อัยการเสนอทางออกบ้านป่าแหว่ง ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยพัสดุเพื่อเลิกสัญญา และรื้อถอนโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้บ้านพักตุลาการอยู่ในสภาพพัสดุหมดความจำเป็น ด้าน "สุวพันธุ์" เผยให้คณะกรรมการในพื้นที่พิจารณา ยันจะไม่ให้มีคนเข้าอยู่อาศัย
นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างโครงการที่ทำการและบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ จ.เชียงใหม่ มีข้อความว่า
กรณีบ้านพักตุลาการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่านำมาพิจารณา ผมจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นการส่วนตัวในประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ประเด็นแรก ภายหลังจากที่ผู้มีอำนาจหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า จะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านพักตุลาการบนพื้นที่พิพาทอีกต่อไป การก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างก่อสร้าง และมีข้อกฎหมายและข้อสัญญาที่เป็นทางออกของเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร
ในกรณีนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 137 วรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 128 กำหนดให้ส่วนราชการสามารถตกลงกับคู่สัญญาเพื่อเลิกสัญญาได้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของทางราชการในการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป ตามระเบียบนี้ไม่ใช่ทางราชการไปบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิคู่สัญญาที่เป็นหน่วยราชการที่จะไปตกลงกับคู่สัญญาที่เป็นเอกชนเพื่อเลิกสัญญา หากเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการ หรือจะทำให้ราชการเสียเปรียบหรือเสียหายได้ ซึ่งเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยสมัครใจของทั้งฝ่ายราชการและเอกชน
อ้างจำเป็นเลิกสัญญา
ส่วนหากเจรจากับเอกชนแล้วเอกชนไม่ตกลงด้วยที่จะเลิกสัญญา ก็มีทางออกต่อไปตามข้อสัญญา คือ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่เป็นแบบมาตรฐานที่หน่วยงานราชการใช้ทำสัญญากับเอกชน จะมีข้อสัญญาที่ให้สิทธิคู่สัญญาที่เป็นหน่วยงานราชการปรับลดเนื้องานก่อสร้างตามสัญญาได้ โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นของทางราชการ และหากคู่สัญญาที่เป็นเอกชนไม่ยินยอมด้วยอีก ก็มาสู่หนทางที่สาม คือการบอกเลิกสัญญา โดยหน่วยงานราชการนั้นคงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างการบอกเลิกสัญญากับการให้สัญญาจ้างก่อสร้างดำเนินไปจนแล้วเสร็จตามสัญญาว่าอย่างใดราชการจะได้รับประโยชน์มากกว่ากัน และอย่างไหนราชการจะเสียหายน้อยที่สุด
2.ประเด็นที่สอง บ้านพักตุลาการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ที่มีปัญหาพิพาท จะสามารถรื้อถอนได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ควรพิจารณา ดังนี้
2.1 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 215 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการกับพัสดุที่หมดความจำเป็นได้ด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ เช่น ขาย แลกเปลี่ยน โอนให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การสาธารณกุศล แปรสภาพหรือทำลาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานรัฐกำหนด
หากมีความชัดเจนว่าจะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ในบ้านพักตุลาการอย่างแน่นอน บ้านพักตุลาการนี้ก็อาจจะถือว่าอยู่ในความหมายของพัสดุที่หมดความจำเป็นได้ และสามารถดำเนินการกับบ้านพักตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 215 ดังกล่าว ด้วยการขาย แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพหรือทำลายได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีปัญหาในการตีความคำว่า พัสดุหมดความจำเป็น โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีความเห็นว่า พัสดุหมดความจำเป็นจะต้องเป็นพัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้วเท่านั้น ไม่รวมถึงพัสดุใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ดังนั้น ระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 215 นี้ อาจไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับกรณีของบ้านพักตุลาการที่เป็นบ้านเพิ่งสร้างใหม่ได้ แม้จะหมดความจำเป็นในการใช้งานแล้วก็ตาม ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า สามารถนำเอาระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 215 มาใช้บังคับกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการได้หรือไม่ ควรที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะหารือเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐต่อไป
2.2 หากปรากฏว่าระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 215 ดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับกรณีของบ้านพักตุลาการได้ ก็ยังมีแนวทางในการดำเนินการเพื่อรื้อถอนบ้านพักต่อไปได้ตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยการขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อที่จะทำการรื้อถอนบ้านพักต่อไป โดยขอยกเว้นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 29 (4) ในการยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ได้
จะไม่ให้มีคนเข้าอยู่อาศัย
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่พูดคุยหาทางออกปัญหาการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ อยากให้คณะกรรมการในพื้นที่ได้พิจารณาเป็นลำดับขั้นตอนขึ้นมา เพื่อความรอบคอบ ทั้งนี้ การหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยกำลังพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 วันนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีคณะทำงาน 2 ชุด เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับเป็นป่าที่สมบูรณ์ รวมถึงการดูแลสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ด้วย
“ทุกเรื่องมีคณะกรรมการลงไปดูแลแล้ว เรื่องหลักการใหญ่ๆ ก็เห็นชอบตรงกันหมดแล้ว เหลือแต่แนวทางการปฏิบัติ ผมคิดว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ก็ขอให้เป็นเรื่องในพื้นที่ได้พิจารณาหาทางดำเนินการต่อไป โดยในขณะนี้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้คือ จะไม่ให้มีคนเข้าอยู่อาศัย” นายสุวพันธุ์กล่าว
วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการรังวัดพื้นที่ตามแนวเขตป่าดังเดิม ในพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นส่วนที่ล้ำแนวป่าดั้งเดิมขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง โดยจะทำให้เห็นแนวเขตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม และเตรียมส่งมอบให้อุทยานหรือป่าไม้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพร่วมกับภาคประชาชนต่อไป
การเข้าดำเนินการรังวัดในครั้งนี้ อนุญาตให้เข้าพื้นที่เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรังวัดเท่านั้น โดยตัวแทนภาคประชาชนไม่ได้เข้าพื้นที่ด้วย แต่ได้ร่วมสังเกตการณ์อยู่บนเนินดินพื้นที่ข้างๆ ที่อยู่ติดกัน โดยได้มีการปักธงสีเขียว รวมทั้งผูกริบบิ้นเขียวกับต้นไม้ เพื่อแสดงสัญลักษณ์การรณรงค์ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้า จะนำกำลังทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เครื่องจักรเข้าดำเนินการทำเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่โครงการผ่านทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้การเข้า-ออกมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพื้นที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และในวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2561 ทางมณฑลทหารบกที่ 33 และจังหวัดเชียงใหม่ จะนำประชาชนร่วมทำกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่โครงการ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะเร่งด่วนก่อนที่เข้าสู่ช่วงหน้าฝน เพื่อให้มีพืชคลุมดินที่จะสามารถป้องกันการถูกชะล้างได้บางส่วน
เสียความรู้สึก
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า เสียความรู้สึกพอสมควร เพราะตามหลักการแล้ว การรังวัดจะต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วม แต่ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเครือข่ายได้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ได้อย่างครบถ้วนอยู่แล้ว โดยภาพรวมถือว่าการดำเนินการรังวัดในครั้งนี้ผ่านไปด้วยดี และไม่มีปัญหาใดๆ คาดว่าหลังจากการรังวัดแล้ว ทางธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่น่าจะจัดทำแผนที่เสร็จภายในเย็นวันนี้ ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะเฝ้าติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพราะมีจุดยืนและเป้าหมายเพียงต้องการขอคืนพื้นที่ป่าคืนเท่านั้น และไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก
นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Bunnaroth Buaklee ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ได้รับแจ้งจากประชาชนชาวเชียงใหม่รายหนึ่ง โดยสารเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG104 เส้นทาง สุวรรณภูมิ-เชียงใหม่ พบเห็นชายผู้หนึ่งที่ระบุว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่รุกล้ำป่าเชิงเขา ทิวเขาถนนธงชัยตะวันออก บริเวณดอยสุเทพ คุยโทรศัพท์ก่อนที่เครื่องบินจะบินขึ้น มีประโยคหนึ่งพาดพิงไปถึงแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ด้วยข้อความที่หยาบคายถึงขั้นเรียกคำว่า “ไอ้”
กระทั่งเวลา 09.55 น. เที่ยวบินมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ชายคนดังกล่าวโทรศัพท์อีกครั้ง โดยต้นสายกล่าวว่า ต้องฟ้องเอาผิดแกนนำเป็นคนแรก ส่วนคนอื่นๆ ถ้าไม่คดีอาญาก็คดีแพ่ง ขณะนี้ให้ยื้อเรื่องราวออกไปก่อน เพราะมีคนประมาณ 80% เห็นด้วย ยังมีอีก 10% ที่ไม่เอาด้วย ถ้าไม่รีบทำอะไร โครงการนี้ล่มแน่ๆ ยังไงจะรอสแตนด์บายอยู่ทางนี้ มีอะไรโทร.หาได้ เมื่อผู้พบเห็นแจ้งเบาะแสพร้อมภาพถ่ายชายคนดังกล่าว พบว่าเป็นผู้มีบทบาท มีตำแหน่งเกือบสูงสุดในสายงานธุรการขององค์กรใหญ่สำคัญ ซึ่งจากเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้แกนนำต้องประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |