ผุดต้นแบบเกษตรใน“อีอีซี” เดินหน้า 5 ปี 91 โครงการ


เพิ่มเพื่อน    

      เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ใหญ่สำคัญที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผุดขึ้นและเดินหน้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความสนใจของนักลงทุนที่แวะเวียนกันมาในพื้นที่แห่งนี้ แม้ขณะนี้จะต้องเจอกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ที่อาจทำให้สะดุดไปบ้าง แต่ "บิ๊กตู่" ก็พยายามผลักดันและสร้างสตอรีใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดดึงดูด  

            โดยช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี

            โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซีด้วย  

            และล่าสุดในพื้นที่อีอีซีได้เตรียมการพัฒนาโครงข่าย 5G และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีไอเดียทำ “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาด้านการเกษตร” ในพื้นที่อีอีซีแห่งนี้ เนื่องจากเกษตรกรรมยังถือเป็นภาคหลักของประเทศไทย โดยแผนดังกล่าวเน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ ให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพดี ราคาสูง

            โดยตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่นี้เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย ด้วยการดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ   

            ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ 1.ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2.ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3.พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4.เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5.ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนการนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว 

                “โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซีให้พร้อม เพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนระยะ 5 ปี คือ 2565-2570 ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ”  

            อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map) โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ: มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี  

            ทั้งนี้ “บิ๊กตู่” คาดหวังเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซีแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณนี้จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมาก แต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก

            อีกทั้งผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดในอีอีซี 

            จึงนับว่าเป็นอีกโครงการ “ต้นแบบ” สำคัญที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและภาคท้องถิ่นได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่กับคนไทยและทั่วโลกตอนนี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"