มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในรูปแบบ "เทศบาล" ทั่วประเทศในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้การเมือง-การเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง
สำหรับบทบาทความสำคัญของเทศบาล เป็นที่รู้กันดีว่าเทศบาลถือเป็น อปท.ที่ใกล้ชิดกับประชาชนค่อนข้างมาก และมีรายได้-งบประมาณของตัวเองในการพัฒนาพื้นที่ดูแลประชาชน เห็นได้จากช่วงนี้ที่มีนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลายจังหวัดออกมาประกาศพร้อมจะซื้อ "วัคซีนต้านโควิด" ฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เองโดยไม่ต้องรอวัคซีนจากรัฐบาล เพราะมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดซื้อ อีกทั้งในทางการเมืองก็รู้กันดีว่า เทศบาล โดยเฉพาะเทศบาลนคร เป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมือง พรรคการเมืองในจังหวัด จึงทำให้การเลือกตั้งระดับเทศบาลที่จะมีขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งมูฟเมนต์การเมืองท้องถิ่น แม้อาจไม่เข้มข้นเท่ากับการเลือกตั้งระดับ อบจ.เมื่อช่วงธันวาคม 2563
ท่ามกลางการจับตามองว่า สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เครือข่ายนักการเมืองระดับชาติในจังหวัด โดยเฉพาะ "เครือข่ายบ้านใหญ่" ที่มีข่าวว่ากำลังเริ่มเตรียมส่งคนของตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อยึดครองเก้าอี้ในระดับเทศบาลแต่ละส่วนไว้เป็นฐานเสียงของตัวเอง โดยเฉพาะเทศบาลนครและเทศบาลเมือง
สำหรับเทศบาลมีทั้งหมด 2,472 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
ด้านความเห็นจากนักวิชาการต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น “รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” มองการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นดังกล่าว โดยเริ่มด้วยการพูดถึงความสำคัญของเทศบาลว่า เทศบาลเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นมาอันดับแรกสุด ซึ่งย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทดลองตั้งสุขาภิบาลที่เรียกว่าสุขาภิบาลท่าฉลอม โดยเทศบาลจะมีบทบาทในการดูแลวิถีชีวิต-ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยของชุมชน ความสะอาดในชุมชน เป็นเรื่องการดูแลพื้นฐานการใช้ชีวิตของประชาชน เทศบาลจึงมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ซึ่งบทบาทช่วงหลังเทศบาลเป็นท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งมากกว่า อปท.รูปแบบอื่นๆ จึงมีบทบาทเข้ามาทำในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น การจัดการเรื่องการศึกษา การดูแลเรื่องระบบสาธารณสุข เทศบาลมีความใกล้ชิดและเป็นที่พึ่งของประชาชนมากกว่าท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ โดยในแง่ของศักยภาพก็ถือว่ามีมากพอสมควร ปัจจุบันมีเทศบาลขนาดใหญ่ที่เป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง ร่วมกว่าร้อยแห่ง ทำให้เทศบาลเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่มาก
..ปัจจุบันโครงสร้างของเทศบาลแบ่งเป็นสามขนาด โดยดูจากจำนวนประชากร ความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ไหนมีประชากรหนาแน่นเกิน 50,000 คนขึ้นไป ก็จะเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ที่สุดคือเทศบาลนคร รองลงมาคือมีประชากรไม่เกิน 50,000 คน แต่มีมากกว่า 10,000 คน ก็จะเป็นเทศบาลเมือง และสุดท้ายคือเทศบาลตำบล จะมีที่มาสองส่วนคือ เป็นสุขาภิบาลเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมา ซึ่งลักษณะนี้จะมีประมาณกว่า 500 แห่งที่เคยเป็นสุขาภิบาลแล้วยกฐานะขึ้นมาเป็นเทศบาลตำบล ส่วนเทศบาลที่เหลืออีกร่วมกว่าพันแห่ง ก็เป็นการยกฐานะขึ้นมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. ที่มีลักษณะเป็นเขตชนบทเก่าที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น โดยความแตกต่างของเทศบาลแต่ละรูปแบบ ก็คือเรื่องของภารกิจหน้าที่ในพื้นที่ เช่น เรื่องการดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งพอเป็นเทศบาลที่ใหญ่ขึ้นก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบทางกฎหมายมากขึ้นไปตามลำดับ
...สำหรับรายได้-งบประมาณ ถ้าเทียบกับ อบต.แล้ว เทศบาลได้เยอะกว่า โดย อบต.ที่เป็นพื้นที่กึ่งชนบท งบประมาณโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ล้านบาท แต่พอเป็นเทศบาลจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาทต่อแห่ง แต่เทศบาลทั้งสามรูปแบบข้างต้น แต่ละรูปแบบมีรายได้เฉลี่ยที่ต่างกันไปแต่ละพื้นที่ เพราะต้องดูจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งจะมีผลทำให้ฐานทางภาษีที่เก็บได้แต่ละปีแตกต่างกัน โดยเทศบาลตำบลก็จะอยู่ที่ประมาณกว่า 30 ล้านบาท บวก-ลบ ส่วนเทศบาลเมืองก็จะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท บวก-ลบ ส่วนเทศบาลนคร รายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี รวมรายได้ทุกรูปแบบจึงทำให้หน้าที่ความรับผิดชอบและงบประมาณที่ได้รับในการดำเนินงานก็ต่างกันไปด้วย ซึ่งก็มีเทศบาลนครบางแห่งที่ได้มากกว่าพันล้านบาทต่อปี เช่น เทศบาลนครนนทบุรี ที่มีประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ รายได้ก็น่าจะอยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี โดยก็จะมีการนำเงินไปทำในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-การจัดการศึกษา-การดูแลเรื่องสาธารณสุข
-คนที่เล่นการเมืองในระดับเทศบาลเป็นเครือข่ายของนักการเมือง ส.ส.ในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน?
มีทั้งสองส่วน คือนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ที่เป็นเครือข่ายกับการเมืองใหญ่ การเมืองระดับชาติก็มี โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ส่วนใหญ่ก็รู้จักกันทั้งนั้น ทั้งนายกเทศมนตรีและ ส.ส. ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่หากถามว่า เขาแสดงตัวตนว่าสังกัดพรรคการเมืองชัดเจน หรือคิดเป็นพวกเดียวกับนักการเมืองระดับชาติหรือไม่ ก็พบว่ามีทั้งส่วนที่ยึดโยงกันและส่วนที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่งก็มีอยู่
-ก็คือ คนที่อยู่ใน อปท.รูปแบบเทศบาลที่จะลงเลือกตั้ง ยังไงก็ยังต้องอยู่ในเครือข่ายหรือพึ่งพาบ้านใหญ่ในจังหวัด?
ก็มีทั้งส่วนที่ใช่และส่วนที่ไม่ใช่ โดยคนที่ต้องพึ่งการเมืองในพื้นที่ก็ต้องไปอาศัยบารมีบ้านใหญ่ในจังหวัดก็มีอยู่ในบางจังหวัด แต่บางคนก็เป็นอิสระจริงๆ เช่น ทำงานพิสูจน์ฝีมือมาหลายปี มีฐานเสียงของตัวเองไม่ต้องไปพึ่งพาใคร ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกอะไร
"รศ.ดร.วีระศักดิ์" ยังวิเคราะห์โอกาสของ "คณะก้าวหน้า" ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จะส่งคนลงเลือกตั้งในระดับเทศบาล หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง อบจ. โดยมองว่าคณะก้าวหน้าคงส่งคนลงเลือกตั้งรอบนี้ด้วย เพื่อสร้างฐานการเมืองท้องถิ่นให้ได้ตามที่แกนนำคณะก้าวหน้าประกาศไว้ แต่มองดูแล้วโอกาสที่ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจะชนะได้บ้างจะยากกว่าตอนเลือกตั้งนายก อบจ.ด้วยซ้ำ เพราะเทศบาลอยู่ใกล้ชิดประชาชน ชาวบ้านต้องประเมินแล้วว่าหากเลือกผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่มีประสบการณ์ เขาจะไว้ใจได้ขนาดไหน ประชาชนคงต้องการคนที่แก้ปัญหาได้รวดเร็ว มีประสบการณ์มาก่อน หากคณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครหน้าใหม่ลงหมด โอกาสที่จะทะลุทะลวงในพื้นที่ได้น่าจะยากกว่าตอนเลือกตั้ง อบจ.ด้วยซ้ำ
รอติดตามกันดูว่า เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งระดับเทศบาลเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครในหลายจังหวัด จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน หลังบางจังหวัดมีข่าวว่าน่าจะสู้กันสนุก เพราะคู่แข่งแต่ละฝ่ายก็มีนักการเมืองระดับชาติในจังหวัดคอยหนุนหลัง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |