ล็อตใหญ่เยียวยาโควิด ครม.แจก3.5พัน2เดือนลดค่า‘น้ำ-ไฟ-ดอกเบี้ย’


เพิ่มเพื่อน    

 

"ประยุทธ์" เคาะแพ็กเกจเยียวยาโควิด-19  ระลอกใหม่ ลดค่าไฟฟ้า-น้ำประปา 2 รอบบิล ส่วนค่าอินเทอร์เน็ตสั่ง "กสทช.-ดีอีเอส" ไปคุยกับเอกชน พร้อมให้คลังจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อน 3,500 บาท 2 เดือน คาดเสนอ ครม.อนุมัติหลักเกณฑ์ 19 ม.ค. "อาคม" ยันเร่งขีดเส้นผู้มีคุณสมบัติ โวกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มได้ช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรก  ก.พ. "แอปเราชนะ" เปิดลงทะเบียนช่วงสิ้น ม.ค. ปลัดคลังชี้  "ขรก.-ผู้ประกันตน" หมดสิทธิ์ "นายกฯ-รมว.การคลัง" ประสานเสียงเงินในกระเป๋ายังเพียงพอดูแล ลุงตู่โพสต์มีกว่า  6 แสนล้าน
    เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังว่าได้มีการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง,  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยจะมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งค่าไฟฟ้าที่ประชุม ครม.มีมติให้ลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.และ มี.ค.64 สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยหากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้มีส่วนลดค่าใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนค่าน้ำประปาให้ลดลง  10% สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นเวลา 2 เดือน ตามใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.และ มี.ค.เช่นกัน ส่วนเรื่องค่าอินเทอร์เน็ตโดยความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ประกอบการได้สั่งให้ไปหารือร่วมกัน ซึ่งมีมติว่าจะเพิ่มความเร็วและความแรงของเน็ตบ้านมือถือ ลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการเวิร์กฟรอมโฮม รวมทั้งให้ประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชันหมอชนะฟรี ไม่คิดค่าดาตาเป็นเวลา 3 เดือน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการคนละครึ่ง จากการติดตามประเมินผลในการใช้จ่ายยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือประชาชน ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี จะเปิดลงทะเบียนใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ์ ประมาณปลายเดือน ม.ค.นี้ สำหรับเรื่องอื่นๆ ได้มีนโยบายให้เยียวยารายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมดังเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ, อาชีพอิสระ, เกษตรกร เบื้องต้นได้ให้ไปพิจารณาวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน โดยได้สั่งให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า โดยคำนึงถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต ตอนนี้ขอให้พิจารณา 2 เดือนก่อน
    นายกฯ ยังกล่าวถึงการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องธนาคารรัฐที่ยังมีเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท  ว่าได้ให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) ช่วยเหลือเรื่องหนี้สินและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการและประชาชนโดยเร็ว เช่น สินเชื่อธนาคารออมสิน 10,000-50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35% ต่อเดือนต่อราย ซึ่งได้หารือกันทั้งในส่วนของ ธปท.  ธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป
    นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม เช่น ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตน เยียวยาผู้ว่างงาน ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อน และในส่วนของการจ้างงานได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปแล้ว ซึ่งได้มีการชี้แจงประชาสัมพันธ์ตามช่องทางสื่อสารต่างๆ ตามที่รัฐบาลได้เร่งรัดลงไปแล้วให้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องปฏิบัติการเร่งด่วน โดยเฉพาะการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชนให้บรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว จะต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมด้วยซึ่งมีอยู่ทั่วไป
     "ได้เร่งรัดให้สำนักงาน ก.พ.และ ก.พ.ร.จัดสอบเร็วขึ้นกว่าทุกครั้ง เพื่อทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุไป และในส่วนของน้องๆ หลานๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีงานทำ จะได้มีโอกาสมาสอบคัดเลือกในส่วนนี้ซึ่งมีสองส่วน  ได้แก่ การสอบทั่วไปจำนวนหนึ่ง และอีกส่วนจะมีสัดส่วนในการสอบเฉพาะคุณสมบัติตามวิชาชีพ จึงขอให้ทุกคนเตรียมกันไว้ด้วย และให้รอฟังการประกาศจากสำนักงาน ก.พ.และ  ก.พ.ร.ต่อไปเมื่อมีความพร้อม"นายกฯ กล่าว
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลยังผลักดันให้ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มเติม โดยอีกเรื่องที่ได้สั่งการและอนุมัติไปแล้วคือ การขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่านมา โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01%  โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เร่งเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกับ ครม.ต่อไป
ยันเงินเต็มเป๋าเพียงพอ
    "วันนี้เราห่วงประชาชนเสมอ อะไรก็ตามที่เดือดร้อนหรือร้องเรียนขึ้นมาก็ดูแลทุกอัน แต่มันก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามกฎหมายและวิธีการปฏิบัติ อันไหนที่เร่งได้ก็เร่ง เราจะเดินหน้าต่อไปเป็นระยะ ตอนนี้ขอดู 2 เดือนนี้ก่อน และหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ขอให้มีความสุขและปลอดภัย"  
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha" ย้ำเรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่า "ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน 3 ส่วนหลัก คือ 1.มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน 2.มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ การว่างงาน ฯลฯ และ 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเทอร์เน็ต
    ผมต้องขอย้ำคือเรื่องที่รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจ ในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทตาม พ.ร.ก.เราใช้ไปกว่า 5 แสนล้านบาท ยังเหลือ 4 .9 แสนล้านบาท และเรายังมีงบกลางของงบประมาณปี 2564  อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์ นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า ที่สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เราจะผ่านมันไปได้อีกครั้งเหมือนที่เราร่วมมือกันทำสำเร็จมาแล้ว"
     นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาครั้งนี้วงเงินที่ใช้เพียงพอแน่นอน แม้ว่าจะใช้เงินจำนวนมาก เพราะการระบาดรอบใหม่นี้หนักกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยมาตรการต่างๆ  ทีทำมาแต่เดิมและรอบใหม่นี้จะเข้าตามกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนโดยตรง และให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 5  จังหวัด
    ขณะที่นายอาคมกล่าวว่า มาตรการที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ครั้งนี้ ในส่วนกระทรวงการคลังแยกเป็น 4 เรื่อง คือ  1.การเปิดให้ลงทะเบียนคนละครึ่ง รอบเก็บตก 1 ล้านสิทธิ์  ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบวันที่ 19 ม.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค.64 และเริ่มใช้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป 2.การจ่ายเงินเยียวยาทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2  เดือน ซึ่งจะเสนอให้ ครม.วันที่ 19 ม.ค.นี้เช่นกัน จากนั้นจึงเปิดให้ลงทะเบียนในชื่อโครงการเราชนะ เริ่มจ่ายเงินเร็วที่สุดในปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าต้น ก.พ.นี้ เบื้องต้นจะครอบคลุมคนทุกกลุ่มประมาณ 30 ล้านคน 3.การเสริมสภาพคล่องให้ประชาชนและธุรกิจผ่านสินเชื่อประเภทต่างๆ วงเงินรวม  6.38 ล้านบาท แยกเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2.68 แสนล้านบาท โดยขยายเวลาโครงการสินเชื่อเดิมออกไป รวมถึงพักชำระหนี้ถึง 30 มิ.ย.64 อีกส่วนคือวงเงินซอฟต์โลนของ  ธปท.อีก 3.7 แสนล้านบาท และ 4.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ 90% และยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ 0.01% โดยจะเสนอ ครม.เห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์
    ด้านนายดนุชากล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ครั้งนี้ ในเรื่องลดค่าใช้น้ำประปา 10%  นั้นจะครอบคลุมผู้ใช้น้ำประมาณ 6.76 ล้านราย ส่วนลดค่าไฟฟ้าจะครอบคลุม 23.7 ล้านราย
    ต่อมานายอาคมได้แถลงที่กระทรวงอีกครั้งว่า กระทรวงจะเสนอหลักการจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 19 ม.ค. โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องมาลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่กระทรวงเปิดไว้ โดยกำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือน ม.ค. และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์จะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็มในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.64 ครอบคลุม 2 เดือน
    "ตัวเลขผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือทั้งหมด รวมทั้งหลักเกณฑ์ดำเนินการทั้งหมดยังไม่นิ่ง ต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน โดยจะสรุปเพื่อเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ซึ่งมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน 3,500 บาท 2 เดือนนี้ จะแตกต่างจากโครงการคนละครึ่งที่ใครลงทะเบียนก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน การให้เงินช่วยเหลือรอบนี้ไม่ต้องแย่งกัน ใครก็ตามมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การคัดกรองก็จะได้รับสิทธิ์ทันที ใครที่ไม่ผ่านก็จะถูกคัดออกไปทันที ซึ่งยอมรับว่าการคัดกรองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา แต่จะพยายามคัดกรองให้ถูกต้องที่สุด เพราะที่ผ่านมามีเสียงบ่นว่าบางคนควรได้สิทธิ์ก็ไม่ได้  ขณะที่บางคนไม่ควรได้สิทธิ์กลับได้" นายอาคมกล่าวและว่า จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบการเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตกอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 20 ม.ค.64 และสามารถใช้สิทธิ์ 3,500 บาทได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.64
ผู้ประกันตนอดอีก
    นายอาคมยอมรับว่า รัฐบาลพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันโอกาสการยืดเยื้อของสถานการณ์ก็จะขยายออกไป รัฐบาลต้องใช้เงินฟื้นฟูและเยียวยาเหมือนเดิม ซึ่งอาจทำให้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทหมด  แต่ขณะนี้ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีเงินเพียงพอ ไม่ต้องกู้เพิ่มแน่นอน
    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ 3,500 บาท นาน 2  เดือนจากมาตรการเราชนะ จะแตกต่างจากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งมั่นใจว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนแน่นอน เพราะเป็นการคิดจากฐานข้อมูลประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน และมาคัดกรองออกจนเหลือกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่เปิดลงทะเบียนว่าใครได้รับผลกระทบ ซึ่งวิธีการนั้นส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     กลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการกว่า 3 ล้านคน พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกันตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งคลังจะมีเกณฑ์วัดว่ารายได้เท่าใดจึงจะไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท  โดยพิจารณาบัญชีเงินฝาก รายได้เข้าออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น"
    นายกฤษฎากล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันเราชนะ เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14  ล้านคนซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิ์แล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง และกลุ่มที่ต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย
    “กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ  เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือน มาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น" นายกฤษฎากล่าว
    สำหรับเว็บไซต์ www.เราชนะ.com คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ โดยจะแจกเงิน 2  เดือน คือ ก.พ.และ มี.ค. ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนไม่ยุ่งยากเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีชุดคำถามเชิงลึกเพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้แจกเงินรอบนี้อยู่ระหว่างสรุป แต่ยืนยันว่าจาก  พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทยังพอเพียง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"