เจาะภารกิจ นักระบาดวิทยา ในศึกโควิดรอบสอง


เพิ่มเพื่อน    

 

นักระบาดวิทยา นักรบแถวหน้า ในสมรภูมิรับมือโควิดระบาด

                การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19  ในประเทศไทยยังคงต้องติดตามกันต่อไป ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศโดยภาพรวมหลายจังหวัดเริ่มทรงตัว  ซึ่งแม้โควิดรอบนี้ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะพ้นจุดเสี่ยงในช่วงใด อย่างไรก็ตามการต่อสู้กับเชื้อโรคตัวนี้ทั้งรอบแรกเมื่อปีที่แล้วและรอบสองในขณะนี้ กลุ่มบุคคลในสายงานสาธารณสุขของประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการสอบสวนโรค ป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อทั่วประเทศ ก็คือกลุ่ม นักระบาดวิทยา ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ในสังกัดกรมควบคุมโรค ที่ถือเป็นด่านหน้าอย่างแท้จริงในสมรภูมิโควิดทั้งสองรอบ โดยเฉพาะทีมสอบสวนโรคที่ทำงานอยู่ในสังกัดกองระบาดวิทยา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวงการสาธารณสุขประเทศไทย มีแพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนามเพียงแค่ 183 คน อยู่ใน  45 จังหวัด ขณะที่อีก 32 จังหวัดยังไม่มี ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนมากแทบไม่รู้จักบทบาทหรือภารกิจของนักระบาดวิทยาเท่าใดนัก ทั้งที่นักระบาดวิทยา มีบทบาทอย่างมากในเรื่องภารกิจควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อหลายครั้งในประเทศไทย เช่น โรคซาร์ส, ไข้หวัดนก และโควิด-19 ในปัจจุบัน

            ความสำคัญของ งานระบาดวิทยา ในการต่อสู้กับโรคติดต่อในประเทศไทยที่ผ่านมาและปัจจุบันเป็นอย่างไร  เรื่องดังกล่าว นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข-นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา-ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวงการระบาดวิทยาของประเทศไทย เช่นสมัยรับราชการอยู่กรมควบคุมโรค ก็เป็นคนริเริ่มโครงการ SRRT (Surveillance and Rapid  Response Team) หรือ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในภารกิจสอบสวนโรคและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ

                นพ.คำนวณ เริ่มต้นด้วยการพูดถึงเรื่องงานระบาดวิทยาหรือ Epidemiology ในวงการแพทย์ของทั่วโลกว่า  เดิมงานด้านระบาดวิทยาต้องการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ แต่ช่วงหลังขยายไปเรื่องโรคอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากจะย้อนไปดูในอดีตของสังคมโลก เวลาเกิดโรคระบาดใหญ่ๆ  เช่น "โรคห่า" คนก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการย้ายเมืองหนี ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเมื่อโรคระบาดเกิดขึ้น คนก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อสัก  200 กว่าปีที่ผ่านมา มีอหิวาตกโรคระบาดในประเทศอังกฤษ คนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มีหมอคนหนึ่งที่ชื่อ  John Snow (แพทย์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคในกรุงลอนดอนช่วง ค.ศ. 1854 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดานักระบาดวิทยาสมัยใหม่) ก็ใช้ตรรกะว่าต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าโรคติดต่อมีสาเหตุมาจากอะไร มีการติดต่อกันอย่างไร

            John Snow ก็ใช้วิธีเข้าไปในชุมชนที่มีโรคระบาด คืออหิวาตกโรคว่ามีใครป่วยบ้าง มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร เช่นการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ การอยู่อาศัย แล้วไปเทียบกับคนที่ไม่ป่วย จนพบว่าคนที่ป่วยจะมีพฤติกรรมการไปดื่มน้ำจากบ่อน้ำแห่งหนึ่ง จากที่มีอยู่หลายบ่อในพื้นที่ชุมชนดังกล่าวที่คนป่วยส่วนใหญ่มาดื่มกิน เขาก็ตั้งสันนิษฐานว่าอหิวาตกโรคมาจากการดื่มน้ำจากบ่อน้ำดังกล่าว จากเดิมที่คนสมัยนั้นคิดว่าอหิวาตกโรคเกิดจากอาหาร ดังนั้นการไม่ให้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคเลยใช้วิธีหนีออกจากเมือง

            เมื่อได้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวแล้ว นพ.John Snow ก็ตัดสินใจไปเสนอข้อมูลเรื่องนี้กับผู้เกี่ยวข้องในชุมชนให้ถอดปั๊มน้ำดังกล่าวออกจากชุมชน เพราะเมื่อถอดออกไปแล้วชาวบ้านจะไม่สามารถดื่มน้ำจากบ่อนี้ได้ ก็จะไปกินจากบ่ออื่นแล้วจำนวนคนไข้จะลดลง ทางเทศบาลของอังกฤษในตอนนั้นก็ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว จนมีการถอดปั๊มน้ำออกไป จากนั้นก็พบว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคก็ลดลง ทำให้การแก้ปัญหาก็ทำได้โดยง่าย  ตรงประเด็น มีสัมฤทธิผล เรื่องดังกล่าวจึงเป็นที่มาของพื้นฐานเรื่องการควบคุมโรค ที่การจะควบคุมโรคได้ต้องรู้จักโรคนั้นเป็นอย่างดี แล้วสาเหตุหรือปัจจัยของการเกิดโรคดังกล่าวมีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นก็เข้าไปป้องกันที่สาเหตุ  ก็จะทำให้การเกิดโรคระบาดลดน้อยลง จุดนี้คือที่มาของเรื่องงานระบาดวิทยาที่เริ่มเกิดขึ้นมาที่ประเทศอังกฤษก่อนเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว 

            ต่อมาแนวคิดนี้ก็เข้าไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงที่เริ่มมีสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ก็มีคนคนหนึ่งเขาคิดขึ้นมาว่า ต่อไปในอนาคตเวลามีการทำสงครามรบกัน อาจไม่ได้ใช้แค่ขีปนาวุธอย่างเดียว มันอาจมีการใช้ "สงครามเชื้อโรค" เพราะเชื้อโรคมันจะติดต่อกันได้ง่าย เขาก็ไปเสนอรัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานั้นว่า ต้องสร้างกองกำลังทหารที่เป็นหน่วยรบขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ที่เป็นหน่วยข่าวกรอง ที่ไม่ใช่พวกหน่วยที่ใช้อาวุธ เช่นมีคนตายโดยไม่รู้สาเหตุ หน่วยนี้จะเข้าไปสอบสวนเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ แล้วพิสูจน์ให้ได้ว่าการตายดังกล่าวเกิดจากอะไร หลังจากนั้นสหรัฐฯ มีการฝึกนักระบาดวิทยาแบบ Intelligence  Service เป็นหน่วยข่าวกรอง แต่เป็นหน่วยข่าวกรองด้านเชื้อโรค การดูแลสุขภาพ ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ ทำให้การควบคุมโรคไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อหรือไม่ใช่โรคติดต่อ การควบคุมมันตรงประเด็น สัมฤทธิผล

เส้นทางนักระบาดวิทยา

ในวงการสาธารณสุขไทย

                นพ.คำนวณ ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านระบาดวิทยา กล่าวต่อไปว่า ต่อมาความคิดเรื่องการฝึกนักระบาดวิทยาเริ่มขยายตัว โดยประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่อยู่นอกทวีปอเมริกาประเทศแรก ที่นายแพทย์สุชาติ เจตนเสน (ผู้บุกเบิกงานด้านระบาดวิทยาในประเทศไทย)  ก็ไปเอาแนวคิดมาที่ว่าเราจำเป็นต้องมีนักระบาดวิทยา เพราะงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องป้องกันและควบคุมโรค แบบเหวี่ยงแหปูพรม มันสิ้นเปลืองและไม่ได้ผล นพ.สุชาติ ได้เริ่มต้นจัดตั้งทำ โครงการฝึกอบรมนักระบาดวิทยา ที่จะมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคืออย่างพวกแพทย์ ที่ใช้เวลาฝึกสองปีก็จะเป็นแพทย์ระบาดวิทยา และอีกกลุ่มหนึ่งไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นนักวิชาการสาธารณสุข นักควบคุมโรค โดยการฝึกไม่ต้องใช้เวลานานถึงสองปี ใช้เวลาสั้นลงมากกว่าแพทย์ ที่ผ่านมาก็ทำลักษณะนี้กันมาร่วมสี่สิบปี จนประเทศไทยมีนักระบาดวิทยาที่เป็นทั้งแพทย์และไม่ใช่แพทย์ประจำอยู่ในทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ จนถึงตำบล  ทำให้ที่ผ่านมาเวลามีไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ทีมระบาดวิทยาก็จะเข้าไปทำหน้าที่สอบสวนหาสาเหตุของการระบาดแล้วเสนอมาตรการป้องกัน  

            นพ.คำนวณ กล่าวถึงบทบาทที่ผ่านมาของนักระบาดวิทยาในประเทศไทยว่า อย่างสมัยก่อนเวลามีโรคระบาด ซึ่งที่พบบ่อยมากก็คืออาหารเป็นพิษ ก็จะต้องมีคนเข้าไปสอบ นักระบาดวิทยาก็จะเข้าไปสอบเพื่อเก็บตัวอย่างอาหารที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว แล้วถามคนที่มีอาการว่ารับประทานอะไรเข้าไป แล้วก็ต้องพยายามชี้ให้ชัดออกมาว่า อาหารเป็นพิษดังกล่าวเป็นอาหารชนิดไหน อันนี้เป็นงานพื้นๆ ตอนแรก แต่ระยะหลังพอเกิดโรคระบาดอย่างโรคซาร์สเข้ามาแพร่ระบาดในไทย ก็มีความคิดกันว่าจะต้องสร้างทีมนักระบาดวิทยาที่เข้าไปลงพื้นที่แบบนี้ให้ต้องมีประจำอยู่ในทุกอำเภอ

            ...ตอนสมัยไข้หวัดนกก็มีการส่งทีมลงไปสอบเพื่อสอบถามประวัติผู้ป่วย จนพบประวัติอย่างหนึ่งว่ามีไก่ตายที่บ้าน แล้วมีการชำแหละไก่ ก็มีการตามลงไปดูที่พื้นที่ จนพบว่ามีไก่ตาย แล้วก็เก็บตัวอย่างมา จนพบเชื้อในไก่และเชื้อในคน ซึ่งพอสุ่มตรวจแล้วปรากฏว่าเจอเชื้อที่เหมือนกันทั้งในไก่และคน วิธีการเหล่านี้คือวิธีการที่นักระบาดวิทยาใช้ในการสอบสวนโรค พอได้ข้อมูลที่มั่นใจแล้ว ต่อมาก็มีการเสนอใช้มาตรการเพื่อควบคุมอย่างเข้มแข็ง ประเทศไทยจึงมีส่วนในการช่วยหยุดไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่อง  โดยตอนนั้นประเทศไทยมีไข้หวัดนกในคนพบรวมกัน 25  คน แต่หากตอนนั้นเราไม่ทำอะไรเลย เผลอๆ ตอนนั้นเราอาจจะเป็นแบบอู่ฮั่นที่ทำให้เกิดโรคระบาดไข้หวัดนกจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้

             ...ส่วนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team: SRRT)  ของกรมควบคุมโรคจะประกอบด้วยแพทย์ นักวิชาการต่างๆ โดยมีหน้าที่สำคัญสองอย่าง คือ 1.เฝ้ามองว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ 2.หน้าที่ในการออกไปสอบเพื่อให้รู้สาเหตุที่แท้จริง

ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วเกิดขึ้น เพราะเราเห็นความจำเป็นว่าการแพร่เชื้อบางทีจะเกิดขึ้นในระดับรากหญ้า ซึ่งสมัยก่อนเวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะส่งเจ้าหน้าที่ บุคลากรจากส่วนกลางเข้าไปในภาคสนาม แต่ต่อมาเราพบว่าวิธีนี้ไม่ทันกาล และมีความจำเป็นต้องมีนักระบาดวิทยาทำงานอยู่ในระดับรากหญ้า เพื่อจะได้เฝ้าระวังในพื้นที่และสอบสวนโรคได้เอง เพราะหากเราจะใช้แต่แพทย์ระบาดวิทยาที่ใช้เวลาศึกษาสองปีแล้วไปทำงานมันไม่ทันกาล จึงมีการสร้างทีมระยะสั้นขึ้นมาที่ใช้เวลาฝึกสั้นลงมา คือประมาณ 3 เดือนหรือ 6 เดือนเพื่อให้สามารถทำงานเป็นนักระบาดวิทยาได้ ซึ่งเขาก็จะอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็สามารถลงไปสอบสวนได้ทันที อย่าง ไทม์ไลน์การใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด ที่เห็นกันตอนนี้ ก็มาจากที่นักระบาดวิทยาที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ  เช่นในอำเภอเป็นคนไปสอบสวนโรคแล้วทำไทม์ไลน์ขึ้นมา  ทั้งหมดก็คือฝีมือของเจ้าหน้าที่ในงานระบาดวิทยาในพื้นที่ระดับจังหวัด ซึ่งหากไม่มีพวกเขาก็ทำงานกันไม่ทัน

            "หน้าที่ของนักระบาดวิทยา งานด้านระบาดวิทยามีสามหลักคือ หนึ่ง งานด้านการเฝ้าระวัง การเฝ้าดูเพื่อให้รู้ว่าอะไรปกติ อะไรที่ไม่ปกติ หากพบว่ามีความผิดปกติก็เข้าไปสู่งานหลักเรื่องที่สองคือ การเข้าไปสอบสวนให้รู้สาเหตุของมัน โดยหากเกิดสอบสวนโรคแล้วยังมืดมนอยู่ ก็ต้องไปทำภารกิจที่สามคือ การศึกษาวิจัยตามหลักการระบาดวิทยา ที่จะต้องทำแบบมีขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดคือสามเรื่องใหญ่ที่นักระบาดวิทยาถูกฝึกมา"

            ส่วนงานภาคสนามของนักระบาดวิทยา หมายถึงงานที่จะเกิดขึ้นก็เมื่อมีเหตุการณ์แล้วเราต้องการรู้ผลอย่างรวดเร็ว เราไม่มีเวลาเป็นปีๆ เราก็จะเรียกการทำงานในส่วนนี้ว่าเป็นงานระบาดวิทยาภาคสนาม นอกจากนี้ก็หมายถึงการลงไปฝึกการทำงานในภาคสนาม ไม่ใช่แค่นั่งเรียนแต่ในห้องเรียน ห้องอบรม เช่นการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค คนที่มาอบรมกับผู้ให้การอบรมจะเจอกันแค่สัปดาห์ละครั้ง จากนั้นคนที่มาอบรมจะถูกส่งไปสอบสวนโรคในภาคสนาม อย่างเช่นเวลานี้ก็ถูกส่งไปที่สมุทรสาคร ระยอง และจังหวัดต่างๆ ที่พบการติดเชื้อโควิด เราจึงเรียกว่าเป็นนักระบาดวิทยาภาคสนาม

ทำไมประเทศไทย  ขาดแพทย์สอบสวนโรค?

                 -ที่ผ่านมาการให้ความสำคัญกับเรื่องงานระบาดวิทยาในประเทศไทย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ทั้งเรื่องงบประมาณ การพัฒนาบุคลากร?

            ตอนช่วงเกิดโรคไข้หวัดนกขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลเวลานั้นก็อนุมัติ "แผนผลิตนักระบาดวิทยา" ให้ได้จำนวน  200 คน โดยมีการสนับสนุนด้านงบประมาณ ให้มีบุคลากรด้านระบาดวิทยา ให้มีหน่วยฝึกนักระบาดวิทยา รวมถึงมีการกำหนดเรื่องความก้าวหน้าในจังหวัดที่มีนักระบาดวิทยาอยู่

            อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ติดปัญหาเรื่อง หากเทียบระหว่างคนที่อยากเป็นแพทย์ระบาดวิทยา กับคนที่อยากเป็นหมอทำงานในโรงพยาบาล  หรือบุคลากรในโรงพยาบาล ก็พบว่าไม่ค่อยมีคนอยากมาทำงานด้านระบาดวิทยา เหตุผลเพราะว่าลักษณะการทำงานของนักระบาดวิทยาเอาแน่เอานอนไม่ได้ ต้องเป็นแบบ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 คือต้องทำงานแบบ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน แล้วแต่ว่าเหตุการณ์เข้ามาวันไหน คุณต้องพร้อมออกไปทำงาน แรงจูงใจที่ให้คนเข้ามาทำงานด้านระบาดวิทยาจึงยังไม่เพียงพอ ก็ทำให้เรายังขาดนักระบาดวิทยาอยู่

            กระนั้นก็มีนักระบาดวิทยาที่ไม่ได้เป็นแพทย์ที่ประจำอยู่จังหวัดต่างๆ ก็เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมาก แต่ข้อเสียเปรียบของพวกเขาคือ การที่เขาทำงานเป็นนักระบาดวิทยาตอนนี้ เมื่อไปเทียบกับคนที่ทำงานในโรงพยาบาล จะมีค่าตอบแทนที่แตกต่างกันมาก โดยคนที่ทำงานในโรงพยาบาลจะมีค่าเวร ค่าวิชาชีพต่างๆ แต่คนที่ทำงานอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะไม่มีพวกนี้ ก็ทำให้คนก็ไม่อยากอยู่กัน ก็อยากเข้าไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาล  สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ปัจจุบันก็ยังกระจายไม่ครบทุกจังหวัด ก็ต้องใช้บุคลากรใน SRRT ที่ผ่านการฝึกระยะสั้นมาทำหน้าที่

                -ช่วงโควิดเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันที่เป็นโควิดรอบสอง นักระบาดวิทยามีบทบาทอย่างไรบ้าง?

            คนแรกที่มีส่วนบอกว่ามีโรคโควิดเข้ามาในประเทศไทย ก็คือนักระบาดวิทยาที่ไปประจำอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ตอนนั้นพอเริ่มมีข่าวเขาก็คิดเรื่องระบบเฝ้าระวัง เขาก็จัดระบบขึ้นมา ก็ไปเจอคนจีนที่มีไข้เข้ามา เขาก็เก็บตัวอย่างต่างๆ ส่งไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ จนมีผลยืนยันว่าเป็นโควิด และด้วยตัวอย่างดังกล่าว สุดท้ายแล้วก็มีการช่วยกันดีไซน์ระบบการตรวจเชื้อโควิดได้เป็นประเทศแรกๆ ล้ำหน้าสหรัฐอเมริกาไป 3-4  เดือน นี่ก็คือบทบาทของนักระบาดวิทยาที่ไปทำงานด้านการเฝ้าระวังอยู่ที่สนามบิน

            กลุ่มที่สองคือ นักระบาดวิทยาที่ทำงานด้านการเฝ้าระวังในชุมชน ที่ก็ไปเจอผู้หญิงติดโควิด ก็ตั้งข้อสงสัยจนมีการสอบสวนโรค ก็พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในผับ บาร์ สถานบันเทิง จนทำให้รู้ได้ต่อมาว่า สถานบันเทิงเหล่านี้คือ Super-spreading ที่แพร่เชื้อได้เร็ว

            กลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่เกิดขึ้นหลังนักร้องนักแสดงอย่าง  แมทธิว ดีน ประกาศว่าตัวเองติดเชื้อโควิด ก็มีการสงสัยว่าเขาติดได้อย่างไร ก็มีการส่งคนไปสอบ จนพบว่าสนามกีฬาแบบชกมวยก็เป็น Super-spreading จากนั้นเจ้าหน้าที่งานด้านระบาดวิทยาเขาก็ทำงานได้ดีมาก ก็มีการไปตามต่อว่าคนที่เข้าชมมวยในวันนั้น พอออกไปแล้วเขาไปอยู่ที่ไหนจังหวัดใดบ้าง ก็พบว่ามีประมาณ 34-35 จังหวัด ก็ไปพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า คนที่มีเชื้อแต่หากไม่ได้อยู่ในสถานที่ซึ่งจะเป็น Super-spreading ก็ทำให้โอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อไปจะช้าลง และมันจะหยุดการแพร่เชื้อโดยตัวของมันเอง ไม่ต้องไปกังวลจนทำให้ต้องล็อกดาวน์ ไม่ต้อง  แค่ปิด Super-spreading พวกผับ บาร์ สนามมวย

            ทำให้พอมาถึงโควิดรอบที่สองตอนนี้ก็เลยไม่ต้องมีการไปล็อกดาวน์ทั้งหมดก็ได้ แค่ปิด Super-spreading  พวกผับบาร์อะไรต่างๆ ให้ปิดเร็ว ก็ทำให้จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาในโควิดรอบหลังจะแตกต่างจากรอบแรก ทั้งที่สถานการณ์โควิดรอบนี้รุนแรงกว่ารอบแรก โดยไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เราแค่ทำบางส่วน บางคนก็อาจไม่เห็นด้วยที่บางสถานที่ เช่นโรงเรียนมีการปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน ก็คงเพราะคนยังมีความกลัวอยู่ แต่ความรู้ทางด้านระบาดวิทยาค่อยๆ หล่อหลอมนโยบายให้ตรงประเด็นมากขึ้น

            ถ้าผมจะเปรียบเทียบก็คือ นักระบาดวิทยาถูกฝึกให้ใช้โดรนมองหาเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วก็ยิงเป้าหมายแบบโดรน แต่ถ้าเป็นการควบคุมโรคระบาดแบบสมัยเดิมจะใช้วิธีแบบปูพรมทิ้งระเบิดถล่มกันทั้งเมือง ซึ่งเราไม่ชอบใช้วิธีนั้น เพราะวิธีนั้นมันสร้างความเสียหายเยอะมาก แต่เราก็มีข้อจำกัดเพราะจะมีข้อมูลหลักฐาน แต่การตัดสินใจมันมีบริบทเยอะมาก ดังนั้นที่ถามว่านักระบาดวิทยาช่วยอะไรได้บ้างในตอนนี้ ก็คือไปสอบสวนได้ข้อเท็จจริงมา แล้วก็เสนอฝ่ายบริหารไป แต่การตัดสินใจจะทำมันขึ้นอยู่กับคนอื่น

                -โควิดรอบสอง นักระบาดวิทยาเริ่มเห็นสัญญาณการแพร่เชื้ออย่างไร ถึงรุดเข้าไปสุ่มตรวจแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจำนวนมากที่สมุทรสาคร?

            ก็พอมีผู้หญิงไทยที่เป็นแม่ค้าขายแพกุ้งในตลาดไม่สบาย ที่เมื่อเห็นว่าเป็นปอดบวมมา ที่ในช่วงนี้ก็ต้องตรวจโควิด พอตรวจเจอโรงพยาบาลก็แจ้งนักระบาดวิทยาในจังหวัดสมุทรสาคร ก็ทำให้มีการส่งคนลงไปตรวจในพื้นที่  จนพบว่าไม่ใช่แค่แม่ค้าคนเดียวที่ติดโควิด แต่ลูกจ้างชาวเมียนมาของเขาก็ติดเชื้อด้วย ก็ไปพบว่าพวกแรงงานต่างด้าวพักอาศัยกันแออัดมาก นักระบาดวิทยาในพื้นที่ก็เลยค้นหาเชิงรุกจนพบว่ามีการติดกันจำนวนหนึ่ง เลยมีการเสนอมาตรการให้คุมพื้นที่เอาไว้ก็เป็นวิธีการทางระบาดวิทยา

            เรื่องโควิดสักหนึ่งเดือนผ่านไป เหตุการณ์ก็คงค่อยๆ ลดลงไป เพราะว่ามีการพยายามจะปิดสาเหตุของมัน ที่เป็น 3 บ.ในโควิดรอบนี้ ที่เป็น Super-spreading คือ 1.บ.บ่อน ที่เป็นสาเหตุใหญ่ 2.บ.บันเทิง  3.บ.บ้านที่อยู่อาศัย  คนจะติดจาก 3 บ.นี้ ส่วนที่อาจจะไปติดจากร้านอาหารก็อาจมีบ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะกระพือการระบาด ซึ่งกรณีของสมุทรสาครเป็นเรื่องบ้าน ที่แรงงานต่างด้าวพักอาศัยกันแออัด แล้วเราจะไปบอกให้เขาทำ Social  Distancing มันทำไม่ได้ ก็จะมีความสลับซับซ้อนมาก แต่จังหวัดอื่นๆ น่าจะจัดการได้เพราะมีการจัดการต้นตอแล้ว  ตอนนี้ก็ใช้วิธีการตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยใครที่ตรวจแล้วเจอเป็นบวกก็ต้องไปอยู่ รพ.สนามเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ แล้วก็มีการเข้าไปตรวจเป็นระยะ สุดท้ายจำนวนการติดเชื้อก็คงลดลง

            สำหรับการฉีดวัคซีน เมื่อนำมาใช้ฉีดกับคนไทยภาพรวมก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว โดยเมื่อใดก็ตามที่เราฉีดวัคซีนกันได้ในจำนวนประชากรสัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ การแพร่เชื้อก็จะลดลง เมื่อตัวเลขลดลงก็จะทำให้หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศได้อย่างคลายกังวล คนจะกล้าเดินทางมากขึ้น

            สำหรับตัวเลขเรื่องการติดเชื้อแต่ละวัน สิ่งสำคัญคือหากเรารู้ว่าตัวเลขการติดเชื้อที่พบ คนที่ติดเชื้อติดมาจากกลุ่มไหน แล้วแพร่ด้วยวิธีไหน เราจัดการได้ อันนี้ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าตัวเลขออกมาแล้วไม่สามารถรู้ได้ว่าติดมาอย่างไร อย่างนี้จะลำบาก อย่างที่มีการเอ่ยถึงคนที่ติดเชื้อแล้วบอกว่าเชื่อมโยงมาจากการไปสถานบันเทิงหรือติดมาจากบ่อน หากอธิบายที่มาได้หมดก็แสดงว่าวินิจฉัยโรคได้  ก็สามารถจัดการได้ แต่หากแถลงพบว่าติดเชื้อ 50 ราย  โดยมี 25 รายที่ติดเชื้อโดยไม่รู้สาเหตุ ถ้าแบบนี้ต้องตกใจแล้ว แสดงว่าการแพร่ระบาดมันไม่รู้ที่มาที่ไป

            -งานระบาดวิทยามีความสำคัญแค่ไหนกับการควบคุม ป้องกันโรคติดต่อ?

            การควบคุมโรคซึ่งแบบเดิมเป็นลักษณะการคิดเอา  เช่นสาเหตุมันน่าจะเป็นแบบนี้ แล้วก็ใช้วิธีการควบคุมแบบนี้ หรือแบบที่บอกต่อๆ กันมา แต่นักระบาดวิทยาจะใช้การควบคุมโรคแบบที่เรียกกันว่า ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ใช้ความรู้ ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การควบคุมโรค ซึ่งวิธีการแบบนี้มันจะมีความแม่นยำ ลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์และสร้างผลสัมฤทธิ์สูง ถ้าหากเราใช้หลักระบาดวิทยามาใช้ในการควบคุมโรคมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งควบคุมโรคได้ผลดี และไม่สร้างผลกระทบกระเทือนในวงกว้างมาก

            ส่วนบทบาทของนักระบาดวิทยากับเรื่องโควิดมีความสำคัญมาก เพราะนักระบาดวิทยาไปช่วยเฝ้าระวังว่ามีเหตุเกิดที่ไหน แล้วก็พยายามไประงับเหตุไม่ให้มันแพร่ขยายวงออกไป และให้ข้อเสนอแนะการควบคุมโรคที่แม่นยำ ตรงประเด็น เช่นที่ให้ปิดสถานที่บางแห่งที่จำเป็นเช่นสถานบันเทิง พวกนี้ต้องอาศัยการสอบสวนโรคเชิงระบาดวิทยา

                -ในอนาคตเมื่อหมดโควิดแล้ว การเตรียมพร้อมหากมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย  บุคลากรของงานระบาดวิทยามีความพร้อมแค่ไหน?

            ทุกๆ 5-7 ปีจะมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้น พอจบโควิดนักระบาดวิทยาก็ไม่ได้พัก เขาก็ต้องเตรียมรับมือกับโรคใหม่ๆ  ต่อไป ซึ่งดีที่เรามีนักระบาดวิทยาทุกสาขา เรามีคนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ  ก็มีการจับตามองดูว่าจะมีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมการรับมือ  ซึ่งที่สำคัญก็คือโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เช่นพวกไข้หวัดใหญ่ พวกนี้จะมารบกวนเราอยู่เรื่อยๆ ซึ่งต้องไม่ประมาท.

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"