สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียทรงประกาศภาวะฉุกเฉินถึงเดือนสิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดเมื่อวันอังคาร และให้อำนาจรัฐบาลบริหารประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยพักการทำหน้าที่ของรัฐสภา ต่ออายุนายกฯ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ที่กำลังสูญเสียเสียงสนับสนุนในรัฐบาล
แฟ้มภาพ นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์กล่าวว่า สำนักพระราชวังของมาเลเซียออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลลาห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ มีพระบรมราชโองการให้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน โดยพระองค์ทรงเห็นด้วยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ใน "ขั้นวิกฤติ"
ภาวะฉุกเฉินจะมีผลบังคับจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม หรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าสามารถควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาได้หรือไม่
คำประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีนับแต่ปี 2512 ที่เกิดจลาจลนองเลือดข้ามเชื้อชาติ ก่อนหน้านี้มูห์ยิดดินเคยกราบบังคมทูลเพื่อขอให้กษัตริย์ทรงประกาศภาวะฉุกเฉินมาแล้วเมื่อเดือนตุลาคม แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ
มาเลเซียเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองนับแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เมื่อมูห์ยิดดินขึ้นสู่อำนาจแทนที่มหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่ลาออกจากตำแหน่งหลังจากเกิดความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาลปฏิรูป
ในการแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันอังคาร มูห์ยิดดินกล่าวว่า ภายใต้ภาวะฉุกเฉินนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะถูกระงับและจะไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลานี้
"ผมขอรับรองว่า รัฐบาลพลเรือนจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การประกาศภาวะฉุกเฉินโดยสมเด็จพระราชาธิบดีไม่ใช่การก่อรัฐประหารและจะไม่มีการบังคับใช้เคอร์ฟิว" มูห์ยิดดินพยายามบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับมาตรการนี้
เขาเสริมด้วยว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้นทันทีที่คณะกรรมการอิสระชุดพิเศษประกาศว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาลง หรือสามารถควบคุมได้ทั้งหมด และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างปลอดภัย
คำประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะอนุญาตให้รัฐบาลออกกฎหมายโดยไม่ผ่านสภา มีออกมาหนึ่งวันหลังจากมูห์ยิดดินประกาศมาตรการควบคุมไวรัสที่เข้มงวดขึ้น ห้ามการเดินทางข้ามรัฐ และล็อกดาวน์กรุงกัวลาลัมเปอร์และอีก 5 รัฐเป็นเวลา 14 วัน
มูห์ยิดดินกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีประชากร 32 ล้านคนแห่งนี้ใกล้ถึงจุดแตกหักแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทำสถิติสูงสุดเกิน 3,000 รายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รอยเตอร์เผยด้วยว่า ในวันอังคาร มาเลเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,309 ราย เป็นสถิติสูงสุดนับแต่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศ ขณะที่ยอดสะสมล่าสุดมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อ 141,533 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 คน รวมเป็น 559 คน
ผู้นำมาเลเซียกล่าวอีกว่า ภาวะฉุกเฉินให้อำนาจรัฐบาลเข้าควบคุมกิจการของโรงพยาบาลเอกชนได้หากโรงพยาบาลของรัฐไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ ทหารและตำรวจยังได้รับอำนาจพิเศษเพื่อเข้าช่วยเหลือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข แต่เขายืนยันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ได้รับผลกระทบ
ภายหลังคำประกาศของรัฐบาล ดัชนีหุ้นตลาดมาเลเซียร่วงลงทันที 0.45%
มาตรการควบคุมไวรัสที่มาเลเซียใช้อย่างเข้มงวดเป็นประเทศแรกๆ เมื่อต้นปีที่แล้ว ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ภาวะฉุกเฉินและการล็อกดาวน์ครั้งใหม่จะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยากที่ถึงเป้าหมายการเติบโต 6.5-7.5% ที่รัฐบาลกำหนดไว้สำหรับปี 2564 นี้
ส.ส.ฝ่ายค้านหลายรายโจมตีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยกล่าวว่ามาตรการล็อกดาวน์บางส่วนที่รัฐบาลเพิ่งประกาศนั้นเพียงพอต่อการควบคุมการระบาดของไวรัสแล้ว
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส.พรรคกิจประชาธิปไตย กล่าวว่า คำประกาศนี้ต่ออายุทางการเมืองของมูห์ยิดดิน เนื่องจากเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว "บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญมากในช่วงเวลานี้ เพื่อรับประกันความโปร่งใส สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในกิจการของรัฐ" เขากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |