ภายหลังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 จนกระทั่งเข้าสู่เดือน ม.ค.2564 ปีนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องกลับมาใช้มาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้นอีกครั้ง หลังจากมีประสบการณ์ในการเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกแรกไปแล้ว สำหรับ “ศาลยุติธรรม” เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่ใช้อำนาจตุลาการ ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสเช่นเดียวกับทุกภาคส่วน แต่มีความพร้อมในการใช้มาตรการต่างๆ และนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยจัดการคดีต่อเนื่องไปได้ระดับหนึ่ง
โดยมาตรการเบื้องต้นเมื่อสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ในวันที่ 5 ม.ค.2564 “สุริยัณห์ หงษ์วิไล” โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยมาตรการของศาลยุติธรรมให้เลื่อนคดีศาลชั้นต้นที่เคยนัดไว้ระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค.2564 สำหรับคดีจัดการพิเศษ, คดีสามัญและคดีสามัญพิเศษ เว้นแต่คดีนั้นสามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติที่กำหนดก่อนหน้านี้ เช่น การดำเนินการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น และให้นำมาตรการการบริหารจัดการสำหรับหน่วยงานที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มาใช้บังคับ ส่วนคดีในศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นศาลฎีกาที่มีนัดพิจารณาไว้ระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค.2564 นั้น อาจพิจารณาเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม
ขณะที่ การกำหนดให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน หรือ WORK FROM HOME สำหรับงานที่ไม่จำเป็นต้องมาปฏิบัติงานที่ศาล อาจพิจารณาให้ WORK FROM HOME ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น เพื่อลดจำนวนบุคลากรที่ต้องมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการ โดยการลดจำนวนนั้นก็จะต้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การบันทึกข้อมูลการเดินทางเพื่อการสอบสวนโรค และให้ความช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อและการรักษาแก่บุคลากรในหน่วยงาน โดยสามารถประสานกับ “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” สำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคู่ความ ประชาชนผู้เกี่ยวข้องในคดี “ศาลยุติธรรม” มีช่องทางติดต่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีออนไลน์ SMART COURT ทั้งระบบยื่นฟ้อง การส่งและรับคำคู่ความด้วย e-Filing, ระบบติดตามสำนวนคดี Tracking System, ระบบ CIOS (ซีออส) หรือระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม สำหรับการติดตามการแจ้งผลส่งหมาย-คำสั่งศาล-ผลคดี, e-Notice การส่งเอกสารทางคดี และการประกาศนัดไต่สวนคำร้อง เช่น คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก คำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร โดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และการคืนเงินในคดีให้แก่คู่ความผ่านระบบ Corporate Banking
ต่อมาในวันที่ 6 ม.ค.2564 “พงษ์เดช วานิชกิตติกูล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังเปิดเผยอีกมาตรการในการขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดให้บริการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวและคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในการขอประกันโดยไม่ต้องเดินทางมาศาล และสามารถยื่นคำขอประกันทางออนไลน์ ตลอดจนสามารถทราบคำสั่งและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทางออนไลน์ตลอดเวลาได้ หรือเรียกง่ายๆ คือ การยื่นประกันตัวออนไลน์นั่นเอง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 โฆษกศาลยุติธรรมได้เน้นย้ำการบริหารจัดการคดีด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้ต่อเนื่อง คือ VDO/Web Conference ซึ่งใช้ในการไต่สวนคดีขอตั้งผู้จัดการมรดก กรณีพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง เริ่มใช้ตั้งแต่กลางปี 2563 สถิติเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2563 มีการไต่สวนผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 22 ครั้ง กับอีกกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องยื่นคำร้องผัดฟ้องและฝากขัง เริ่มดำเนินการตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิดช่วงแรกเมื่อปี 2563 เป็นการดำเนินการผ่านระบบ VDO/Web Conference รองลงมาคือ ระบบ VDO Call และดำเนินการด้วยสื่อ IT อื่น เช่น LINE, Skype, ZOOM, Google Meet โดยจำนวนคดีที่ยื่นคำร้องผัดฟ้องฝากขังตั้งแต่ครั้งแรก/ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ช่วงปลายปีงบประมาณที่ผ่านมากว่า 100,000 คดี นอกจากนี้มีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 กว่า 5,000 คดี และในศาลฎีกาตั้งแต่ มิ.ย.2563-ธ.ค.2563 ประมาณ 20 คดี
ส่วนในศาลใหญ่อย่างศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก “สิทธิโชติ อินทรวิเศษ” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้เปิดจุดบริการรับคำคู่ความเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service ที่ด้านหน้าทางเข้าอาคารศาลอาญา ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับคู่ความ ทนายความ และประชาชน ยื่นคำคู่ความหรือเอกสารๆ จุดบริการนี้เพียงจุดเดียว ผ่านกล่องรับเอกสาร Box Thru อันเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันโรคเชื้อไวรัสโควิดอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างของมาตรการป้องกันไวรัสโควิด ที่มีการเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว อันเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในคดีบนชั้นศาลซึ่งควรรู้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ถึงไวรัสไม่หยุด คดีก็ไม่สะดุดนานเกินไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |