“หมอธี” เอาจริง กวาดล้าง ปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวซ้ำซ้อน โรงเรียนเอกชน สั่ง ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ชี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาเชิงระบบหรือข้อมูล แต่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทำงานลูบหน้าปะจมูก ตรวจพบแล้วแต่ไม่เอาผิดซึ่งกันและกัน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 2/2561 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการทุจริตเงินอุดหนุนของภาคเอกชน ที่เกิดขึ้นในบางสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) โดยได้มอบมาตรการให้มีการสุ่มตรวจในแต่ละพื้นที่ รวมถึงให้มีการติดตามทางการข่าว และจะขึ้นบัญชีโรงเรียนที่แต่งตัวเลขนักเรียนด้วย นอกจากนั้นจะเน้นให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะที่ผ่านมาเรื่องการทุจริต ส่วนใหญ่เกิดจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง และมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ตรวจพบแล้วแต่ไม่เอาผิดซึ่งกันและกัน เป็นการลูบหน้าปะจมูก ไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดปัญหาการทุจริตขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวซ้ำซ้อน ไม่ใช่เป็นปัญหาเชิงระบบหรือข้อมูล เพราะขณะนี้มีข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วพอสมควร ว่าโรงเรียนไหนซ้อนกับใคร และมีการเชื่อมกับกระทรวงมหาดไทยผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ได้ แต่กระบวนการที่ลงไปจัดการเวลามีปัญหาการทุจริตต่างหากที่ล่าช้าและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ อนาคตต้องมีข้อมูลที่ทุกหน่วยต้องเป็นข้อมูลเดียวที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงาน กำลังดำเนินการอยู่
“หลังจากนี้จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะไม่มีการปฏิบัติงานอย่างละหลวมเช่นที่ผ่านมา โดยในส่วนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ผมจะมอบอำนาจส่วนการศึกษาทั้งหมด ให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด เพื่อจะได้ตรวจสอบเรื่องนี้และบูรณาการเรื่องอื่นๆ ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นจะให้ทาง สช.ในพื้นที่รายงานข้อมูลต่อรัฐมนตรีที่กำกับ โดยสช.ต้องให้ข้อมูลที่รวดเร็วในทุกเรื่อง เช่น คนที่แจ้งข้อมูลเท็จเรื่องจำนวนรายหัวของนักเรียนจะต้องถูกลงโทษ และจะมีการขึ้นแบล็คลิสต์ว่าเป็นโรงเรียนที่มีการส่งข้อมูลเท็จ จะมีการจับตารายงานของโรงเรียน และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น”รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายพะโยม ชินวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า สำหรับระบบการติดตามและตรวจสอบเรื่องการอุดหนุนรายหัวซ้ำซ้อนอยู่แล้ว โดยที่โรงเรียนจะต้องรายงานจำนวนนักเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานมาที่ สช.อำเภอ เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อนที่จะส่งข้อมูลให้ สช.จังหวัด และนำข้อมูลมารวบรวมไว้ที่ระบบฐานข้อมูลกลางของ สช. ซึ่งเมื่อเข้าระบบแล้วจะทราบทันทีว่าพื้นที่ไหนมีความซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่จะทราบเฉพาะโรงเรียนในสังกัดของ สช.เท่านั้น สำหรับการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับระบบฐานข้อมูลกลางของ ศธ. ซึ่ง สป. เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ สช. จะใช้วิธีการสุ่มแจงนับ คือ สุ่มโรงเรียนและลงพื้นที่โรงเรียนไปนับจำนวนนักเรียนว่าตรงกับที่เอกสารที่รายงานหรือไม่ เพราะเมื่อมีการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง จะส่งให้ให้พื้นที่อื่นๆ ไม่กล้าที่จะกระทำผิด อีกทั้ง สช.เองให้โรงเรียนรายงานเอกสารหลักฐานของนักเรียนมาปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนแรกของการเปิดภาคเรียน ทั้งภาคเรียนที่ 1 และ 2 เพราะจำนวนนักเรียนมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ซึ่งตนเชื่อว่าการดำเนินการในลักษณะจะทำให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |