อย.เผยไม่มีกฎหมายควบคุม "ชาเขียว-น้ำอัดลม" ห้ามทำการตลาดชิงโชค มีแต่ประกาศคุม "เครื่องดื่มกาเฟอีน" ที่ห้ามโฆษณาชักจูง โน้มน้าว
11 พ.ค.61-นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการควบคุมการชิงโชคเครื่องดื่มประเภทชาเขียวหรือน้ำอัดลม ว่า ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 แล้ว เราไม่มีการควบคุมเรื่องของการชิงโชค ซึ่งเรื่องของการชิงโชคจะเป็น พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ต้องยื่นขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทย และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยส่วนของ อย.จะมีเพียงประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน พ.ศ. 2555 เท่านั้น ซึ่งห้ามเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ทีห้ามโฆษณาโน้มน้าวชักจูงให้บริโภค
นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การโฆษณาดังต่อไปนี้ ถือว่าเข้าข่ายเชิญชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน โดยทางตรงหรือทางอ้อม คือ 1.โฆษณาทำให้เกิดทัศนคติว่า การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนจะทำให้เพิ่มกำลังงาน มีพลังทำงานได้มากขึ้น หรือทำให้ประสบความสำเร็จทางสังคมและทางเพศ 2.โฆษณาที่ใช้นักกีฬา ผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้แสดงแบบโฆษณา 3.โฆษณาที่ใช้ดารา นักร้อง นักแสดง ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้แสดงแบบโษณา และ 4.โฆษณาที่ชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค เพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล ทั้งนี้ การโฆษณาต้องแสดงคำเตือนคือ ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ซึ่งหากผิดจากนี้จะมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ส่วนชาเขียวและน้ำอัดลมแม้บางส่วนจะมีกาเฟอีน แต่ส่วนผสมน้อยมาก และไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องดื่มประเภทกาเฟอีน ซึ่งหากจะควบคุมเรื่องของการชิงโชค จึงควรเป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือมหาดไทยมากกว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องควบคุมเรื่องของกาเฟอีน เพราะมีเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนออกมามากขึ้น มีการผสมกาเฟอีนที่มากไปกว่าปกติ และโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดื่ม แต่ชาเขียว น้ำอัดลม มีกาเฟอีนโดยธรรมชาติ ไม่ได้เป็นการเติมเข้าไป" นพ.พูลลาภ กล่าว
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการควบคุมโฆษณาน้ำอัดลมหรือชาเขียว แบบเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะมีปริมาณน้ำตาลมาก ส่งผลต่อสุขภาพ นพ.พูลลาภ กล่าวว่า ตอนนี้ หากจะควบคุมก็ต้องผ่านคณะกรรมการอาหารในการพิจารณา ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าสถานการณ์มีมากน้อยแค่ไหน จำเป็นที่ต้องมีการหรือไม่ แต่เราพยายามเน้นในเชิงบวกมากกว่า ในการให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีน้ำตาลน้อยลง ซึ่งให้มีการผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยๆ ออกมาจำนวนมากจะดีกว่า ซึ่งก็ยอมรับว่ามีเยอะขึ้น โดยขณะนี้ก็มีเครื่องดื่มที่มาขอและได้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)" ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์ โดยมีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือ 6% ก็มีมากกว่า 400 ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแล้ว และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างชาเขียวก็มีจำนวนมากที่ได้ฉลากทางเลือกสุขภาพ
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงราวปี 2546 ที่ อย.มีการออกประกาศควบคุมไม่ให้เครื่องดื่มชูกำลังมีการชิงโชค แจกของรางวัลต่างๆ เป็นการขอความร่วมมือและออกประกาศโดยที่ อย.ไม่มีฐานอำนาจ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า อย.ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปควบคุมเรื่องของการชิงโชค ส่วนที่ว่าการโฆษณาชิงโชคเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโน้มน้าวชักจูงตามประกาศ อย.หลักเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน พ.ศ. 2555 ที่ควบคุมเรื่องกาเฟอีนหรือไม่นั้น ก็เคยมีการตีความแล้วว่า ค่อนข้างก้ำกึ่งและไม่ได้อยู่ในฐานอำนาจของ อย. จึงทำให้ปัจจุบันยังคงมีการโฆษณาชิงโชคกันได้ เพราะผู้ที่สามารถอนุมัติเป็นส่วนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478.