กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าเตรียมยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดจากจีนกับองค์การอาหารและยา หรือ “อย.” ของไทย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
โดยให้องค์การเภสัชกรรมซื้อและจำหน่าย
มีข้อสังเกตจากผู้รู้บางคนว่า “ทำไมเร็วจัง นี่คือ fast track เฉพาะสำหรับจีนหรือไม่”
ที่สำคัญคือจะสร้างความแตกต่างระหว่างวัคซีนจีนกับวัคซีนยุโรปและอเมริกาหรือไม่ อย่างไร
คำว่า “ความน่าเชื่อถือ” หรือ trust เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการที่คนไทยจะตัดสินว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิดครั้งนี้
ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใสชัดเจนและตรวจสอบได้
หากพลาดไปในจังหวะใดจังหวะหนึ่งก็เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาได้
หลังจากที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแถลงเรื่องวัคซีนจีนวันก่อนก็มีคำถามจาก คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร ในเฟซบุ๊กของท่านตอนหนึ่งว่า
“แปลกดี ของที่ไม่มีข้อมูล phase 3 ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทย ได้ขึ้นทะเบียน อย.ก่อนของที่มีผลการศึกษาแล้วเรียบร้อย มีตัวแทนจำหน่ายด้วย แถมบางยี่ห้อผลิตในประเทศอีกตะหาก
“จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ต้องมีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ประชาชนจะยอมฉีดก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนเชื่อมั่น (trust)
“Trust คือหัวใจสำคัญของ mass program แทบทุกอย่าง ขนาด Moderna และ Pfizer vaccine เองยังมีปัญหาความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับความปลอดภัย”
คุณหมอมานพเตือนว่าอย่าทำอะไรเร่งรีบจน trust ถูกทำลาย เพราะเสียหายแล้วกู้กลับคืนยากมาก
ผมเห็นด้วยว่าเราควรจะต้องมีความระมัดระวังและมองให้ครบทุกมิติในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อย่าให้การเมืองระหว่างประเทศหรือการเมืองภายในมาทำให้เกิดปัญหาตามมาที่แก้ยากกว่าที่เห็นอยู่วันนี้
เรื่องนี้มาจากคำแถลงเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต บอกว่า ประเทศไทยมีกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน คำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก ผ่านการขึ้นทะเบียนทั้งต่างประเทศและ อย.ของไทยก่อนให้บริการประชาชน
การได้วัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดส จาก Sinovac ประเทศจีน เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็วๆ นี้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
แปลว่ายังรอให้ขึ้นทะเบียนในประเทศจีนก่อน
ท่านปลัดฯ บอกว่ารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก Sinovac
กรมควบคุมโรคได้แสดงความต้องการใช้ไปยังองค์การเภสัชกรรมให้ซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่าย พร้อมทำเอกสารเพื่อยื่นขึ้นทะเบียน อย.ด้วย
แต่เพราะ Sinovac ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศ
ทางการจะพยายามขึ้นทะเบียนให้ได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564
แต่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมได้เห็นชอบสำรองงบประมาณในการสั่งซื้อไปก่อน 1 พันกว่าล้านบาทแล้ว
ท่านบอกว่าจีนจะส่งวัคซีนมาถึงไทย ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
ล็อตแรก 2 แสนโดส เดือนมีนาคมอีก 8 แสนโดส และเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส
หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนล็อตใหญ่จาก AstraZeneca อีก 26 ล้านโดส เพื่อกระจายให้ประชาชนต่อไป
ท่านบอกว่าหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จะเจรจาขอซื้อเพิ่มจาก AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนประมาณ 30 กว่าล้านคน
หากเป็นไปตามนี้ก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของคนตามเป้าหมายได้
มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากหมอว่า การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดของโรคในชุมชนไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันทั้ง 100%
หลักการคือฉีดเพื่อให้สังคมและชุมชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาระดับหนึ่ง ประมาณ 60-70% จะลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อลงจนหยุดการแพร่ระบาดในชุมชนได้
ในความเป็นจริงในระดับบุคคลอาจพบผู้ป่วยบ้าง แต่จะไม่เกิดการระบาดในชุมชน
ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า วัคซีนโควิดที่มีการฉีดในต่างประเทศยังไม่มีของบริษัทไหนที่ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 อย่างครบถ้วน
แต่ไทยเราต้องจัดหาวัคซีนเข้ามาก่อน เพราะถ้ารอจนได้ผลการทดลองครบถ้วนแล้วจึงเจรจาจัดซื้อก็อาจสายเกินไป
การสื่อสารกับประชาชนเรื่องวัคซีนจึงเป็นหัวใจของการจะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปโดยให้มีปัญหาน้อยที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |