ขณะผมนั่งเขียนคอลัมน์นี้อยู่ (เช้าวันอังคารที่ 12 มกราคม) เหลืออีก 9 วันก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องย้ายออกจากทำเนียบขาว
แต่เขาอาจจะไม่ได้เดินออกไปอย่างราบรื่นนัก
เพราะมีแรงกดดันอย่างแรงจากหลายวงการให้รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่ 25 (the 25th Amendment) ของรัฐธรรมนูญสหรัฐปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งทันที
ด้วยเหตุผลว่าทรัมป์ไม่สามารถจะบริหารประเทศต่อไปแม้แต่วันเดียว เพราะเป็นแกนนำการก่อจลาจลในตึกรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
เป็นเงื่อนไขล่าสุดจากแนนซี เพโรซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำของพรรคเดโมแครตในรัฐสภาที่ยื่นให้กับเพนซ์
คำขาดที่ว่าถ้าเพนซ์ไม่ปลดทรัมป์ตามอำนาจที่มีตามกฎหมาย เธอจะผลักดันให้สภาผู้แทนฯ ลงมติเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ หรือ impeachment
ภาระหนักตกอยู่กับเพนซ์ ซึ่งไม่เคยคิดว่าในชีวิตของการเป็นรองประธานาธิบดีนั้นจะต้องเจอกับการตัดสินใจที่ยากเย็นอย่างนี้
เพราะแต่ไหนแต่ไรก็เชื่อกันว่าตำแหน่งรองประธานาธิบดีไม่มีน้ำยาอะไร เป็นแค่ไม้ประดับเท่านั้น อยู่ที่ว่าประธานาธิบดีจะมอบหมายอะไรให้ทำหรือไม่
ทรัมป์ปฏิบัติต่อเพนซ์เหมือนลูกน้องผู้ซื่อสัตย์
แต่เมื่อเพนซ์เจอกับวิกฤติจริงๆ เมื่อผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าตึกรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เขาก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องฉีกตัวเองออกจากทรัมป์
เพนซ์ถูกทรัมป์กดดันให้ไม่ยอมรับการนับคะแนนในสภาวันนั้น โดยอ้างว่ามีการโกงกันมหาศาล
เพนซ์ไม่พูดอะไรจนถึงวันจริง เพราะเขารู้ว่าในฐานะรองประธานาธิบดีที่นั่งเป็นประธานในที่ประชุมของวุฒิสภาวันนั้น เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกปัดการนับคะแนน Electoral College ของรัฐต่างๆ ที่ได้รับการรับรองมาเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว
เพนซ์ตัดสินใจ “หัก” กับทรัมป์เมื่อเกิดความรุนแรงในรัฐสภา โดยฝีมือการปลุกปั่นของทรัมป์
เมื่อเกิดเหตุวุ่นวาย เพนซ์กับภรรยาถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยพาลงไปซ่อนตัวในห้องใต้ดินของตึกรัฐสภา
ทรัมป์ไม่เคยติดต่อมาสอบถามความปลอดภัยของเพนซ์เลยตลอดช่วงวิกฤตินั้น
ไม่แต่เท่านั้น ผู้บุกเข้าไปในรัฐสภาบางคนยังตะโกน “Hang Pence! Hang Pence!” หรือ “แขวนคอเพนซ์!” เพราะไม่พอใจที่เพนช์ไม่ทำตามที่ทรัมป์ต้องการ
หลังเหตุการณ์ ที่ประชุมร่วมของรัฐสภากลับมาเดินหน้ารับรองคะแนนต่อ เพนซ์ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญโดยประกาศรับรองให้โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการตามคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ
วันนี้เพนซ์ตกที่นั่งลำบาก เพราะด้านหนึ่งก็ไม่ต้องการจะ “หัก” ทรัมป์ เพราะคบหากันมายาวนาน
และหากเพนซ์ต้องการจะเล่นการเมืองต่อไป เขาอาจต้องอาศัยฐานเสียงของทรัมป์ก็ได้
แต่ดูเหมือนเพนซ์จะไม่มีทางเลือกเมื่อทรัมป์ได้กลายเป็นเป้าของความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะต้องปลดเขาออกจากตำแหน่งทันที
และเพนซ์กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่จะทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะแก้วิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ครั้งนี้
เพนซ์มีอำนาจปลดทรัมป์จากตำแหน่งประธานาธิบดีฐานที่ “ไม่สามารถทำหน้าที่ประธานาธิบดี...ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด” โดยมีคณะรัฐมนตรีเกินครึ่งเห็นพ้อง
ทรัมป์มีสิทธิ์อุทธรณ์ไปยังสภา ซึ่งต้องลงมติด้วยเสียง 2 ใน 3 เพื่อยืนยันอำนาจของรองประธานาธิบดี
ทางออกอีกทางหนึ่งคือ ทรัมป์อาจจะเจรจากับเพนซ์ว่าทรัมป์ลาออกเพื่อให้เพนซ์ขึ้นมารักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี
แต่ทรัมป์อาจมีเงื่อนไขว่าถ้าเขายอมลาออก เพนซ์จะต้องประกาศนิรโทษกรรมเขาล่วงหน้า
เพนซ์จะเลือกทางออกไหนเป็นประเด็นร้อนแรงขณะนี้
ที่เขาทำไม่ได้คือตัดสินใจไม่ทำอะไรจนถึงวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่โจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และทรัมป์ต้องเก็บกระเป๋าย้ายออกจากทำเนียบขาว
ทรัมป์ประกาศแล้วว่าเขาจะไม่ไปร่วมงานนี้
เพนซ์บอกว่าเขาจะไปร่วมงานนี้
ถ้าเพนซ์ไม่ทำอะไรก่อนวันนั้น (เหลือเพียง 9 วัน) และหากผู้สนับสนุนทรัมป์ก่อเหตุจลาจลรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือ ณ วันที่ 20 มกราคม เขาจะถูกตราหน้าว่า “ละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”
สำหรับเพนซ์ นี่คือวิกฤติระดับชาติที่กลายเป็นวิกฤติส่วนตัวที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |