฏิบัติการสายฟ้าแลบในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.2019 เจ้าหน้าที่จำนวนมากถึงประมาณ 3,000 นายบุกเข้าจับกุมสมาชิกดรังเกตาใน 12 แคว้นของอิตาลี พร้อมๆ กับสมาชิกในต่างประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และบัลแกเรีย ก่อนแผนการเดิมที่วางไว้ 1 วัน เนื่องจากมีกลิ่นว่าข่าวจะรั่วไปถึงกลุ่มมาเฟียเสียก่อน


เจ้าหน้าที่หน่วย Carabinieri บุกจับ “ร็อคโก บาร์บาโร” เจ้าพ่อดรังเกตาระหว่างกินมื้อเที่ยงในร้านอาหารแห่งหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน (Credit : Carabinieri Reggio Calabria)

 

            การบุกจับกุมครั้งนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการกวาดล้างมาเฟีย “คอซา นอสตรา” (Cosa Nostra) ในซิซิลี เมื่อปี ค.ศ.1984 ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาคดีที่มีจำเลยถึง 450 คน  และคำพิพากษาในปี ค.ศ.1992 ทำให้มาเฟียซิซิลีอ่อนแรงลงไปอย่างมาก ส่งผลให้องค์กรดรังเกตาขึ้นมายืนอันดับ 1 บนบัลลังก์มาเฟียอิตาลี แต่ทั้ง 3 องค์กรใหญ่ทางใต้ของประเทศ (ดรังเกตา-กามอรา-คอซา นอสตรา) ก็ถือเป็นพันธมิตรอิทธิพลมืด ร่วมไม้ร่วมมือกันในหลายโอกาส

            ในปฏิบัติการเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 ตำรวจคุมตัว “ลุยจิ มันคูโซ” เจ้าพ่อแก๊งมันคูโซซึ่งปกครองเมือง “วิโบ วาเลนเทีย” ในแคว้นกาลาเบรีย พร้อมด้วยลูกน้องหลายสิบคน รวมถึงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค “ฟอร์ซา อิตาเลีย”  ของอดีตนายกฯ “ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี” นักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ ที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับดรังเกตา

            ทนายความชื่อ “จูเซปเป ดิ ปาเช” บอกแก่นักข่าวว่าตระกูลมันคูโซเป็นหนึ่งในดรังเกตาที่มีอิทธิพลมากที่สุดในแคว้นกาลาเบรีย อีกทั้งยังเป็นองค์กรค้ายาระดับโลก กระจายสาขาในหลายประเทศ มีการทำธุรกิจกับกลุ่มอาชญากรรมในสหรัฐและอเมริกาใต้ โดยลูกความของ “ดิ ปาเช” คือครอบครัวของ “มัตเตโอ วินชี” ผู้ที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์คาร์บอมบ์เมื่อปี ค.ศ.2018 เพราะปฏิเสธที่จะขายที่ดินให้กับตระกูลมันคูโซ ชะตากรรมคล้ายๆ กับชาวไร่คนหนึ่งที่ไม่ยอมขายที่ดินให้กับแก๊งนี้ ทว่ารายหลังไม่เคยมีใครพบศพเพราะน่าจะกลายเป็นอาหารหมูเรียบร้อยแล้ว การนำศพไปป้อนเป็นอาหารหมูถือเป็นวิธีฆ่าอำพรางยอดนิยมขององค์กรเถื่อนอิตาลี

            ไม่เพียงกำจัดผู้ขวางทาง แก๊งนี้ยังฆ่าได้แม้แต่พวกเดียวกันเอง ตำรวจพบโครงกระดูกของสมาชิกคนหนึ่งในแก๊งที่ถูกยิงแล้วนำไปฝังดินเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผู้มีส่วนร่วมในการฆ่าได้กลับใจและให้การถึงสาเหตุการปลิดชีพ เพียงเพราะหัวหน้าแก๊งสงสัยว่าเหยื่อคนดังกล่าวเป็นชายรักร่วมเพศ

                “อันโตนิโอ นิคาโซ” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดรังเกตา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การจับกุมเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 เป็นการเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างแก๊งมันคูโซและโลกข้างบน ซึ่งโลกข้างบนนี้หมายถึงพวกนักการเมือง ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ รวมถึงองค์กรลับ “ฟรีเมสัน”

            เขาอธิบายว่าทุกองค์กรอาชญากรรมมีความรุนแรงเป็นกระดูกสันหลัง และมีอำนาจเป็นเส้นเลือด หากไม่สามารถทำให้โลกใต้ดินและโลกข้างบนรวมกันได้ องค์กรอาชญากรรมก็จะไร้อิทธิพล และไม่มีอนาคต

            การไต่สวนดำเนินขึ้นในห้องพิจารณาคดีซึ่งแปลงสภาพมาจากคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมือง “ลาเมเซีย แตร์เม” แคว้นกาลาเบรีย เพื่อให้สามารถรองรับคนได้เกือบ 1 พันคน โดยใช้วิดีโอลิงค์ 150 จอเชื่อมไปยังจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

รู้จัก “ดรังเกตา”

 

                “กาลาเบรีย” เป็นแคว้นทางตอนใต้ของอิตาลี หากดูในแผนที่ก็คือส่วนหัวของรองเท้าบู๊ต ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะซิซิลี แยกจากกันโดยช่องแคบเมสซินา ทั้งแคว้นมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ล้านคน สถานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ อัตราการว่างงานสูงเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในอิตาลี

            ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีหลักฐานปรากฏว่ามีมาเฟียเกิดขึ้นในแคว้นกาลาเบรียแล้ว แต่ยังเรียกว่า “กามอรา” (Camorra) เหมือนเช่นในเมืองนาโปลี แคว้นกัมปาเนีย ที่อยู่ใกล้ๆ กันทางด้านทิศเหนือ เพราะกามอรานั้นดังอยู่ก่อน

            คำว่า “Ndrangheta” ออกเสียง “ดรังเกตา” มาจากรากศัพท์ภาษากรีก สันนิษฐานที่มาจาก 2 คำ โดยคำแรกแปลได้ว่า “วีรกรรม” และ “ความดีงาม” ส่วนอีกคำแปลว่า “ผู้กล้า” หลายเมืองในแคว้นกาลาเบรียใช้คำนี้ในความหมายเชิง “การเข้าร่วมอย่างกล้าหาญท้าทาย” นักเขียนชื่อ “คอราโด อัลวาโร” ประจำหนังสือพิมพ์รายวัน Corriere della Sera เป็นผู้ทำให้คำว่า “ดรังเกตา” แพร่หลายไปในวงกว้างนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1955

            “ดรังเกตา” มีความหมายเดียวกับคำว่า “กามอรา” ในนาโปลี และ “มาเฟีย” (หรือ “คาซา นอสตรา”) บนเกาะซิซิลี (คำว่ามาเฟียถือกำเนิดขึ้นจากเกาะซิซิลี) นั่นคือมีแก๊งย่อยอีกนับร้อย อ้างอำนาจควบคุมเมืองหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในแคว้นกาลาเบรียมีอยู่ประมาณ 100 แก๊ง มีสมาชิกรวมกันหลายพันคน หากนับรวมสาขานอกอิตาลีด้วยก็อาจถึง 1 หมื่นคน

            ดรังเกตาส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัด “เรจโจ กาลาเบรีย” โดยมีมากในหมู่บ้านที่ยากจน หมู่บ้านชื่อ “ซาน ลูกา” เป็นเสมือนฐานบัญชาการของดรังเกตา และผู้ชายเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านเข้าร่วมกับดรังเกตา โบสถ์แห่งโพลซีใน “ซาน ลูกา” ถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมของหัวหน้าแก๊งทั้งจากในและนอกแคว้นกาลาเบรีย รวมถึงอาจมาไกลจากแคนาดาและออสเตรเลีย

            ดรังเกตาประจำเมืองหรือพื้นที่ใดๆ เรียกว่า “โลกาเล” (Locale) สามารถมี “ดรีนา” (Ndrina) หรือสาขาได้หากว่าไม่ไปทับเขตอิทธิพลของ “โลกาเล” อื่น โดยอาจขยายออกไปนอกแคว้นกาลาเบรียก็ได้ เช่น ในตูรินและมิลาน บางกรณีหัวหน้าดรีนา (สาขา) มีอำนาจในตัวเอง และบางครั้งมีอิทธิพลสูงกว่าโลกาเลด้วยซ้ำ หากว่าในเมืองใดมีดรีนามากกว่าหนึ่งดรีนาในเมืองเดียวกันก็จะนำไปสู่การตั้งโลกาเลขึ้นใหม่

            การประชุมประจำปีของดรังเกตาที่ “ซาน ลูกา” มีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในอนาคต และแก้ไขข้อพิพาทระหว่างโลกาลี มีการเลือกประธานในการประชุมแต่ละครั้ง แต่ใช่ว่าจะมีอำนาจอะไรมากมายถึงขั้นจะไปจัดการหรือแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างแก๊งได้

            อย่างไรก็ตาม ในการประชุมแต่ละครั้ง หัวหน้าแก๊งจะต้องแจกแจงรายละเอียดกิจกรรมในปีที่ผ่านมา เช่นว่า ได้ฆ่าไปเท่าไหร่ ลักพาตัวไปกี่คน นอกจากนี้ทุกแก๊งจะต้องฝากเงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ จากกำไรที่ทำได้ในรอบปีเข้าสู่ฐานที่ “ซาน ลูกา” และโลกาลีที่เกิดใหม่จะต้องขออนุมัติการเริ่มดำเนินงานในการประชุมนี้

            สำหรับสมาชิกภาพของดรังเกตามักมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือตระกูลเดียวกัน ผู้ชายส่วนใหญ่เกิดมาก็เป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ ทำให้แต่ละแก๊งมีคนนามสกุลเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางคนเข้ามาได้เพราะการแต่งงานกับผู้หญิงในตระกูล หรือผ่านการพิสูจน์ตัวเองบางอย่าง สายบังคับบัญชาจากหัวหน้าไปจนถึงกำลังฝ่าย “ลงมือทำ” มีอยู่ประมาณ 5-6 ระดับ

 

สงครามภายในของดรังเกตา

 

            สงครามดรังเกตาเกิดขึ้นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ.1974-1976 เกิดความไม่เห็นพ้องในเรื่องการข้ามขั้นจากมาเฟียธรรมดาที่ทำมาหากินด้วยการกรรโชกทรัพย์และเก็บค่าคุ้มครองเป็นหลัก ไปสู่การลักพาตัวเรียกค่าไถ่และค้ายาเสพติด รวมถึงมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของ “ซานตา” องค์กรลับภายในของดรังเกตาที่เกิดขึ้นในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ทำให้เจ้าพ่อบางคนมีอำนาจพิเศษ อีกทั้งการขัดกันในผลประโยชน์การได้รับสัญญาจ้างจากหน่วยงานรัฐ และความต้องการขึ้นมาใหญ่ของพวกคนหนุ่มไฟแรง

            การลอบสังหารเกิดขึ้น ตามมาด้วยการแก้แค้น การหักหลัง และต่างๆ นานา แม้แต่สั่งให้ลูกน้องในคุกแทงหัวหน้าแก๊งที่เพิ่งเข้าไปใหม่ ทำให้สองฝ่ายหลักๆ มีผู้เสียชีวิตรวมกัน 233 คน หลังสงครามทำให้ตระกูล “ดิ สเตฟาโน” ซึ่งสูญเสียพี่น้องไป 2 คนขึ้นสู่แถวหน้าของจังหวัด “เรจโจ กาลาเบรีย”  เพราะมีชื่อด้านความโหดเหี้ยม ได้งานโครงการก่อสร้างของรัฐเป็นว่าเล่น เช่นเดียวกับตระกูล “ปิโรมาลลี” ที่เป็นพันธมิตรกัน

            สงครามดรังเกตาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1985-1991 สาเหตุเริ่มต้นมาจากโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อม “เรจโจ กาลาเบรีย” กับเมือง “เมสซินา” ของเกาะซิซิลี ตระกูล “ดิ สเตฟาโน” ต้องการเข้าไปมีอิทธิพลในเขต “วิลลา ซาน โจวานี” จังหวัดเรจโจกาลาเบรีย เขตอำนาจของอีกตระกูลบริเวณท่าเรือฝั่งเรจโจกาลาเบรียที่จะมีการสร้างสะพาน

            สองฝ่ายเสริมกำลังของตนผ่านการแต่งงานระหว่างตระกูล สงครามเริ่มจากการวางระเบิดอีกฝ่าย “ดิ สเตฟาโน”  เสียชีวิตไปหนึ่ง น้องชายคนสุดท้องรับช่วงอำนาจต่อ จากนั้นก็ฆ่ากันไปมา หัวหน้าแก๊งบางคนถูกจับติดคุกยังไม่วายมีสไนเปอร์ลอบยิงเข้าไประหว่างเดินรับแดดในลานโล่งของคุก รวมถึงสไนเปอร์ยิงเฉียดผู้แปรพักตร์ที่ไปเป็นพยานให้ฝ่ายรัฐตอนเดินออกจากอาคารศาลขณะรายล้อมด้วยเจ้าหน้าที่

            ช่วงเวลาการสู้รบของดรังเกตาในครั้งที่ 2 กินเวลาเกือบ 6 ปี ไม่มีผู้ชนะหรือแพ้ที่แท้จริง แต่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จนถึงเวลาแห่งการหย่าศึก มีรายงานว่าหัวหน้าแก๊งจากแคนาดาบางคนมีส่วนในการเจรจา รวมถึงมาเฟียจากซิซิลีที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นแบบของซิซิลีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง ใช้ชื่อว่า “ลา โปรวินเชีย” ประกอบไปด้วย 3 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ตระกูลที่รับผิดชอบแก๊งทางฝั่งทะเลไอโอเนียน ตระกูลที่รับผิดชอบทางฝั่งทะเลติร์เรเนียน และฝ่ายเรจโจกาลาเบรีย

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

            การจับตัวเรียกค่าไถ่เศรษฐีทางเหนือของประเทศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กรณีที่โจษขานกันมากคือการลักพาตัว “จอห์น พอล เกตตี” เมื่อปี ค.ศ.1973 ขณะอยู่ในกรุงโรม เขาผู้นี้เป็นหลานชายของ “เจ. พอล เกตตี” มหาเศรษฐีผู้ที่ช่วงหนึ่งร่ำรวยกว่าใครในอเมริกา ดรังเกตาเรียกค่าไถ่ 17 ล้านเหรียญ ฝ่ายคุณปู่ลังเลที่จะจ่ายค่าไถ่ ไม่นานก็ได้รับซองจดหมายบรรจุใบหูของหลานชาย สุดท้ายการเจรจาตกลงราคากันได้ที่ 2.2 ล้านเหรียญ

            ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ดรังเกตาเริ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติ หลักๆ คือนำเข้าโคเคนจากโคลอมเบียแล้วส่งขายไปทั่วยุโรป อีกทั้งมีรายงานการทำธุรกิจยาเสพติดกับกลุ่มติดอาวุธ “ลอส เซตาส” ของเม็กซิโก เงินที่ได้มานำไปฟอกเงินผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์และลงทุนในธุรกิจต่างๆ

            การแทรกซึมเข้าไปในฝ่ายบริหารบ้านเมืองไม่จำกัดอยู่เพียงในแคว้นกาลาเบรีย หากแต่ไปไกลถึงนครมิลาน แคว้นลอมบาเดีย ผู้มีอำนาจในรัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบเรื่องการก่อสร้างอาคารของรัฐถูกจับกุมในเดือนตุลาคม ค.ศ.2012 ข้อหาจ่ายเงินให้กับดรังเกตาเพื่อแลกกับคะแนนเสียง ขณะที่ฝ่ายดรังเกตาได้รับสัญญาโครงการก่อสร้าง รวมถึงการก่อสร้างในการจัดงาน “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2015” ที่มิลาน คดีนี้ทำให้ผู้ว่าการแคว้นลอมบาเดียต้องลาออก

            ในปี ค.ศ.2013 ดรังเกตามีรายได้รวมกันถึง 53,000 ล้านยูโร คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ ยาเสพติดคือแหล่งรายได้หลัก ที่เหลือมาจากการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ การข่มขู่กรรโชกทรัพย์ เงินกู้นอกระบบ ลักลอบค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ และค้าประเวณี

            ดรังเกตามีปฏิบัติการอยู่นอกอิตาลีอีกหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย อุรุกวัย เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ อัลแบเนีย และสโลวาเกีย

            การจับกุมสมาชิกดรังเกตามีขึ้นหลายครั้งในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ครั้งล่าสุดถือเป็นก้าวสำคัญกว่าครั้งใดๆ  “นิคอลา กรัตเตรี” หัวหน้าอัยการผู้รับผิดชอบคดีนี้ซึ่งได้มุ่งมั่นทำงานมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี กล่าวว่า เราคงไม่สามารถแก้ปัญหามาเฟียได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน การขุดรากถอนโคนต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการยอมรับความรุนแรงในรูปแบบที่เคยเป็นมา และจะต้องมีการตรากฎหมายให้ดีขึ้น

            “มันขึ้นอยู่กับสังคมของคนดี ว่าจะเข้าไปแทนพื้นที่ว่างที่เราได้สร้างขึ้นในวันนี้หรือไม่ หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามเราก็จะกลับไปอยู่ในพื้นที่แคบๆ เหมือนเดิม และพวกอาชญากรก็จะยึดคืนไปอีกครั้ง” ทนายแผ่นดินในแคว้นกาลาเบรียตั้งคำถามกับชาวเมือง.

 

**************************

ขอบคุณข้อมูลจาก :

- occrp.org

- thelocale.it

- nytimes.com

- france24.com

- dw.com

- wikipedia.org

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"