รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา ทั้งปังกรอบขบขัน คุกกี้รื่นเริง เล้งแซ่บซดเพลิน ข้าวกะเพราสุขใจ พร้อมเครื่องดื่มซูซ่าร่าเริง "พญ.โศรยา" เผยต้องการสื่อให้ผู้บริโภครู้การใช้ใบกัญชาปรุงอาหารที่ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. แพทย์หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงโครงการเปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชาว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถือเป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล เป็นการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทย การใช้ในผู้ป่วย และศึกษาวิจัย เพื่อเสนอให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ได้มีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย ที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้นทำให้เราเกิดแนวคิดว่าต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็สื่อสารไปทางนโยบายและนักวิจัยว่ามีประเด็นอะไรที่เราต้องทำงานวิชาการเพิ่ม เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยกลุ่มเป้าหมายของเราหลักๆ มี 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร
แพทย์หญิงโศรยากล่าวว่า โรงพยาบาลจึงได้ใช้คอนเซ็ปต์ "มาชิมกัญ” เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเมื่อคนสนใจเราก็จะให้ความรู้เพื่อการนำไปใช้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ของคนไทยนั้นจะใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารในปริมาณไม่มากนัก โดยหากนำมาปรุงอาหารก็ใช้ประมาณ 3 ยอดต่อแกง 1 หม้อ สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว สำหรับการบริโภค 1 คน ไม่ควรเกิน 5-8 ใบ/วัน
"ในองค์ความรู้ปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัย ก็พบว่าในกัญชามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เรียกง่ายๆ ว่า สารเมา ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันในขนาดสูงๆ เป็นเวลานานก็อาจทำให้เสพติดได้ รวมทั้งสารนี้ยังต้องระวังในเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยในบางกลุ่มโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ" แพทย์หญิงโศรยากล่าว
ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าวว่า แม้จะมีข้อมูลว่าในใบกัญชามี THC ต่ำกว่าช่อดอกมาก แต่การนำไปบริโภคอย่างไม่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพและสังคมได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมและสะสมสารนี้ในร่างกาย ได้แก่ อายุของใบ คือใบแก่มีสารเมามากกว่าใบอ่อน การปรุง คือระยะเวลาการปรุง การปรุงอาหารในระยะเวลานาน การปรุงด้วยไขมันจะทำให้สามารถดึงสาร THC มาอยู่ในอาหารได้ดีขึ้น น้ำหนักตัวและปริมาณไขมันในร่างกายของผู้บริโภค สารเมามีแนวโน้มสะสมในชั้นไขมันได้นานขึ้น ซึ่ง ณ วันนี้เรายังขาดข้อมูลพอสมควรว่าบริโภคเท่าใดจึงจะทำให้ติดได้ ซึ่งหากในอนาคตมีงานวิจัยตรงนี้เพิ่มเติม ก็จะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
“ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจจะนำกัญชาไปปรุงนั้น เราจะมีการอบรมให้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตร โดยจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาอย่างกว้างขวางทั่วโลกมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับให้อาหารไทยมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ในปัจจุบันผู้ประกอบการก็สามารถซื้อใบจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าคือ กัญชง เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งกัญชงก็มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา การใช้ในรูปแบบอาหารน่าจะปลอดภัยกว่า ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกัญชงจะมีผลบังคับใช้ 29 ม.ค.2564 ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสูตรอาหารที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำกัญชามาปรุงอาหาร อาทิ ปังกรอบขบขัน ซึ่งเป็นขนมปังกระเทียม มีส่วนประกอบของกัญชาแห้ง 0.24 กรัม, คุกกี้รื่นเริง ซึ่งเป็นคุกกี้ธัญพืช มีส่วนประกอบของกัญชาแห้ง 0.29 กรัม นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารอื่นๆ เช่น รื่นเริงบันเทิงยำ, เล้งแซ่บซดเพลิน, ข้าวกะเพราสุขใจ และขนมปังคิกคัก รวมทั้งเครื่องดื่มซูซ่าร่าเริง ซึ่งเป็นน้ำคั้นกัญชาสดผสมชา เป็นต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |