ชวนเด็กขยับกายสกัด "โรคอ้วน" อันตรายเงียบ..ชีวิตนิวนอร์มอล


เพิ่มเพื่อน    

 แนะพ่อแม่ชวนลูกหลานทำกิจกรรม แก้ปัญหาช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ

                “โรคอ้วนในเด็ก” เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กระทบต่อสุขภาพของเยาวชนไทย โดยเฉพาะน้องๆ หนูๆ ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มักมีแนวโน้มอ้วนง่ายอยู่แล้ว เพราะเด็กยุคนี้ติดโซเชียลจนไม่ยอมออกไปวิ่งเล่น รวมถึงอาหารการกินของคนยุคใหม่ที่เปิดรับทั้งวัฒนธรรมการบริโภคอาหารขยะ หรือแม้แต่การพึ่งบริการสั่งอาหารออนไลน์ ที่นอกจากทำให้คนไม่อยากย่างกรายเดินไปซื้ออาหารรับประทานแล้ว การบริโภคอาหารที่มีไขมันมากขึ้น หรือแม้แต่แม่บ้านยุคใหม่ที่เริ่มหันหน้าเข้าครัวน้อยลง เพราะสามารถโทรสั่งอาหารมาให้ลูกๆ และสมาชิกในบ้านรับประทานได้โดยไม่ต้องเข้าครัวให้เสียเวลา ประกอบกับช่วงนี้มีคำสั่งจากภาครัฐ ให้เด็กปิดเรียนไปถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย ทำให้น้องๆ หนูๆ วัยเรียน จำเป็นต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน นั่นจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กเคลื่อนไหวน้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะอ้วนลงพุงในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน

            งานนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะเบาหวานและอ้วนลงพุงในเด็ก ตลอดจนอาจารย์นักกิจกรรมบำบัด มาให้ข้อมูลและคำแนะนำในการรับมือกับปัญหาน้ำหนักเกินในเด็กไทยไว้น่าสนใจ

            ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. บอกว่า ปัจจุบันเรายังไม่ได้มีการเก็บสถิติเรื่องเด็กอ้วนมากขึ้นหรือไม่ หรือมีเปอร์เซ็นต์เด็กอ้วนขึ้นมากแค่ไหน แต่ในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เด็กต้องหยุดอยู่บ้านนานขึ้น หรือบางคนก็เรียนหนังสือผ่านออนไลน์ก็ตาม ย่อมส่งผลทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือขยับเขยื้อนร่างกายน้อยลงในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้าน และกินอาหารที่มีไขมันสูงมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ทำให้เด็กไทยอ้วนขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

“ซึ่งจากข้อมูลของภาควิชาเด็ก ได้เคยจัดทำข้อมูลไว้เบื้องต้น พบว่า การที่เด็กมีภาวะน้ำหนักตัวเกินนั้น พบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป กระทั่งถึงอายุ 12 ปี โดยเฉพาะเด็กที่เรียนในโรงเรียนเอกชนที่ค่อนข้างมีฐานะ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะสามารถซื้ออาหารจังก์ฟู้ดรับประทานได้ค่อนข้างง่ายกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนของภาครัฐ ประกอบกับในโรงเรียนเอกชนก็มักจะมีอาหารในรูปแบบของชาวตะวันตกให้เด็กได้เลือกรับประทานมากกว่าเด็กในโรงเรียนรัฐทั่วไป และในอาหารกลุ่มดังกล่าวก็จะอุดมไปด้วยเกลือ น้ำตาล และไขมันค่อนข้างสูง ที่เมื่อรับประทานแล้วทำให้เป็นโรคอ้วนหากเด็กไม่ได้ออกกำลังกายที่เพียงพอ"

คุณหมอกล่าวว่า ดังนั้นในช่วงนี้ที่เด็กปิดเรียนนานขึ้นนั้น อยากเตือนพ่อแม่อย่าให้ลูกนั่งเฉยๆ หรือกินอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป เพราะนั่นจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหมอจึงแนะนำให้เลี่ยงกินอาหารที่มีพลังงานสูงอย่างไขมันและมีน้ำตาล ซึ่งอันที่จริงแล้วอาหารเหล่านี้ค่อนข้างอร่อยและห้ามยากในเด็กเล็ก ดังนั้นทางที่ดีผู้ปกครองควรเพิ่มผักและผลไม้ลงในอาหาร ในช่วงที่ลูกหลานต้องหยุดเรียนเป็นเวลายาวนาน และแม้ว่าในบางโรงเรียนจะมีการพัฒนาสูตรอาหารกลางวันของเด็กให้มีผักผลไม้ในมื้ออาหารแล้วก็ตาม แต่ในช่วงที่เด็กต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็ยิ่งต้องให้ความใส่ใจเรื่องผักผลไม้ในมื้ออาหารของเด็กให้มากขึ้น

ที่สำคัญแนะนำว่า ให้พ่อแม่หากิจกรรมให้ลูกๆ ทำ เช่น ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย ด้วยการออกไปวิ่งเล่น ซึ่งมีประโยชน์คือ ทั้งทำให้ร่างกายของเด็กเติบโต เนื่องจากขณะที่เด็กวิ่งเล่นร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยทำให้เจริญเติบโตออกมา และการที่เด็กได้วิ่ง และกระโดด กระทั่งการโหนบาร์ จะทำให้เด็กมีมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญให้ลูกกินอาหารที่ดีและดื่มนมแทนเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพราะนมจะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงอีกทางหนึ่ง ในขณะที่เด็กซึ่งมีภาวะอ้วนนั้นจะมีปริมาณไขมันในร่างกายสูง มวลกระดูกและกล้ามเนื้อไม่เพิ่มจำนวนแต่อย่างใด”

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี ให้ข้อมูลอีกว่า “อันที่จริงนั้นเด็กควรบริโภคอาหารในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมตามตารางการเจริญเติบโต ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเด็กอายุ 12 ปี และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 160 เซนติเมตร หากเป็นเด็กผู้ชายก็ควรบริโภคอาหารไม่เกินวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ส่วนเด็กผู้หญิงที่อายุและความสูงเช่นเดียวกัน ก็จะต้องบริโภคอาหารในแต่ละวัน น้อยกว่าเด็กผู้ชายคิดเป็น 300-500 กิโลแคลอรี พูดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 12 ปี และสูง 160 เซนติเมตร จะต้องบริโภคอาหารในแต่ละวันอยู่ที่ 1,500-1,700 กิโลแคลอรี”

 

----------------------------

 

ขยับกายได้สาระ..ตามช่วงวัย

ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า “สำหรับการเลือกกิจกรรมบำบัด สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น อาจารย์ขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเด็กอายุ 1-7 ปี 2.กลุ่มเด็กอายุ 8-14 ปี และ 3.กลุ่มเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่อาจจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง หากขาดซึ่งกิจกรรมในการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกาย

กลุ่มเด็กอายุ 1-7 ปี

เด็กกลุ่มนี้ เป็นช่วงวัยที่ต้องการเรื่องการฝึกหัด หรือฝึกความตั้งใจ ดังนั้นจึงเป็นช่วงอายุ ที่ควรได้เรียนรู้ทักษะทางด้านสังคม โดยเฉพาะการที่เด็กต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน การเรียนรู้ของเขา ก็ควรที่จะเรียนรู้ในรูปแบบของครอบครัว และในทุกๆ กิจกรรมนั้น สมาชิกทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน เช่น การเตรียมอาหาร การช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน หรือทำความสะอาดบ้าน กระทั่งหากบ้านไหนที่พอมีพื้นที่ ก็อาจจะช่วยกันปลูกผักสวนครัวกินได้ด้วยกัน นอกจากนี้กิจกรรมบำบัดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่สมาชิกสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยกัน คือ การดาวน์โหลดเล่นแอปพลิเคชัน "Brainy2Blessly" ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความจำ ซึ่งจะทำให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันดุว่าแต่ละคนนั้นมีความจำเป็นอย่างไร และนอกจากภายในแอปพลิเคชันจะบอกถึงเรื่องความจำแล้ว ยังสะท้อนความสุขในอีก 4 หมวดด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นจะทำให้สมาชิกแต่ละคนรู้ว่าเขามีความสุขในการใช้ชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้เวลาที่เด็กๆ ใช้สายตาจากการอยู่กับหน้าจอมือถือหรือสมาร์ทโฟนเยอะในช่วงที่ต้องกักตัวนั้น การออกกำลังกายด้วยการทำงานบ้านก็เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ทั้งนี้พ่อแม่จะต้องทำให้เด็กดูเป็นแบบอย่าง โดยไม่ออกคำสั่ง เพราะเด็กวัยนี้จะต่อต้านและไม่อยากทำ นอกจากนี้ยังสามารถเล่นกีฬาเป็นกลุ่ม เช่น การวิ่งเหยาะๆ อยู่กับที่ หรือการที่สมาชิกแต่ละคนวิ่งเป็นวงกลมด้วยกันโดยใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีต่อวัน แต่พยายามสับเปลี่ยนกิจกรรมให้ต่อเนื่อง เป็นต้น วันนี้ถูบ้าน พรุ่งนี้วิ่งออกกำลังกายแบบเหยาะๆ ด้วยกัน ก็พยายามผสมผสานงานบ้านให้เป็นการออกกำลังกายที่สลับกันไป

กลุ่มเด็กอายุ 8-14 ปี

วัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้ที่จำเป็นต้องใช้ความรู้สึกร่วม เช่น เด็กกลุ่มนี้จะต้องเป็นฝ่ายที่คิดในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยการที่พ่อแม่เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักช่วยเหลือผู้ที่แย่กว่าเรา โดยการไปบริจาคทาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อาจจะทำตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือแม้แต่การทำข้าวต้มมัดเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ซึ่งกิจกรรมนี้เด็กๆ ก็จะไม่ต้องอยู่กับที่ โดยทุกๆ 10 นาที เด็กๆ จะต้องเดินไปเดินมาในการปรุงเมนูขนมหวานนี้ ที่สำคัญวัยนี้เป็นวัยที่ชื่นชอบศิลปะและเสียงดนตรี ดังนั้นขณะที่กำลังทำข้าวต้มมัดก็อาจจะเปิดเพลงคลอเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และได้ขยับเขยื้อนร่างกาย

กลุ่มเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป

วัยนี้เป็นช่วงวัยที่กระบวนการด้านความคิดจะเป็นเรื่องบวก ดังนั้นกิจกรรมที่เหมาะสมคือ การกีฬาทุกประเภท รวมถึงกีฬากลางแจ้งที่เล่นเป็นทีม ทั้งนี้ผู้ปกครองอาจจะชวนลูกๆ มาเล่นกีฬาเป็นทีม เช่น การตีปิงปองบนโต๊ะ หรือเล่นเกมหมากฮอสบนกระดาน โดยอาจจะสลับวันเล่น วันพุธ วันศุกร์ และวันเสาร์ เล่นกีฬากลางแจ้ง ส่วนวันจันทร์และวันอังคารเล่นเกมหมากฮอสบนกระดาน เป็นต้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"