บ่อนไก่พ่นพิษโควิด ยอดพุ่ง101ราย8จังหวัด/‘สธ.’หวังปลายเดือนลด!


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.พบติดเชื้อใหม่ 205 ราย กระจายเพิ่มเป็น 57จังหวัด สธ.ชี้โควิดเริ่มขยับขึ้นแบบชะลอตัว คาดคุมได้ดีปลายเดือนยอดลดลงแน่ ห่วงสถานที่ทำงานเสี่ยงแพร่ แนะคัดกรองเข้มข้น "ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร" อาการดีขึ้นมาก แพทย์เตรียมถอดเครื่องช่วยหายใจ สมุทรปราการยังพุ่งอีก 25 ราย ตากเพิ่ม 17 คนไทยจากเมียนมา อึ้ง! บ่อนไก่อ่างทองพ่นพิษ ทำยอดติดเชื้อพุ่ง พิจิตรล้อมคอกสั่งปิด "สนามชนไก่-กัดปลา"

    เมื่อวันที่ 8 มกราคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 205 ราย ในจำนวนนี้เป็นติดเชื้อในประเทศ 131 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 58 ราย มาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 9,841 ราย หายป่วยสะสม 5,255 ราย อยู่ระหว่างรักษา 4,519 ราย และโชคดีที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ 67 ราย อยากได้ยินข่าวดีอย่างนี้เรื่อยๆ เพราะเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเราอยู่ที่ 0.68% ใน 100 คน
    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ใน 57 จังหวัด ล่าสุดคือบุรีรัมย์ และจากข้อมูลผู้ติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่ามีจังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา 37 จังหวัด และมีจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในรอบ 7 วันที่ผ่านมา 16 จังหวัด และมี 4 จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ขณะที่อีก 20 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบนี้ ขอให้ตรึงกำลังเอาไว้ให้มีสถิติที่ดีแบบนี้ไปตลอด นอกจากนี้ ล่าสุด ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานที่ประชุมว่า มีการบูรณาการเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตั้งจุดตรวจระหว่างรอยต่อจังหวัดเพื่อสร้างความไม่สะดวกในการเดินทาง ลดการเคลื่อนย้าย จึงต้องขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ด้วย
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อยู่ในระดับชะลอตัว ซึ่งเราต้องไม่ประมาท โดยต้องดำรงมาตรการควบคุมป้องกันโรคส่วนบุคคล ค้นหาเชิงรุกและตั้งโรงพยาบาล (รพ.) สนามเพื่อค้นหาผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ การระบาดรอบใหม่เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.2563 มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 5,604 ราย เกินครึ่งอยู่ที่สมุทรสาคร 2,981ราย รองลงมาคือภาคตะวันออก ที่ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตราด และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือกรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
        ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์จำนวนผู้ติดเชื้อรอบนี้ มีการเสียชีวิต 7 ราย จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตรอบนี้เทียบกับรอบที่แล้วถือว่าต่ำกว่ามาก อย่างไรก็ตาม จะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ป่วยรักษาอยู่ที่ รพ. 2,599 ราย อาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย อยู่ที่ รพ.สนาม 1,703 ราย รักษาหาย 1,306 ราย สำหรับ รพ.สนาม เป็นหัวใจของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขอย้ำอีกครั้ง ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เมื่อผ่านไป 8-10 วันจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ในมาตรฐานการรักษาที่กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานจะถือว่าหายแล้ว
         นพ.โอภาสกล่าวว่า เนื่องจากจุดเริ่มต้นการระบาดรอบนี้อยู่ที่สมุทรสาคร ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว บางชุมชนมีอัตราการติดเชื้อถึง 40% นั้น ทำให้มีการเฝ้าระวัง ค้นหาแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอื่นๆ โดยเขต 1 ภาคเหนือตอนบน เขต 2 ภาคเหนือตอนกลาง และเขต 3 ภาคเหนือตอนล่างแถบจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร ตรวจไปหลายพันคน พบผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างด้าว 3 ราย อีกจุดหนึ่งคือภาคใต้เขต 11 แถวนครศรีธรรมราช ระนองเขต 12 สงขลา ภาคใต้ตอนล่างตรวจไปทั้งหมดเกือบ 5,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย จะเห็นว่าแรงงานต่างด้าวที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ที่สมุทรสาครและพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ จากการตรวจทั้งหมดกว่า 2 หมื่นราย มีการพบผู้ติดเชื้อน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ระบบการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวอย่างต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการระบาดให้เร็วที่สุด
ปลายเดือนตัวเลขลดแน่
        "สถานการณ์การระบาดในภาพรวมถือว่าควบคุมได้ดี บางจังหวัดมีการควบคุมได้ดี ทั้งการค้นหาผู้ป่วยและติดตามผู้สัมผัสได้ครบถ้วน และมีความร่วมมือของประชาชนในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ลดการเดินทาง ทำให้จังหวัดส่วนใหญ่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เชื่อว่าปลายเดือนนี้จะได้เห็นตัวเลขที่เราอยากเห็น คือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน" อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ
        ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากตลาดกลางกุ้งและชุมชน จะมีอีกกรณีหนึ่งคือการระบาดในสถานที่ทำงาน โดยพบหลายกรณี เช่น แรงงานเมียนมาไปงานแต่งที่สมุทรสาครในช่วงที่เริ่มพบผู้ป่วยรายแรกในพื้นที่ จากนั้นเกิดการติดเชื้อ และเมื่อกลับมาที่โรงงานของตัวเอง ทำให้เกิดการติดเชื้อต่อในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน ทั้งคนเมียนมาอายุระหว่าง 20-30 กว่าปี และคนไทยอายุ 37 ปี, 27 ปี และ 43 ปี โรงงานปิดตัวแล้ว อีกกรณีหนึ่งที่มีการเชื่อมโยงกับตลาดที่จังหวัดสมุทรสาครคือที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร มีการไปแพร่เชื้อต่อในธนาคาร และไปสังสรรค์ช่วงวันที่ 25 ธ.ค. และเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสอบสวนการระบาดที่สถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า คนที่ไปเที่ยวก็มีโอกาสนำเชื้อมาติดเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัว
         "ดังนั้นกิจกรรมสังสรรค์ปาร์ตี้จึงมีความเสี่ยงในระยะนี้ ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในระยะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดก็ตาม เนื่องจากเราเริ่มพบพนักงานของสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างร้าน ซึ่งมีพนักงานหลายคน หากมีคนใดคนหนึ่งติดเชื้อ ไม่มีการป้องกันในที่ทำงาน ก็จะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อต่อเนื่องได้ ดังนั้น ขอให้ทุกสถานประกอบการ รวมทั้งสถานที่ราชการจะต้องเคร่งในเรื่องของการตรวจคัดกรองอาการ สังเกตการเจ็บป่วยของพนักงาน หากมีใครเจ็บป่วย จะต้องรีบแยกออกจากผู้ที่ยังไม่ป่วย และคงการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกัน เลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงนโยบายการทำงานที่บ้าน ต้องส่งเสริมให้ดำเนินการมากขึ้น เพื่อลดความแออัดในที่ทำงานเพื่อป้องกันความเสี่ยง" นพ.โสภณกล่าว
    สำหรับการสอบสวนการระบาดโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับสนามชนไก่ที่จังหวัดอ่างทอง ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรวม 101 ราย จากเดิมอยู่ที่กว่า 80 ราย ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย อ่างทอง 70 ราย, พระนครศรีอยุธยา 13 ราย, สิงห์บุรี 6 ราย, ลพบุรี 5 ราย, สุพรรณบุรี 3 ราย, ขอนแก่น 2 ราย, สระบุรี 1 ราย และนนทบุรี 1 ราย กรณีนี้ชี้ว่าผู้ป่วยรายแรก คาดว่าจะเป็นชายเมียนมาอายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ดังนั้นผู้ที่มีกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ถึงต้นเดือน ม.ค. ที่มีการไปสนามชนไก่ในพื้นที่ภาคกลางไม่ว่าจะเป็นแห่งใดก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะผู้ที่ไปสนามชนไก่ก็มักจะไปในสถานที่หลายแห่งเช่นเดียวกัน จึงขอให้เฝ้าระวัง สังเกตตัวเองเช่นกัน
    ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 37 คน แบ่งเป็นคนกรุงเทพฯ 30 คน ส่วนอีก 7 คน เป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา (โรฮีนจา) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้ที่มาที่ไปสามารถติดตามสอบสวนโรคได้ และมีบางส่วนอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค โดยกลุ่มใหญ่คือกลุ่มจากสถานบันเทิง ร้าน New Jazz ที่กำลังติดตาม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของแรงงานในโรงงานและตลาด ที่ยังระบาดแต่ไม่กว้างมากนักยังติดตามได้ง่าย นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครดีขึ้นมาก
    ที่สำนักการแพทย์ กทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ โดยมีผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
         นางศิลปสวยกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง รพ.สนามว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมพื้นที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนสำหรับสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยในพื้นที่ที่มีการควบคุม โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด สามารถรองรับได้ 500-600 เตียง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ เพื่อรองรับเพิ่มเติมอีก 3-4 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจ และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยหากดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ครบตามแผน คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,500-1,700 เตียง
    ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่าอาการในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อาการดีขึ้นมาก ผู้ว่าฯ อยู่ท่านอนหงายมา 48 ชั่วโมงแล้ว ระดับออกซิเจนในกระแสเลือดดีทีเดียว การทำงานของอวัยวะต่างๆ ดี การให้อาหารทางสายยางให้ได้เต็มที่ คาดหากอาการคงที่เตรียมถอยเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ว่าฯ ค่อยๆ หายใจเอง โดยต้องติดตามอาการอีก 1 วัน วันที่ 9 ธ.ค. คาดว่าน่าจะเอาเครื่องช่วยหายใจออก ส่วนภริยาผู้ว่าฯ อาการดีขึ้น แต่ยังอยู่ รพ.คล้ายกับการกักตัวให้ครบ 14 วัน และสะดวกกับการเยี่ยมผู้ว่าฯสมุทรสาคร
    ที่ จ.สมุทรปราการ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ระลอกใหม่ 25 ราย ผู้ติดเชื้อระลอกใหม่สะสม จำนวน 209 ราย (ติดเชื้อในจังหวัด 132 ราย และรับส่งต่อเพื่อรับการรักษา 77 ราย) รักษาหายแล้ว 23 ราย กำลังรักษาอยู่ 186 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
    ที่ จ.อ่างทอง นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 ราย สะสมรวมอยู่ที่ 76 ราย มีผู้รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1 ราย จากกราฟจะแสดงให้เห็นว่าการตรวจเชิงรุกของจังหวัดอ่างทองสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี หากไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามา เชื่อว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้เราอาจได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 0 นอกจากนี้ยังได้ระบุด้วยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอ่างทองมีมติในการปรับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ของเชื้อโควิด-19 มีผลวันที่ 9 ม.ค. ดังนี้
    1.ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม แผงลอย ภัตตาคาร ห้องอาหาร สโมสร หรือสถานประกอบการอื่นใดที่จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดบริการนั่งในร้านได้ตั้งแต่ 06.00-21.00 น. โดยหลัง 21.00 น. ให้จำหน่ายเฉพาะนำกลับไปบริโภคเท่านั้น 2. ตลาดและตลาดนัดทุกแห่ง ให้เปิดบริการได้ แต่ต้องเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร และปฏิบัติตามมาตรการ 3.ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม ให้เปิดดำเนินการได้ แต่ผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยและ Face shield โดยล้างมือก่อนและหลังให้บริการเว้นระยะห่างเก้าอี้ 2 เมตร และไม่ให้รอใช้บริการในร้าน 4.ห้างสรรพสินค้าให้เปิดดำเนินการได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้า 1.5 เมตร
    ที่ จ.บุรีรัมย์ หลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกประกาศสั่งปิด 4 หมู่บ้านในตำบลชุมแสง อำเภอนางรอง  ประกอบด้วย หมู่ 5 บ้านโคกมะค่า , หมู่ 6 บ้านโคกกระสัง, หมู่ 10 บ้านโคกกลาง และหมู่ 11 บ้านหนองเจริญสุข เป็นเวลา 14 วัน  สืบเนื่องจากมีหญิง อายุ 42 ปี ซึ่งเป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่งส่งบ่อนที่พัทยา และมีประวัติเพิ่งเดินทางกลับจากจังหวัดชลบุรีตรวจพบติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายแรกของจังหวัดนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นางรองจึงได้ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และ อสม. ร่วมกันตั้งด่านตรวจที่บริเวณทางเข้า-ออกหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้คนเดินทางเข้า-ออกนอกหมู่บ้านตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อ  พร้อมกันนี้ ยังได้มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อจุดเสี่ยงต่างๆ ในหมู่บ้านด้วย ทั้งนี้ ได้ค้นหาผู้สัมผัส 630 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 27 ราย ให้ผลลบ 12 ราย อยู่ระหว่างรอผล 15 ราย
ตากวันเดียวพุ่ง 17 ราย
    ที่ จ.ตาก เพจเฟซบุ๊ก “รพ.แม่สอด” โพสต์ข้อความว่า มียอดผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 17 ราย และกำลังรักษา 12 ราย ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "หมอแม่สอด" ซึ่งเป็นแพทย์ชื่อดังของโรงพยาบาลแม่สอด โพสต์ข้อความก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้จังหวัดรับคนไทยที่ไปทำงานฝั่งเมียนมาเข้ามาทั้งหมด 40 คน ผลตรวจเป็นบวก 17 คน ผลไม่แน่นอน 3 คน ส่วนที่เหลืออีก 20 คน ผลเป็นลบ ได้ส่งเข้าสถานที่กักกันของรัฐทั้งหมด
    ที่ จ.เชียงใหม่ นายวีระพันธ์? ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย เชื่อมโยงกับกลุ่มที่ไปสถานบันเทิงเดิม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบสวนตามไทม์ไลน์เพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงกับผู้ป่วย ส่วนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อตรวจหาเชื้อผู้ที่สัมผัสเสี่ยงยังคงดำเนินต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับสถานบันเทิงดัง และพบผู้สัมผัสทุกระดับเกือบพันคน และขอให้ผู้ที่เดินทางไปตามจุดที่เป็นไทม์ไลน์ของผู้ป่วย เฝ้าระวังตนเองหรือเข้าตรวจสอบหาเชื้อที่โรงพยาบาลได้ฟรี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จตามโซเชียลจำนวนมาก เช่น ระบุว่ามีการพบผู้ติดเชื้อทั้งบุคลากรการแพทย์ ข้าราชการทหาร และอื่นๆ จำนวนมากกว่าที่ทางการประกาศ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไปแล้ว
    ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์? มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันในแถลงการณ์ของคณะแพทยศาสตร์?ว่า ไม่มีบุคลากรในคณะแพทยศาสตร์ติดเชื้อตามที่มีการส่งข้อมูล?ทางโซเชียลฯ? ตามที่มีบุคลากรคณะแพทยศาสตร์จำนวน 9 ราย ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ทำการสอบสวนโรคและให้บุคลากรทั้ง 9 ราย? มีการแยกตัวเอง รวมถึงได้ทำการตรวจเพื่อหาเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ในวันที่ 3-5 หลังการสัมผัส ผลปรากฏว่าเป็นลบทั้ง 9 ราย
    ที่ จ.พิจิตร นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้มอบหมายให้นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ ปลัดจังหวัดพิจิตร และทีมงานฝ่ายปกครองลงพื้นที่ตรวจและสั่งห้ามปราม รวมถึงแจ้งผู้ประกอบการว่า ของดการออกใบอนุญาตและงดจัดให้การละเล่นการพนันชนไก่ กัดปลา ชกมวย และไพ่ผ่องไทย ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการมั่วสุมและเป็นจุดเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
    ที่ จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัดแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ผู้ติดเชื้อเดิม 485 ราย รวมเป็น 492 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเดินทางกลับบ้านแล้ว 115 ราย และพบผู้ป่วย 1 รายได้คลอดบุตรขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล ทีมแพทย์ได้ทำการตรวจเชื้อในเบื้องต้นแล้วไม่พบการติดเชื้อจากแม่
    ที่ จ.ภูเก็ต นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์ EOC ตำบล การใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ และแอปพลิเคชัน Go Phuget ในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมว่า การจัดตั้งศูนย์ EOC ตำบล เพื่อรับการรายงานตัวผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง เพื่อวางมาตรการยกระดับป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
    ที่ จ.สงขลา ทีมนักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นำโดย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ ม.อ. ร่วมกับบริษัท มาสเตอร์ แล็บส์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เคสเทรล ไบโอ ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโควิด-19 ภายใต้ชื่อ “KBS COVID-19” เป็นผลสำเร็จ หลังใช้เวลาอยู่นานเกือบ 1 ปีเต็ม โดยเป็นการตรวจหาค่าภูมิคุ้มกันที่อยู่ในกระแสเลือด ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธีรกมลระบุว่า ชุดตรวจ “KBS COVID-19” นี้ มีความพิเศษตรงที่ใช้หยดเลือดเพียงแค่ 1-2 หยด ที่หยดไปผสมกับน้ำยาที่คิดค้นขึ้นบนชุดทดสอบ และรอเวลาเพียงแค่ 15 นาที จะปรากฏผลออกมาทันทีว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"