การระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ถึงแม้รัฐบาลจะยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ประเทศ เหมือนการระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว แต่มีมาตรการคุมเข้มที่เกือบใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์ ที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด พร้อมกับการขอความร่วมมือจากประชาชน เว้นระยะห่างทางสังคม การโหลดแอพลิเคชั่น "ไทยชนะ" และ"หมอชนะ" เพื่อสะดวกในการติดตามโรค และป้องกันไมให้ไปพื้นที่เสี่ยง การสั่งปิดสถานบริการหลายแห่ง กำหนดเวลาให้บริการร้านอาหารนั่งกินได้แค่สามทุ่ม ที่สำคัญคือ การขอร้องให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดการแพร่เชื้อ ติดเชื้อ
ภาพรวมของสังคมหยุดการเคลื่อนไหว คนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ธุรกิจรับสั่งอาหาร หรือ Food Delivery มีคนเรียกใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ไม่แตกต่างจากการระบาดแรก และแน่นอนสิ่งที่ตามมาของ Food Delivery คือ ปริมาณขยะพลาสติก เพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติเท่าตัว
ฟู้ด เดลเวอรี่ ธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาของขยะพลาสติกนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่า จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมายแค่ไหน ถ้าจัดการไม่ถูกวิธี เพราะกว่าจะย่อยสลายได้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 400 –500 ปี จนถึงบางชนิดอาจไม่มีการย่อยสลายเลยก็เป็นได้ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ เมื่อไหลลงไปในทะเล กระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารและสัตว์น้ำ
กลับมาที่ Food Delivery ถ้าจำกันได้ ในช่วงการล็อคดาวน์เมื่อปี 63 เพื่อ"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามีการใช้ บริการแอปพลิเคชันฟู้ด เดลิเวอรี่ 66-68 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราว 78-84% นับเป็นอัตราการใช้บริการ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ LINE MAN และ Grab Food สถิติการใช้งานเพิ่มขึ้นราว 300-400% เทียบกับช่วงก่อนโควิด
นอกจากนี้ "ฟู้ด เดลิเวอรี่" ยังแข่งกันดุเดือด ห้ำหั่นราคาดึงดูดลูกค้า มีการลดแลกแจกแถม นำเสนอบริการสุดประทับใจ ทั้งในแง่ความรวดเร็วในการส่ง ส่วนลดค่าบริการเพื่อกระตุ้นการใช้บริการ ยิ่งทำให้ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single use-plastics ) เพิ่มมากขึ้นอย่างพุ่งพรวด
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยประเทศไทย หรือ TDRI เคยประเมินว่า 1 ยอดการสั่งอาหาร จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น ประกอบด้วย กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด
ขยะพลาสติกจากการบริโภคในแต่ละวัน ยังขาดการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
ด้านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รายงานว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดต้นปีก่อน ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งไม่รวมถึงขยะอันตรายที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ที่คาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ปี 63 ช่วงวิกฤตโควิด เกิดขยะพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นกว่า 60% หลังจากคลายล็อคดาวน์ปริมาณขยะพลาสติกค่อยๆ ลดลง สำหรับสถานการณ์ในปีนี้ เกิดโควิดระบาดรอบใหม่ แม้ภาครัฐไม่ได้สั่งล็อคดาวน์ แต่หน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานที่บ้าน อีกทั้งการเติบโตของฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% ส่งผลให้ขยะพลาสติกกลับมา เพราะการสั่ง 1 ออเดอร์ สร้างขยะอย่างน้อย 7 ชิ้น จากการประเมินล่าสุด ไทยมีขยะพลาสติกจากฟู้ด เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น 550 ล้านชิ้นต่อปี
“ จากโควิดปี 63 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตระหนักถึงปัญหา และเดินหน้าลดขยะพลาสติกร่วมกับบริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อลดขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น ในแอปให้เลือกกดไม่รับช้อนส้อมพลาสติก แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีถุงพลาสติกห่อทิชชู่หรือตะเกียบ ขณะนี้รัฐใช้มาตรการสมัครใจ ต้องขยับให้เข้มข้น บริการส่งอาหารโดยไม่ให้ช้อนส้อมพลาสติกแต่แรก แต่มีฟังชั่นให้เลือกรับช้อนส้อมสำหรับผู้ที่จำเป็นจริงๆ จะช่วยลดขยะพลาสติกได้มาก สิ่งที่รัฐต้องทำควบคู่ไปเป็นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารทดแทนกล่องอาหารพลาสติก เพราะปัจจุบันพบว่า บางร้านแม้ใช้กล่องกระดาษ แต่กลับเป็นกล่องที่เคลือบพลาสติก กลายเป็นปัญหารีไซเคิลอีก “ ดร.วิจารย์ ฉายภาพปัญหา
ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุ การแก้ปัญหาขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่สำคัญ ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ต้องขยับตามโรดแมฟจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 และมีมติเลิกใช้พลาสติกอีก 4 อย่าง ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วที่หนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ,กล่องโฟมบรรจุอาหาร,แก้วพลาสติกแบบบางที่ใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าจะนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ทั้ง 100% ภายในปี 2573 เพราะสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ อาจทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
1 ยอดการสั่งอาหารจะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้นเกิดขึ้น
แน่นอนว่า ภาครัฐแก้ปัญหาขยะฝ่ายเดียว ไม่มีทางบรรลุเป้า ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย ดร.วิจารย์ย้ำประเด็นนี้ว่า อุปสรรคสำคัญ มาจากคนจำนวนมากยังไม่แยกขยะ ทั้งที่หากแยกขยะเหมาะสม ทำให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น เช่น โครงการ”ถังวนถุง” ของกลุ่ม PPP Plastics เริ่มเมื่อวันสิ่งแวดล้อมไทยปี 63 ปัจจุบันตั้งถังขยะ 350 ถัง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรองรับขยะพลาสติกแห้ง สะอาด ยืดหยุ่นได้ 12 ชนิด สามารถรวบรวมขยะพลาสติกได้ 2,300 กิโลกรัม และนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลเรียบร้อย นอกจากนี้ ภายในปี 64 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจะออกฉลากสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคเอกชนเองมีธุรกิจใหม่ๆ มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์อาหารที่ลดขยะพลาสติก เป็นต้น
“ ปัจจุบันฟู้ดเดลิเวอรี่ครอบคลุมทุกจังหวัดของไทย จังหวัดเล็กๆ หลายจังหวัดยังไม่มีมาตรการหรือระบบจัดการขยะพลาสติกที่เพียงพอ การให้ความรู้และส่งเสริมการคัดแยกนั้นสำคัญ เพราะพลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่ผู้ใช้พลาสติกเป็นปัญหา เราปฏิเสธพลาสติกไม่ได้ ก็ใช้อย่างชาญฉลาด และมีการจัดการขยะพลาสติกที่ดี อย่างไรก็ตาม ระบบจัดการขยะพลาสติกของไทยยังไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับชาติที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นเจอวิกฤตโควิดรุนแรง แต่ไม่พบปัญหาขยะพลาสติกตามมา เพราะมีระบบจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ” ดร.วิจารย์ ชี้ปัญหา
โครงการ”ถังวนถุง” รับพลาสติกสะอาด นำไปรีไซเคิล
นอกจากนี้ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมฯ ยังบอกอีกว่า การลดขยะพลาสติกจะต้องส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ใช้ซ้ำ ลดการเกิดใหม่ของขยะทุกประเภท อีกทั้งสอดรับกับเศรษฐกิจแนวใหม่ หรือ BCG มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้น้อยที่สุด และใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ช่วยลดของเสีย และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยกให้ขยะพลาสติกเป็นสถานการณ์ภาระโรคต่อเนื่องที่น่าจับตา จากการสำรวจข้อความโซเชียลมีเดียไทยที่พูดถึงปัญหาขยะพลาสติก ระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 2562- 31 มิ.ย.2563 โดย Wisesight พบว่า การพูดถึงปัญหาขยะพลาสติกในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึง 5 เท่า
ผู้ใช้งานโซเชียลส่วนหนึ่ง สะท้อนว่า การใช้บริการ ฟู้ด เดลิเวอรี่ เชื่อมโยงกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น หลายคนรู้สึกแย่และต้องการลดขยะที่เกิดจากการสั่งอาหารผ่านบริการนี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้ฟังก์ชันลดการรับอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น อย่าง ช้อน-ส้อมพลาสติก เพราะที่บ้านมีอยู่แล้ว เพื่อลดพิษภัยพลาสติก หรือบางคนเลิกใช้แอพพลิเคชันสั่งอาหารไปเลยก็มี
ธุรกิจรับสั่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้รับความนิยมในช่วงโควิด-19 แกร็บร่วมลดขยะพลาสติก
การลดปัญหาขยะพลาสติกจากฟู้ด เดลิเวอรี่ ปีนี้มีความร่วมมือจากเอกชน จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ บอกว่า ด้วยพันธกิจของแกร็บ ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ พร้อมพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศธุรกิจของเรา ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลโดยตรง ทั้งในด้านการใช้ชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเพื่อตอบรับกับโรดแมฟการจัดการขยะของภาครัฐในปี 2565 แกร็บ ประเทศไทย ได้ผสานความร่วมกับ เฟสท์ ใน SCGP เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความสะอาด ปลอดภัย สัมผัสอาหารได้โดยตรง เพื่อส่งมอบอาหารให้ถึงมือลูกค้า
“ เรามีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 3 ล้านชิ้น ในปี 2564 นี้ และคาดหวังว่า จะมีร้านค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าร่วมโครงการจำนวน 500 ร้านค้า พร้อมขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา และจ.ภูเก็ต “ จันต์สุดา เผยเป้าที่วางเอาไว้
บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แกร็บใช้ลดขยะพลาสติก
ปัญหาขยะพลาสติกจากฟู้ด เดลิเวอรี่มาพร้อมกับโควิด มาพร้อมกับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเข้าถึงอาหารได้ง่าย ยังไม่พูดถึงตลาดอาหารพร้อมทาน หรือ Ready To Eat ที่บูมมากตอบโจทย์วิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนไทย การลดปริมาณขยะพลาสติกเป็นงานที่สาหัส
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เป็นทางออก ทั้งลดใช้ ใช้ซ้ำ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเข้าสู่ระบบจัดการจัด นำไปรีไซเคิลได้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผลกระทบขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีให้เห็นตลอด ยังไม่พูดถึงไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในอาหาร พืชผัก และเข้าสู่ร่างกายเราในที่สุด ภัยเงียบพลาสติกอันตรายต่อสุขภาพกว่าที่ใครจะคาดคิด