"อนุทิน" กางกฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41-43 ตอกย้ำผีพนัน-ผู้ทำผิดกฎหมาย ต้องจ่ายค่ารักษาโควิดเอง ขณะที่ "หมอทวีศิลป์" แนะควรดูเป็นรายกรณี สำคัญต้องเปิดเผยความจริง ด้านเด็กก้าวไกลขย่มแนวคิดอันตรายยิ่งคุมแพร่ระบาดไม่ได้ ฟาดหาง คสช.อำนาจ ม.44 ล้นฟ้ากำจัดมาเฟียไม่ได้
เมื่อวันอาทิตย์ จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ผู้มีพฤติกรรมผิดกฎหมายแล้วติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มผู้มีส่วนร่วมกับการกระทำผิด ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ล่าสุด นายอนุทินได้ชี้แจงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" พร้อมยืนยันว่าภาครัฐไม่ปฏิเสธการรักษา แต่กฎหมายระบุชัดว่าผู้ที่นำเข้ามาซึ่งโรค จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในขั้นตอนต่างๆ พร้อมขอให้ประชาชนช่วยกันคิดหาทางออก โดยระบุว่า ประเด็นชวนคิด ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศ ต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสาธารณสุข" ไม่มีการปฏิเสธการรักษา ย้ำตามนี้ครับ
โดยอนุทินระบุต่อว่า แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้กระทำความผิด ละเมิดกฎหมาย ลักลอบข้ามแดน หรือนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค มีกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว วันนี้กระทรวงสาธารณสุขมีภาระค่าใช้จ่าย ต้องตรวจรักษาผู้ลักลอบข้ามแดน ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งก็คืองบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน และเงินกู้ที่คนไทยต้องชดใช้นั่นเอง
"นี่คือประเด็นที่เสนอให้ช่วยกันคิด สาระสำคัญ มาตรา 41 และ 42 ของกฎหมายโรคติดต่อ มีดังนี้ มาตรา 41 ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทาง ซึ่งมากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูการรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 40 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ" นายอนุทินระบุ
นายอนุทินระบุด้วยว่า มาตรา 42 ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวถูกแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เดินทางผู้นั้นเป็น ผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
"มาตรา 43 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือโรคระบาด ให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจออกหนังสือรับรอง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคหรือการได้รับยาป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือหนังสือรับรองอื่นๆ ให้แก่ผู้ร้องขอ โดยผู้ร้องขอเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการมอบหมาย การเรียกเก็บหรือการยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด" นายอนุทินระบุ
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า ถ้าเขามีเรื่องของการติดเชื้อแล้วปิดบัง ไม่ร่วมมือ ไม่มีการโหลดแอปพลิเคชัน นี่คือสิ่งที่ต้องได้รับโทษตามข้อกำหนด ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ตรงนี้จะต้องดูตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะบางคนมีประกันสุขภาพ ถึงแม้จะเล่นการพนันแต่ก็ร่ำรวย มีประกันสุขภาพส่วนตัว ซึ่งประกันจะจ่ายหรือไม่จ่ายขึ้นอยู่กับเขา
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีต่างด้าวก็เช่นกัน คงต้องดูเป็นรายกรณี แต่ถ้ามีความประสงค์ไม่ดี หรือปิดบัง ต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งหมดนี้โทษมีไว้ให้คนฉุกคิด กังวลใจ แต่อย่างที่บอก โทษมีไว้แล้วทำให้เขาต้องแอบ ไม่เปิดเผยตัว ก็ขอให้อย่าเข้าใจอย่างนั้น ยิ่งจะทำให้เขาทรุดหนักลง จะต้องรักตัวเอง
"ฉะนั้น การที่เปิดเผยและบอกความจริงจะสามารถช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ อย่างน้อยถือเป็นการแจ้งเจตนา กฎหมายดูที่เจตนาเป็นหลัก ฉะนั้นคงไม่มีใครอยากจะเอาเชื้อมาให้ตัวเองป่วย แต่เขาพลาดพลั้งไปแล้ว เรื่องอะไรที่ไม่ดี ก็ขอให้เข้ามาสู่ระบบ เราจะดูแลในระดับหนึ่งในการควบคุมโรค" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าหากคุณอนุทินจะผลักดันแนวความคิดนี้จริง อยากให้แยกแยะพฤติกรรมของบุคคลออกจากกัน ระหว่างการทำผิดจากบ่อนการพนัน และการหลบหนีเข้าเมือง กับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และหลักมนุษยธรรม ก็อยากให้คิดอย่างรอบคอบถึงผลเสียที่ตามมาในหลายด้าน เช่น 1.จะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 หรือไม่ 2.จะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ 3.จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากยิ่งขึ้นหรือไม่
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ประเด็นที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ทัศนะว่า จะเลิกรักษาฟรีให้คนทำผิดติดเชื้อลอบเข้าเมืองและลักลอบเล่นการพนัน ถ้ามองผิวเผินก็อาจเชื่อว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามองโดยเอาวัตถุประสงค์ในการควบคุมการระบาดของโรคเป็นสำคัญ การตัดสินใจในลักษณะนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยง และอาจก่อปัญหาการระบาดของโรคในวงกว้างได้
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า การเปิดโอกาสให้คนที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาโดยที่ไม่ต้องกลัวความผิดโดยรัฐจะเป็นผู้ดูแลให้นั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การกักกันโรคและควบคุมไม่ให้ผู้ติดเชื้อไปใช้ชีวิตปะปนกับประชาชนทั่วไปจนเกิดการระบาดไปในวงกว้างได้ หากรัฐส่งสัญญาณที่จะเอาผิดกับผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด รวมทั้งพิจารณาที่จะผลักภาระการรักษาให้กับผู้ติดเชื้อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย จะพยายามปกปิดข้อมูล และไม่ยอมมาทำการรักษา ที่สำคัญเขาเหล่านั้นจะยังคงใช้ชีวิตปะปนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ
"อย่าลืมว่าโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จุดที่อันตรายที่สุดก็คือ การระบาดที่เกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่หนักมาก ถ้าเขารู้ว่าเขาอาจจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย หรือต้องรับภาระที่รัฐกำลังจะผลักดันให้เขา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะออกมารายงานตัวแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อกักกันตนเอง และเข้ารับการรักษา แต่คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มากเหล่านี้ เขาสามารถแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้" นายวิโรจน์ระบุ
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า การมีทัศนะเช่นนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สะท้อนว่าไม่ได้มองเป้าหมายของการควบคุมการระบาดของโรคเป็นสำคัญเลย ซึ่งถือเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ผิด และเป็นอันตรายต่อสาธารณะมากๆ นอกจากนี้ การโทษทุกสิ่งและผลักภาระทุกอย่างไปให้แก่ผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้ที่ลักลอบเล่นการพนัน โดยที่รัฐยังไม่ได้มีมาตรการจริงจังในการจัดการกับกลุ่มอิทธิพลที่ลักลอบค้ามนุษย์ ลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย กลุ่มมาเฟียที่เปิดบ่อนเลย บ่อนพระราม 3 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า บ่อนระยองก็ยังจับหัวหน้าขบวนการไม่ได้
"การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์เองว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ และข้าราชการเข้าไปพัวพันเรื่องผลประโยชน์ด้วย และมีการมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้าไปจัดการปราบปรามในเรื่องนี้ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน และยังไม่มีการเอาผิดกับข้าราชการคนใด และยังไม่สามารถจับกุมหัวหน้าขบวนการการค้ามนุษย์และลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายได้แม้แต่คนเดียว
"มาตรา 44 ของ คสช. ที่มีอิทธิฤทธิ์มากมาย ก็ทำอะไรกับขบวนการค้ายาเสพติดไม่ได้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รักสามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา หรือแม้กระทั่งวินัย มาเฟียเหล่านี้ก็ไม่เคยเกรงกลัว คนที่เป็นระดับรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ต้องมองปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างและแก้ปัญหาที่ต้นตอให้ได้ ไม่ใช่คิดผลักภาระความรับผิดให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบ ที่ประชาชนในวงกว้างต้องพลอยรับเคราะห์ไปด้วย” นายวิโรจน์ กล่าว
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า สมาคมได้เฝ้าติดตามการทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่เชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีข้อพิรุธเป็นที่ผิดสังเกต ที่ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจและเกิดความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ประกอบด้วยการปิดตลาดนัดเป็นมาตรการป้องกันการระบาด โดยรัฐเริ่มต้นด้วยการเลือกปิดตลาดนัด ปิดร้านอาหาร เพราะกลัวประชาชนจะไปแออัดกันซื้อสินค้า การดำเนินนโยบายป้องกันดังกล่าวของรัฐ เป็นการเอื้อกลุ่มทุน แต่ทุบผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า การนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้คนไทยอย่างล่าช้า ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนำมาใช้ฉีดให้กับพลเมืองของตนนานแล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย สำหรับประเทศไทย โฆษณาชวนเชื่อมานานแล้วว่าจะซื้อวัคซีนจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้าฯ จะเริ่มนำมาใช้ประมาณ พ.ค.-มิ.ย.64 นี้เป็นต้นไปจนครบ กระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ต่อมาไปจัดซื้อวัคซีนบางส่วนที่พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน จำนวน 2 ล้านโดส โดยชุดแรก 2 แสนโดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่สอง 8 แสนโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน
"ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไปจัดหาวัคซีนจากจีน มีความเกี่ยวข้องกับการที่มีบริษัทเจ้าสัวจากเมืองไทยไปเข้าถือหุ้น 15% ในซิโนแวค บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 ของจีน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กันและกันใช่หรือไม่ด้วย และทำไม อย.จึงไม่รีบรับรองวัคซีนของบริษัทต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดซื้อจัดหามาใช้ได้อย่างรวดเร็วได้ รัฐบาลมีอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง" นายศรีสุวรรณ ระบุ
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นอกจากนั้นการที่มีการปิดบังไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนทราบ และไม่มีการสั่งปิด แต่กลับมาสั่งปิดสถานที่อื่นๆ แทนนั้น เป็นการเอื้อกลุ่มทุน แต่ทุบผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ด้วย โดยสมาคมจะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันพรุ่งนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |