14 ม.ค.64 - นายสุวรรณวัตร โคว้วรกุล กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจของกิจการร่วมค้าออลซีนิท ทีเอเอส ผู้เข้าร่วมประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง)การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานรัฐ 2 โครงการรวม 3 ลำ งบประมาณรวม 2,255 ล้านบาท เปิดเผยว่า ถูกกีดกันในการเข้าประมูลอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และหน่วยงานเจ้าของโครงการ แจ้งให้คู่แข่งเป็นผู้ชนะเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ และหักล้างข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาทุกประเด็น
"ซึ่งหากเกิดการจัดซื้อจริงตามที่ดำเนินการจะทำให้รัฐซื้อของแพงเกินจริงเกือบ 370 ล้านบาท"
นายสุวรรณวัตร เผยว่า โครงการแรกคือ การจัดซื้ออากาศยานปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์) 2 ลำ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภายใต้ความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยกับกองทัพบก ซึ่งมีประกาศกรมปภ.เมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ให้บริษัท ดาตาเกท จำกัด เสนอขายเฮลิคอปเตอร์ KA-32A11BC ของรัสเซีย เป็นผู้ชนะการเสนอราคา
ขณะที่กิจการร่วมค้าออลซีนิท ทีเอเอส ที่เสนอเฮลิคอปเตอร์ MI 8 MSB-30 ของยูเครน ถูกปรับตกไม่ผ่านคุณสมบัติ 2 ข้อ โดยคู่แข่งเสนอราคาเต็มเพดานที่ 1,742 ล้านบาท ถูกกว่าราคากลางเพียง 6,000 กว่าบาท ส่วนกิจการร่วมค้าออลซีนิท ทีเอเอสเสนอราคาต่ำกว่าที่ 1,588 ล้านบาท ถูกกว่า 274 ล้านบาท
คณะผู้บริหารกิจการร่วมค้าฯเห็นว่า ข้อวินิจฉัยที่ปภ.ให้ตกคุณสมบัติไม่สมเหตุสมผล จึงทำหนังสืออุทธรณ์เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563 ยกเหตุผล 5 ข้อขึ้นหักล้าง ยืนยันยื่นข้อเสนอประกวดราคาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งเรื่องหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทน และเฮลิคอปเตอร์ที่เสนอเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นใหม่โดยบริษัท Motor Sich ของยูเครน ตามแบบของสหภาพโซเวียตเดิม การที่คณะกรรมการพิจารณาฯหยิบยกข้อมูลจากเว็บไซต์มาอ้าง ว่าเป็นเพียงโรงงานอัพเกรดเฮลิคอปเตอร์และให้ตกคุณสมบัติ จึงเป็นการดำเนินการนอกขอบข่ายการพิจารณา รวมถึงระบบนักบินกล (Auto Pilot) ยืนยันว่าถูกต้องตามข้อเสนอทางเทคนิคที่กำหนดทุกประการ และพร้อมนำเครื่องจริงมาให้พิสูจน์
นายสุวรรณวัตร เผยว่า อีกโครงการคือ การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ ของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งมีประกาศผลการพิจารณาเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2563 ให้บริษัท เดอะ โพรจิดี เทค จำกัด ที่เสนอราคา 503 ล้านบาท เป็นผู้ชนะ และแจ้งกิจการร่วมค้าออลซีนิท ทีเอเอส 2 ว่าไม่ผ่านการตรวจสอบเนื่องจากยื่นข้อเสนอทางเทคนิคไม่เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
ตามประกาศกำหนดให้ต้องเป็นฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ฐานสกีสูง (Hight Skid Landing Gear) หรือแบบมีล้อ (Retractable Landing Gear) ซึ่งเกิดความกำกวม เนื่องจากฮ.ทั่วโลกเลือกใช้ 2 แบบคือ แบบคานสกี หรือแบบล้อซึ่งก็มีให้เลือกได้ว่าจะเป็นล้อฐานพับหรือล้อแบบติดตาย ซึ่งทางโรงงานสามารถทำได้ตามสั่งและขอใบรับรองแบบให้ได้ แต่คณะกรรมการพิจารณากลับไปตีความว่า เฮลิคอปเตอร์ Mi8-MSB ที่เสนอขายยังไม่มีการรับรองแบบ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
เขาบอกว่าเครื่องบินแต่ละรุ่นที่ได้รับอนุญาตให้นำออกใช้งานได้นั้นต้องมีใบสำคัญต้นแบบ(Type Certificate Data Sheet) หรือข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับรุ่นนั้น ๆ ซึ่งได้ยื่นเอกสารเสนอครบถ้วนตามสาระสำคัญที่กำหนด จึงถือว่าผ่านเงื่อนไขการประมูล ส่วนการดัดแปลงระบบลงจอดเป็นฐานสกีสูง ผู้ผลิตมีอำนาจออกใบรับรองแบบส่วนเพิ่มเติม (Supplemental Type Certificate) ขององค์การการบินยูเครน ที่กรมการบินพลเรือนรับรองการดัดแปลงอากาศยานต้นแบบได้โดย Type Certificate Data Sheet คงเดิม
"การจัดซื้อฮ.กู้ภัยเปิดประมูลมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งกิจการร่วมค้าฯเสนอราคาต่ำสุด โดยครั้งล่าสุดเสนอ 407 ล้านบาท ต่ำกว่าคู่แข่ง 96 ล้านบาท แต่ถูกตีตกโดยอ้างขาดคุณสมบัติ โดยข้ออ้างคุณสมบัติที่ยกกันมาเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หยิบประเด็นปลีกย่อยมาล้มเลิกข้อกำหนดหลัก ทำให้รัฐสูญงบประมาณเกินความเป็นจริงจำนวนมาก จึงต้องอุทธรณ์เพื่อคัดค้านผลการตัดสิน ซึ่งกรรมการอุทธรณ์มีเวลาพิจารณา 90 วัน และจะสู้ถึงที่สุดอาจต้องไปศาลปกครองต่อ"นายสุวรรณวัตรระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |