นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบ video conference ไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษฎา คงคะจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัด เข้าร่วม
นางยุพา กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขอให้บุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปฏิบัติดังนี้ 1.การดำเนินโครงการ/กิจกรรมให้ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด 2.จัดมาตรการป้องกันในสถานที่ทำการและดูแลบุคลากร หากพบผู้ที่มีความเสี่ยง มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ที่มีความเสี่ยง ขอให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค.และจังหวัด 3.หากมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นขอให้มีการรายงานมายังส่วนกลางโดยตรง 4.พิจารณาให้บุคลากรทำงานที่บ้าน Work From Home ทั้งนี้ ขอให้บุคลากรทั้งหมดมีการปรับตัวทำงานออนไลน์ โดยกิจกรรม โครงการต่างๆ ให้มีลักษณะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมกับมีการรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นระยะ
ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เครือข่ายชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลังบวรหรือภาคีเครือข่ายอื่นๆ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยกองตรวจราชการ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด ได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เครือข่ายทางวัฒนธรรม และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ดำเนินการปฏิบัติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้ 1.การปฏิบัติงาน และการจัดกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ในจังหวัด ขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล และคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดในการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 2. จัดทำสื่อวีดิทัศน์ คลิปวีดิโอ หรืออินโฟกราฟิก ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารรณรงค์ป้องกัน สร้างความรู้ แนวทางการปฏิบัติตนให้ถูกวิธี เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยอาศัยการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน
ทั้งนี้ ให้มีการรายงานให้กองตรวจราชการทราบ ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ โดยเริ่มรายงานมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 ดังนี้ จังหวัดที่ส่งรายงาน 60 จังหวัด ได้มีการสร้างการรับรู้ (COVID-19) แก่ประชาชนจำนวนการเผยแพร่ 807 ครั้ง 21,616 ชุมชน ช่องทางการประชาสัมพันธ์ 170 ช่องทาง การผลิตสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่อง COVID-19 คลิปวิดีโอ 32 ชิ้น อินโฟกราฟิก 323 ชิ้น แผ่นพับและอื่นๆ เป็นต้น