ตีกรอบฉีดวัคซีน! ห้าม‘ตํ่า18-ท้อง’


เพิ่มเพื่อน    

 เปิดไทม์ไลน์วัคซีน 3 ระยะ สตาร์ท ก.พ. กลุ่มเป้าหมาย 4 อันดับแรก เริ่มต้นที่ด่านหน้าบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐ-เอกชน ยกเว้นฉีดหญิงมีครรภ์-เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ "อนุทิน" ระบุวาง 1 ปีคลุมทั้งประเทศ ด้าน "บิ๊กตู่" ระบุเดินเครื่อง 26 ล้านโดสที่รัฐบาลสั่งจอง มิ.ย.

    เมื่อวันศุกร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับคนไทย โดยยืนยันว่าจะขอเป็นผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรกเหมือนเดิมที่เคยยืนยันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งวัคซีนสำหรับการป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในโลกนี้ มีการพิสูจน์และยืนยันแล้วว่า ต่อให้มีประสิทธิผลเพียง 50-60-70 % ก็แล้วแต่ แต่ทุกวัคซีนไม่ทำให้โรคนี้พัฒนาไปจนอาการหนัก
    วันเดียวกัน ในเวลา 15.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นำคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสถานการณ์วัคซีนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หลังจากนายกฯ ได้แต่งตั้ง นพ.โสภณ เมฆธน เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ จึงได้พามารับนโยบาย
    นายอนุทินกล่าวด้วยว่า นายกฯ ได้กำชับเรื่องการจัดทำแผนกระจายวัคซีนว่าต้องรวดเร็วและโปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เน้นความปลอดภัย และต้องจัดหาวัคซีนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งทุกวันนี้เราได้ดำเนินการหลายขั้นตอนไปแล้ว วัคซีนที่เราสั่งอยู่ในมือแน่ๆ คือจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส เดือน มิ.ย.จะเริ่มส่งล็อตแรกเข้ามาถึงไทย
    "ขณะเดียวกัน จากนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย. จะมีการเจรจากับทาง บริษัท ซิโนแวค ขณะที่ทางบริษัท ซิโนแวค รอผลการขึ้นทะเบียนกับจีนอยู่ นอกจากนี้ก็ยังต้องเจรจาอีกหลายๆ เจ้า คือทั้งหมดต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน ตอนนี้บริษัทที่มาขอขึ้นทะเบียน มีเพียงบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นเอง หากวัคซีนบริษัทจากประเทศไหนมาขอจดทะเบียนที่ไทย เราก็ยินดีพิจารณา ซึ่งจะต้องดูเอกสารให้ถูกต้อง เราก็อนุมัติอยู่แล้ว" นายอนุทินระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พิจารณาการจัดวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างไร เพราะทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศจะซื้อมาฉีดประชาชนในพื้นที่ แต่บางส่วนเกรงว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำ นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลไทยจะฉีดให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนอย่างทั่วถึงไม่มีเหลื่อมล้ำ หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขคือฉีดให้ประชาชนทุกคนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องของท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องที่ตนจะพูดได้
    เมื่อถามว่า จะกลายเป็นว่ารัฐบาลผลักภาระให้ท้องถิ่นจัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชนในพื้นที่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยคิดจะผลักภาระ ทุกวันนี้คุยกันถึงจำนวนประชาชน 70 ล้านคน เอาฐานตัวเลข 70 ล้านคนมาคำนวณ ฉีดให้ครบโดสแล้วไม่ต้องฉีดซ้ำซ้อน
อนุทินตั้งเป้า 1 ปีฉีดหมด
     เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ทั่วประเทศภายในระยะเวลาเท่าไหร่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้ทางกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการฉีด เรื่องนี้ถือเป็นวัคซีนใหม่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้นการฉีดในช่วงแรก จากที่กรมควบคุมโรคอธิบายมาต้องมีการฉีดในสถานพยาบาลก่อน เพราะต้องมีการเฝ้าระวังสังเกตการณ์หลังการฉีด เมื่อตัวเลขนิ่งสถานการณ์ดีก็สามารถเร่งทยอยฉีดได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ในห้วงเวลา 1 ปีนี้ที่จะฉีดให้หมด และครั้งนี้ถือเป็นการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่เคยมีมา ก็จะต้องมีการวางแผนให้ดี
    ด้าน นพ.โสภณกล่าวว่า วันนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด ซึ่งมีชุดที่ทำเรื่องการสื่อสารด้วย และคุณภาพวัคซีน การลงแอปพลิเคชัน การลงทะเบียนติดตามการรักษาหลังการฉีด เข้าใจว่าเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนรัฐบาลอาจขอความร่วมมือในการช่วยฉีดวัคซีน เพราะนายกฯ ต้องการให้คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้ฉีด ดังนั้นต้องช่วยกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนไทยว่าใครจะฉีด-ไม่ฉีด และเรียงลำดับความสำคัญ วัคซีนทยอยเข้ามา ไม่ได้เข้ามาทีเดียว 70-80 ล้านโดส
    "ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการ แต่ระยะแรกคงไปโมบายไม่ได้ ต้องระมัดระวัง ถ้าฉีดแล้วมีผลข้างเคียงจะเสียหายมาก ระยะแรกต้องใช้โรงพยาบาลใหญ่ 700-800 แห่ง ถ้ามั่นใจก็ไประดับตำบล และถ้ามั่นใจก็ออกเคลื่อนที่ สรุปแล้วการวางแผนจะเร่งฉีดให้เร็วที่สุด ขอให้ใจเย็นๆ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้วัคซีนจะมาตอนไหน" นพ.โสภณกล่าว
    เมื่อถามว่า หากภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนมาแล้วผ่านตรวจสอบคุณภาพจาก อย.ไทยเรียบร้อย เขาสามารถกำหนดราคาวัคซีนเองได้ใช่หรือไม่ หรือทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการควบคุมราคาวัคซีน นพ.โสภณกล่าวว่า ต้องรอทาง อย.จะว่าอย่างไร แต่ถ้าเราให้ฟรีทุกคนแล้ว หากมาช้าแล้วมีเอกชนสั่งเข้ามา ใครคิดจะฉีดก่อนมันก็แล้วแต่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัคซีนว่ามีหรือเปล่า และเอกชนจะหามาได้หรือเปล่าด้วย ส่วนเรื่องต้นทุนที่มองว่ารัฐบาลซื้อมาในราคาแพงนั้น เราสามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว ต้องดูที่ชนิดวัคซีน ปริมาณการสั่งซื้อ เวลาสั่งซื้อด้วย อย่าดูปัจจัยที่ราคาอย่างเดียว แต่ช่วงนี้ตลาดเป็นของคนขาย แต่เราก็ทำด้วยความโปร่งใส ข้อมูลเหล่านี้สามารถตรวจสอบและถามได้ไม่มีปัญหา
    เมื่อถามว่าวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะอยู่ในกลุ่มแรกที่ต้องฉีด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ์ที่ควรได้ฉีดตามกลุ่มเป้าหมาย แต่คนไทยคนไหนจะฉีดหรือไม่ฉีดขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ต้องชั่งน้ำหนักเอาเอง ตนจะไปบอกแทนไม่ได้ ส่วนที่มีข่าวว่าคนที่ศัลยกรรมใบหน้า ฉีดโบท็อกซ์ไม่ควรรับวัคซีนนั้น ยังไม่มีข้อมูลแบบนี้ ต้องดูว่าเอาข้อมูลมาจากไหน อ้างอิงจากใคร ถ้าเป็นแค่ข่าวส่งต่อกันต้องเช็กดูว่าจริงหรือไม่ วัคซีนแต่ละตัวมีข้อบ่งชี้ข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกัน
เปิดแผนฉีดวัคซีน 3 ระยะ
    ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ 1.ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
    นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่มกราคม 2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน
    นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่มีข้อมูลไม่มาก ที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้ตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน 6 ชุด ได้แก่ คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสื่อสารประชาสัมพันธ์ คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับใน 4 สัปดาห์ หากการสอบสวนพบว่าการให้วัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้หรือมีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง จะมีการหยุดฉีดวัคซีนทันที และคณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
     “วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่สำคัญที่เรามีวันนี้ก็คือการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ เว้นระยะห่าง ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังคงใส่หน้ากาก 100% วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งจะช่วยเสริมทำให้ระบบป้องกันควบคุมโรคดีขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
    วันเดียวกัน  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่า จากการประชุมอัพเดตเรื่องวัคซีนขณะนี้ ศูนย์ผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจากประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การผลิตวัคซีนแต่ละล็อตนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งระยะเวลาในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเร่งรัดข้ามขั้นตอนได้ เพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง
    "หากเป็นไปตามแผน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกจะพร้อมฉีดให้ประชาชนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนก่อน และได้เจรจาขอซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากขึ้น สิ่งที่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบก็คือ การที่เราเป็นฐานการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเนซเนก้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่ผลิตได้เร็วขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    พล.อ.ประยุทธ์ระบุด้วยว่า นอกจากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้สั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวคประเทศจีนจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผมได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการวางแผนงานการฉีดวัคชีนตั้งแต่ตอนนี้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวางแผนการกระจาย การจัดส่งวัคซีน การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนต้องตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)? พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีผู้สมัครนายกและสมาชิกสภาเทศบาลจะนำประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดไปใช้ในการหาเสียงว่า หากเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นก็สามารถจะทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือจูงใจให้เลือก ไม่เหมือนกับประกาศว่าจะยกเงินเดือนทั้งเดือนให้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ ไม่สามารถทำได้
    ที่ จ.อ่างทอง ที่บริเวณสำนักงานเทศบาลเมืองอ่างทอง นางสาวอรวรรณ สุวพันธุ์ รองนายกเทศมนตรี กล่าวว่า เทศบาลเมืองอ่างทองเตรียมจัดงบประมาณ 13 ล้านบาท เพื่อทำการวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง ทุกคน หากรัฐบาลไฟเขียว พร้อมจะดำเนินการทันที
    ขณะที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวจัดเตรียมเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชากรในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 5 ล้านคน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"