นับเป็นระยะเวลา 7 เดือนตั้งแต่ 27 พ.ค.2563 ที่ศาลล้มละลายกลางอนุมัติคำร้องของ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูทำแผนตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2563
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นกระบวนการทำแผน ซึ่งมีกำหนดเวลาจะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 4 ก.พ.ศกนี้อย่างช้าที่สุด และถือเสมือนเป็นการพิสูจน์ทราบครั้งสำคัญว่า สายการบินของคนไทยที่ได้ชื่อว่า "สายการบินแห่งชาติ" นี้.. จะมีทางเลือกทางรอดตามเป้าประสงค์หรือไม่อย่างไร
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร)
ความคืบหน้าล่าสุด ก่อนที่จะมีการลุ้นตัวโก่งกันอีกครั้งในเดือนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
วันนี้เจ้าหนี้ทั้งหมดประมาณ 13,000 ก็มีการยื่นแผนมาหมดแล้ว ตอนนี้ก็มีการแย้งหนี้อยู่บ้าง ตอนนี้อยู่กระบวนการที่เจรจาอยู่กับเจ้าหนี้ ถามว่าเจ้าหนี้ใครบ้าง ก็จะมี 1.เจ้าหนี้ที่เราเช่าเครื่องบิน ทั้งไฟแนนเชียลลิส คือ เช่าซื้อ เช่าเสร็จเอามาบินแล้วก็เป็นของเรา อีกอันคือ เช่าแต่ไม่ได้ซื้อ เช่าแล้วเอามาบิน เราก็มีการเจรจาต่อรองมา 3-4 เดือนแล้ว ก็ใกล้สำเร็จแล้ว
2.คือเจ้าหนี้ที่เป็นหุ้นกู้มีพวกสหกรณ์ออมทรัพย์ พวกประกันภัย ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย สถาบันการเงินที่เป็นหุ้นกู้อันนี้กำลังเจรจาอยู่ก็ใกล้จะปิดการเจรจาภายในไม่เกินเดือนมกรา. หลังจากนั้นก็มีหนี้ธนาคาร เงินกู้ธนาคาร มีอยู่ประมาณ 7-8 แห่ง อันนี้อยู่ในกระบวนการเจรจารายละเอียด และมีเงินกู้จากภาครัฐส่วนหนึ่ง และ 3.ลูกค้าที่มีหนี้การค้า
รวมๆ กันโดยหลักแล้วรวมสามประเภท ประเภทแรกเกือบ 60% คือ เครื่องบิน หุ้นกู้ และเงินกู้ ธนาคาร ตอนนี้อยู่ในกระบวนการเจรจา ตามแผนเราคิดว่าจะยื่นแผนภายในต้นเดือนกุมภา. น่าจะไม่เกิน 4 กุมภา. พยายามยื่นแผนให้ได้
"คราวที่แล้วเนื่องจากสามเดือนกว่าเจ้าหนี้จะมายื่นหนี้ ค้างหนี้ เจ้าหนี้เยอะมาก และติดปีใหม่ด้วย เลยไม่สามารถทำได้ทัน เพราะการยื่นแผนต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ต้องเห็นชอบด้วย เพราะฉะนั้นเขาต้องมีกระบวนการพิจารณา หลังจากเรามีแผนให้เขาเล่มหนึ่งแล้ว ไปยื่นต่อศาล แล้วเข้าบริษัทเขาว่าเห็นชอบหรือไม่ในเวลานี้เราต้องคุยให้เรียบร้อย เจ้าหนี้มีวิธีการ แปลงหนี้เป็นทุนบ้าง ยืดหนี้บ้าง ลดดอกเบี้ยบ้าง ก็จะเป็นกระบวนการตามปกติ ซึ่งเจ้าหนี้หลายคนก็เข้าใจในธุรกิจเรา ว่าธุรกิจเรามันแข่งขันได้ แต่ว่ามาเจอเรื่องโควิด แล้วถามว่าเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง" รักษาการดีดีการบินไทยสรุป
คณะผู้บริหารแผน "หัวใจ" ฟื้นการบินไทย
สิ่งสำคัญหลังจาก 4 ก.พ.2564 คือ การต้องมีมือบริหารแผนที่วางไว้ให้ได้เป็นจริงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งที่มองข้ามความจริงไม่ได้เลยคือ ต้องได้รับการยอมรับจาก "เจ้าหนี้" ของการบินไทย เพราะหนทางการให้ "เจ้าหนี้" ส่งคณะผู้บริหารแผนมาเอง มิใช่ทางออกที่จะเป็นที่สบายใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ
ในกรณีดังกล่าวนี้ นายชาญศิลป์ระบุว่า เขาได้ดีไซน์คุณสมบัติของคณะผู้บริหารแผนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบอร์ดของการบินไทยจะเป็นผู้สรรหาบุคคลที่ตรงกับกรอบที่ได้วางไว้ เพราะเป็นหัวใจของการฟื้นฟู "ผู้บริหารถ้าเป็นทีม 4-6 คนพอ อย่ามีเยอะ ต้องมีทักษะในด้านธุรกิจนี้ ต้องรู้การเงิน บัญชี การบิน รู้เรื่องคน กฎหมาย จะไปเอานักการเมืองมาก็ยิ่งแย่ ประธานผู้ถือหุ้นให้เขาไปหาอันนี้สำคัญมาก ใครจะเป็นซีอีโอ เราไม่ได้เลือกเอง เราเสนอผู้บริหารแผน แต่ยังไม่รู้ คนเสนอเป็นเจ้าหนี้กับผู้ถือหุ้น ต้องมีหลักเกณฑ์"
"ผมคงไม่รื้อฟื้นของเก่า ของใหม่ต้องตั้งหลักใหม่ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กร ต้องมีสิ่งที่ทำงานได้และมีความซื่อสัตย์ ถ้าเจ้าหนี้เห็นด้วยมัน 12 ยก ไม่ใช่มวยยกเดียว เพราะวันนี้ดีมานด์หาย ด้วยโควิด แต่ดีมานด์หายผมว่าเป็นโชคดีของการบินไทย ถ้าทุกคนบินได้และเราบินไม่ได้ในวันนี้ เราวางแผนฟื้นฟู เราโดนกินมาร์เก็ตแชร์หมด เป็นโชคดีแต่เราต้องรีบปรับตัวขึ้นมา"
รักษาการดีดียืนยันว่า "การบินไทยสามารถสู้กับสายการบินอื่นได้แน่นอน เรามีเส้นทางบินที่ดี มีคนที่อยากขึ้นเครื่องบินเราอยู่ และเราสามารถสร้างคุณค่าหรือสินค้าและบริการให้คุ้มค่ากับบริการ ผมว่าคนขึ้นเครื่องเรา วันนี้แม้กระทั่งเจอโควิด คนกลับจากต่างประเทศเข้ามาก็ขึ้นการบินไทยเยอะเลย เที่ยวบินบางลำ 200-300 คน เราขนคนมาแล้วเกือบหมื่น จากแฟรงก์เฟิร์ต ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น แล้วรูทจะมีการปรับเน้นทางเอเชียเป็นหลักและยุโรป แต่ไม่สามารถไปเริ่มหลายรูทได้เหมือนเดิม เพราะดีมานด์ไม่ได้เยอะขนาดนั้น เอเชียมีทั้งญี่ปุ่น จีน เซาท์อีสเอเชีย ไต้หวัน เกาหลี พวกนี้เป็นนักลงทุน นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบมาไทยอยู่แล้ว"
จุดแข็งที่สำคัญอีกเรื่องคือ เราซ่อมเครื่องบินได้หลายแบบ เรามีเครื่องบินหลายแบบมันเป็นจุดแข็ง ถ้าเราพัฒนาให้ดี มีการถ่ายทอดที่ดี มีกระบวนการซ่อมที่ได้มาตรฐาน และการทำงานให้ได้ตรงตามเวลา มีความปลอดภัยทุกอย่างสามารถค้าขายได้ เราอยู่ใกล้ลูกค้า และเป็นพันธมิตรกับลูกค้าด้วย อย่าไปเลือกและทำให้ได้มาตรฐาน เหมือนรถเบนซ์ โตโยต้า อะไรอย่างนี้เราซ่อมได้หมด ได้มาตรฐาน ไม่ว่าใครเป็นเจ้าของเราก็ซ่อม แต่ต้องจ่ายสตางค์
อย่างไรก็ตาม รักษาการดีดีการบินไทย ยอมรับว่า การจะขับเคลื่อนหรือกู้ชีพการบินไทยนั้น สำหรับคนในองค์กร ขณะนี้ไม่ใช่ประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคปัญหาอีกแล้ว เพราะทุกคนเข้าใจ และช่วยกันเสียสละทุกวิถีทางที่จะทำได้ ประเด็นที่ต้องขับเคี่ยวเห็นจะเป็นที่ความเชื่อมั่นของ "เจ้าหนี้" และการมองหา "พันธมิตร" หรือ strategic partner ที่จะเพิ่มช่องทางให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งนั่นก็ไม่พ้น "เงินทุน" "เราดูแคชโฟร์ทุกๆ อาทิตย์ เงินสดในมือคาดว่าจะลากยาวได้ถึงเมษายน หากเราขอศาลเพื่อขายทรัพย์สินบางอย่าง ที่อนุมัติเราก็กำลังดำเนินการ เราสามารถขายบางชิ้นได้ ลากเงินสดได้ถึงเมษายนมันมีเงื่อนไข ของบางชิ้นถ้าขายไม่สำเร็จก็ไม่ถึงเมษา. ของชิ้นนั้นต้องเป็นของชิ้นใหญ่" นายชาญศิลป์เปิดเผยถึงสถานการณ์ระหว่างกระบวนการฟื้นฟู หากยังหาพันธมิตรทางธุรกิจไม่ได้
ส่วนคำถามว่า กลยุทธ์หรือการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจของการบินไทยเป็นอย่างไรนั้น มีคำอธิบายสั้นๆ ว่า ต้องดูว่ามาทำธุรกิจไหน ถ้าเข้ามาทำอาหารต้องกลุ่มอาหาร ถ้ามาทำเครื่องบินต้องกลุ่มเครื่องบิน มันแล้วแต่ประเภทที่พันธมิตรจะแสดงความสนใจ
ฉะนั้น การบินไทยที่ถูกกักเก็บอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู จะสามารถเงยหน้าผงาดสู่ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่อีกหรือไม่นั้น ดูเหมือนว่าไม่ช้าไม่เร็วก็จะได้รู้ และที่จะได้วัดวาแน่ๆ คือ ...เจ้าหนี้รายใหญ่จะยังรักและอยากเห็นการบินไทยไปต่อ..หรือกลับไปตั้งต้นรีวิวกันอีกคำรบไม่รู้จักจบ.
บริหารจัดการทรัพยากร
พนักงานร่วมใจสู้โควิด-19
สิ่งที่ชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรมของการฟื้นฟูการบินไทยภายใต้คำสั่งของศาลล้มละลายกลางแล้ว คือการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และที่เด่นชัดสุดก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของปาท่องโก๋ จนถึงการเปิดร้านอาหารครัวการบินไทย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความเคลื่อนไหวของสายการบินแห่งนี้ระหว่างรอความหวังว่าจะขึ้นไปผงาดและประกาศคำว่า ..รักคุณเท่าฟ้า..อีกครั้ง
รักษาการดีดีเล่าว่า พนักงานการบินไทยทั้งหมดประมาณ 29,000 คน รวมพนักงานจ้างจากข้างนอกนั้น ได้มีการขอความร่วมมือในการแสดงสปิริตเออร์ลีรีไทร์ ไปจนถึงการลดเงินเดือนตัวเอง โดยเฉพาะความร่วมมือพนักงานตอนแรกเรามาใหม่ๆ ในปี 2019 เรามีพนักงานรวม outsource ที่อยู่ในสนามบิน แต่เมื่อมีปัญหาโควิด-19 เครื่องบินไม่ลง หายไปจากต่างประเทศเกือบ 90% คนก็จะลดลง outsource ก็หายไป ร่วมไม้ร่วมมือกัน ออกไปก็ไปทำงานอย่างอื่นบ้าง รวมทั้งพนักงานที่เป็นผู้เกษียณ ประมาณพันกว่าคน และก็มีพนักงานที่เป็นสัญญาจ้าง 6,000 กว่าคน และพนักงานที่เราเรียกว่าผู้เสียสละอีก 2,200 คน ในปี 2019
จาก 29,000 คน ในปี 2020 ก็เหลือแค่ 20,000 คน ต่างคนต่างเสียสละไป เราคาดว่ามีคนประมาณเกือบ 5,000 คน ที่จะเสียสละให้องค์กรนี้อยู่ต่อไป และสุดท้ายน่าจะมีคนประมาณ 13,000-15,000 คน
"วันนี้คนที่อยู่เราพยายามสร้างงาน โดยวิธีถ้าบินไม่ได้เราพยายามทำ non-fight income ถามว่าเอามาจากไหน ทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ว่าตึกก็เปิดให้เช่า ไม่ว่าซีมูเลเตอร์ที่ว่าให้คนมาฝึก มาใช้ อาคารที่ว่าเราทำเป็นร้านอาหาร ไม่บินก็ฟินได้ ขายอาหาร ปาท่องโก๋ เราจะใช้หลานหลวง สีลม ใช้สำนักงานใหญ่ และถ้ามีโอกาสไปใช้ที่ภูเก็ต หาดใหญ่ ดอนเมืองให้กลายเป็นนอนไฟลต์อินคัมให้ได้ แม้รายได้ไม่เยอะ แต่ว่าอย่างน้อยก็มีผลกำไร และเรายังมีฝีมือ มีเชฟ คนทำอาหารได้ มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และเรามีลูกเรือ กัปตัน ที่วันนี้ยังบินไม่ได้ก็มาช่วยทำงาน แต่งานหลักของเราคือการทำคาร์โก้"
คาร์โก้ของเราทำรายได้อยู่ตลอดเวลา การสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ มันต้องส่งมาด้วยคาร์โก้ เรามีคาร์โก้ทุกวันไปฮ่องกง ไปไต้หวัน ญี่ปุ่น แต่ตอนหลังเราเจอปัญหา เราเอาผู้โดยสารไป บางประเทศปิด แต่คาร์โก้เรายังเดินงานอยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วอีกจุดหนึ่ง เรากำลังดีไซน์โครงสร้างใหม่ เรากำลังดีไซน์เงินเดือนสวัสดิการใหม่ให้สอดคล้องกับตลาด ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อจะเดินต่อไปข้างหน้า
คือสิ่งที่ทำไป นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่คุยกัน ตัวทรัพย์สินที่มีอยู่ อาทิเช่น เครื่องบิน อุปกรณ์ต่างๆ อะไหล่ หรืออุปกรณ์บางอันกำลังขอต่อศาลไปประมูลขาย หรือไม่ก็ทำคาร์โก้ ก็พยายามปรับปรุงเครื่องบิน ถ้าไม่ได้จริงๆ แอร์เฟรมคือเปลือกเครื่องบิน เราก็จะไปคุยกับพันธมิตรที่มีปั๊มน้ำมัน แต่มีที่อยู่ด้านข้าง เรามีเครื่องบินโดยข้างในเราจะทำเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือไม่ก็นิคมอุตสาหกรรมก็รองรับได้ เพราะปั๊มน้ำมันมีเป็นหมื่นปั๊ม ก็เป็นแนวทางเพื่อหารายได้ แต่เราขอความกรุณาจากเจ้าของปั๊ม ถ้ามีที่ข้างหน้า ด้านข้าง เราพยายามเข้าไปทำ และขอให้เขาสนับสนุนกัน อันนี้ก็เจรจรา ส่วนเจ้าหนี้ก็พยามยามดูให้ดีที่สุดว่าเจ้าหนี้เขามีโปรแกรมอะไร เราจะอยู่รอดอย่างไร
"กระแสเงินสดของเราก็ทำให้เรายืดเวลาออกไปได้ ถ้าจำไม่ผิด เดือน พ.ค. มิ.ย. เรามี 12,000 ล้าน วันนี้ก็ค่อยๆ หดไปเรื่อย เดือนหนึ่งรายจ่ายเกือบพันล้าน แต่เราก็เติมด้วยคาร์โก้ ขายมาเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ร่วมมือทำอะไรเดือนธันวาคมก็หมดไปแล้ว ร้านอาหารนี้ไม่เคยขายได้เลย ปิดนะ ทีมครัวการบินไทยก็มาทาสีเอง ลงขันเอง หนึ่งแสนกว่าบาท ขัดพื้นเอง เอาเก้าอี้โต๊ะวางเอง ขายเอง มาบริการอาสาสมัคร ก็ขายได้ดีในช่วงแรกๆ นี่ก็ยังขายได้ดีอยู่ แต่ไม่ดีเหมือนช่วงแรก เพราะช่วงแรกอาจมีคนเห็นใจและรักการบินไทยอยู่ แต่มาวันนี้เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี แล้วเจอโควิดอีกก็นั่งไม่ได้ ตอนนี้ก็ทำเพื่อเดลิเวอรี ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทำ".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |