“ศบค.” เผยผู้ติดเชื้อใหม่ยังพุ่ง 305 ราย “บุรีรัมย์” ถูกเจาะพบติดเชื้อรายแรกแล้ว เป็นสาวขายอาหารตามสั่งส่งบ่อนชลบุรี “หมอทวีศิลป์” ย้ำ 5 จังหวัดคุมสูงสุดต้องมีใบอนุญาต ย้ำจัดหนักแน่หากฝ่าฝืนหรือบิดบังข้อมูล ชี้แค่ทำให้เดินทางลำบากเพื่อลดการแพร่เชื้อยังไม่ถึงห้ามสัญจร “บิ๊กตู่” ปลุกรวมไทยสร้างชาติต้านโควิด วอนงดไปที่อโคจร รับกำลังหาช่องเยียวยาแต่ไม่ใช่แจก 4 พันบาท "หมอศิริราช" เร่งรัฐรีบผุดโรงพยาบาลสนาม เพราะการติดเชื้อรอบนี้น่าหวาดวิตก ขืนช้าอาจฉิบหายได้
เมื่อวันที่ 7 มกราคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 305 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 193 ราย การค้นหาเชิงรุกในแรงงานต่างด้าว 109 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1 ราย และอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 2 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 9,636 ราย หายป่วยสะสม 4,521 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 88 ปี มีโรคประจำตัวคือ มะเร็ง ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว ติดเชื้อมาจากลูกชายซึ่งมีประวัติไปพื้นที่เสี่ยงใน จ.ระยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 67 ราย
“จากการวิเคราะห์ข้อมูลการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับบ่อนไก่ จ.อ่างทอง มีทั้งสิ้น 88 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ จ.อ่างทอง 50 ราย, พระนครศรีอยุธยา 15 คน, สุพรรณบุรี 13 คน, ลพบุรี 6 คน, สิงห์บุรี 4 คน นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้รับรายงานว่า ขณะนี้ จ.บุรีรัมย์ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ไข่แตกแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
สำหรับกรณี จ.บุรีรัมย์นั้น นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมคณะ ได้แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกของจังหวัดในรอบ 280 วัน โดยระบุว่า เป็นหญิงวัย 42 ปี อาชีพขายอาหารตามสั่งในตลาดแห่งหนึ่งที่พัทยากลาง และส่งอาหารให้บ่อนแห่งหนึ่งในพัทยา จ.ชลบุรี ปัจจุบันรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนางรอง และได้ค้นหาผู้สัมผัสทั้งหมดประมาณ 313 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด 13 ราย และกลุ่มเสี่ยงต่ำ 300 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ออกข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังโรค โดยยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การวัดอุณหภูมิร่างกาย โดยบุคคลที่ประสงค์เดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลจำเป็น โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ศบค.มท.กำหนด ยืนยันการตั้งจุดตรวจตามเส้นทางต่างๆ ไม่ใช่การปิดกั้นการสัญจรทั้งหมด แต่เป็นการสร้างความไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อให้ประชาชนเดินทางลดลง
“ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือและความเข้าใจจากทุกคนว่าตอนนี้มีโทษแรงกว่าเดิม อีกทั้งสนับสนุนให้สร้างการมีส่วนร่วมการตรวจสอบของภาคประชาชน ที่หากพบเบาะแสให้แจ้งมา เพราะตอนนี้ละเว้นไม่ได้แล้ว เนื่องจากเป็นเหตุของการก่อโรค ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อของเราเฉียดๆ หมื่นแล้ว”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หลังจากมีประกาศดังกล่าวออกมา ทาง ศบค.มท.ได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ตั้งด่านสกัดการเดินทางเข้าและออกพื้นที่ทั้งเส้นทางข้ามจังหวัดสายหลักและสายรองตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อลดปริมาณการเดินทาง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงดเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ เข้ารับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และในพื้นที่ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องมีข้อ ส่วน 23 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องปฏิบัติเหมือนกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพียงแต่ลดเรื่องเอกสารรับรองความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่อีก 49 จังหวัด ต้องปฏิบัติ 2 ข้อคือ ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการผู้เดินทาง และสอบถามความจำเป็นในการเดินทาง
“ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น แต่ไม่หนักถึงขั้นห้ามเดินทาง นอกจากนี้ ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบ เจ้าของกิจการ ออกมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อจะช่วยลดการเดินทางที่เท่ากับการลดโรค ย้ำว่าถ้าท่านป่วยแล้วมีแอปพลิเคชันไทยชนะถือว่าไม่มีความผิด รักษาฟรี แต่ถ้าป่วยแล้วไม่มีแอปพลิเคชันดังกล่าว จะสร้างความยุ่งยากในการสอบสวนโรค ต่อไปก็จะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ”
เมื่อถามถึงกรณีการขอเอกสารเดินทางข้ามจังหวัดของพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีผู้คนไปรอขอออกหนังสือเป็นจำนวนมาก ถือเป็นความเสี่ยง จึงขอความชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าวได้บ้าง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ไม่ต้องไปถึงจังหวัด อยู่ในตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ก็สามารถให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ หรือแม้แต่นายจ้าง นายจ้างภาคเอกชน สามารถนำแบบฟอร์มจากกระทรวงมหาดไทย แล้วนายจ้างก็สามารถออกให้ได้ ขอให้มีเหตุผลในการเดินทาง ดังนั้น ขอให้คิดแล้วคิดอีกในการที่จะออกจากบ้าน ขอให้อยู่บ้านดีกว่า และถ้าทำงานอยู่ที่บ้านได้ก็ขอให้ใช้แทน
ย้ำต้องแจ้งไทม์ไลน์
เมื่อถามว่า ไทม์ไลน์ผู้ป่วยนั้นจำเป็นหรือไม่ และต้องเปิดเผยหรือไม่ เพราะบางพื้นที่ไม่มีการเปิด นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตามหลักการแล้วควรเปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วย โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อไม่มากเพื่อให้ได้รับทราบประวัติ อาการ ความเสี่ยง และต้นเหตุของการติดเชื้อมาจากแหล่งไหน เนื่องจากเป็นโรคติดต่อ เช่น ตลาด บ่อนพนัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องบอกให้หมด
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับประชาชนผ่านเสียงในรูปแบบออนไลน์ (PODCAST) หรือ PM PODCAST บนเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าเราจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลและดูแลตัวเองในลักษณะรวมไทยสร้างชาติ ร่วมต้านโควิด-19 ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน จึงขอร้องว่าอย่าเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะติดเชื้อระบาดสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสถิติติดเชื้อจำนวนมาก หรือสถานที่อโคจร ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้ว หรือถ้าเดินทางไปมาแล้วเกิดความสงสัย ขอให้ชี้แจงให้ข้อมูลกับหน่วยแพทย์และสาธารณสุข ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคัดกรอง จะได้ติดตามถึงคนอื่นๆ ด้วย
นายกฯ กล่าวว่า การออกข้อกำหนดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร จันทบุรี ชลบุรี ระยอง และตราด โดยผู้ใดที่จะเดินทางเข้า-ออกจำเป็นต้องมีเอกสารรับรองเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการที่จะลงโทษใคร แต่จำเป็นเพราะกฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า หากมีการฝ่าฝืนต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ปกปิดข้อมูลการเดินทางด้วย ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของการควบคุมโรค และต้องไม่ละเลยเรื่องการใช้ชีวิตตามปกติ และปัญหาปากท้องของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ขอความร่วมมืออีกครั้ง ที่ผ่านมาเราเคยทำมาได้ดีแล้วในระยะที่หนึ่ง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีการขอใบอนุญาตเดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่เข้มงวด 5 จังหวัด ว่าต้องขอโทษประชาชนที่สื่อสารทำให้เข้าใจผิด ทำให้ประชาชนไปที่อำเภอและศาลากลางจังหวัด โดยสามารถไปขอใบเอกสารรับรองการเดินทางได้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่อำเภอ หรือที่จังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น 49 จังหวัดขึ้นอยู่กับจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ซึ่งได้กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตเดินทางเข้า-ออกนั้น ทำให้ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีประชาชนจำนวนมากต้องไปเข้าคิวออแน่นที่ที่ว่าการ อ.ศรีราชาก่อนเปิดทำการ จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องประกาศให้ประชาชนที่มาติดต่อปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติของกรมควบคุมโรค รวมทั้งให้ตัวแทนที่มาในรูปแบบของบริษัท ทำการดาวน์โหลดเอกสารจากเว็บไซต์ของอำเภอไปกรอกรายละเอียด แล้วให้เจ้าของบริษัทหรือผู้ดูแลเซ็นกำกับและประทับตราของบริษัท เพื่อยืนยันรับรองตัวตนของบุคคลคนนั้นได้เลย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็ต้องมาให้เจ้าหน้าที่ของทางราชการเซ็นรับรองให้ไปเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ก็มีประชาชนจำนวนมากมาขอใบอนุญาตเช่นกัน
สำหรับเรื่องวัคซีนนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และคาดว่าในปี 2564 นี้ประเทศไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนเข้ามา โดยระยะแรกจะฉีดให้จำนวนยังไม่ครบ แต่อย่าลืมว่าเรามีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ซึ่งเมื่อเราได้วัคซีนมาก็จะผลิตวัคซีนของเราเอง เพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ทั้งประเทศ ซึ่งระยะต่อไปเราจะดูแลประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย หากเราทำสำเร็จก็เป็นความคาดหวังของเรา จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่น ศรัทธา รัฐบาลก็จะดูแลให้ดีที่สุด ในส่วนของคนไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดให้ฟรีตามระยะ ตามความเสี่ยงไปก่อน จนกว่าวัคซีนจะมีเพียงพอ ซึ่งจะฉีดให้กับคนทั้งประเทศ เราเป็นห่วงคนที่อยู่หน้างาน ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ความมั่นคง อสม. ผู้สูงอายุ แต่เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เราได้มีการติดตามจากต่างประเทศที่มีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ขออย่าเพิ่งตื่นตระหนก ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนไทยทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาว่า รัฐบาลทราบดีว่าทุกคนลำบาก ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการช่วยเหลือประชาชน โดยใช้เงินกู้ต่างๆ ยืนยันว่าการให้เงิน 4,000 บาท ยังไม่มีการประกาศ ออกไปเป็นข่าวที่ถือว่าไม่จริง ทุกคนอาจจะอยากได้ แต่ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง แต่เราก็มีงบประมาณค่อนข้างเพียงพอ ทั้งงบรายจ่ายที่เตรียมไว้กรณีฉุกเฉิน งบเงินกู้ และงบสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบคาดว่าอย่างเพียงพออยู่ แต่ขณะนี้กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาภาพรวม ซึ่งคงไม่ใช่แค่เฉพาะประชาชน ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่มีปัญหาเช่นกัน ก็ขอให้รออีกสักนิด
ส่วนเรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยืนยันว่ามีความจำเป็น เนื่องจากบางพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หากเราเคลื่อนย้ายคนเหล่านี้ไปที่อื่นหรือจังหวัดอื่นก็อาจไม่พอใจกัน เป็นเรื่องที่ทุกจังหวัดต้องเตรียมพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งก็มีมาตรการเช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งมาตรการการควบคุมการเข้าและออก ความปลอดภัย สิ่งที่ดีคือเราสามารถขัดแยกบุคคลเหล่านี้ออกไปอยู่ในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ เพราะ รพ.สนามสามารถลดการแพร่กระจายในพื้นที่ส่วนรวม จึงขอความร่วมมือและขอชื่นชมหลายคนที่บริจาคสถานที่ โกดัง ที่จะตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ขอร้องว่าอย่ารังเกียจกันเลย ตราบใดถ้าเราสามารถควบคุมเป็นพื้นที่ได้ มีการตรวจสอบคัดกรอง รักษาได้ ก็ต้องช่วยกัน ขอให้เข้าใจกันบ้าง ไม่เช่นนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้ ต่อไปก็จะเดือดร้อน
ศิริราชจี้ผุด รพ.สนาม
นพ.ทวีศิลป์ตอบข้อถามถึงกรณีหลายพื้นที่คัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนามว่า รพ.สนามสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก เราเห็นภาพที่ จ.สมุทรสาคร 80% มีอาการน้อยมาก แต่จะให้ไปนอนที่โรงพยาบาลสมุทรสาครจำนวนหลายพันคนจะคุ้มหรือไม่ แต่มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยอื่นๆ ต้องใช้เตียง ทั้งที่โรคนี้ 10% ที่มีอาการหนัก 1-2% ที่หนักจนเสียชีวิต ซึ่งในโรงพยาบาลได้จัดพื้นที่พิเศษให้ผู้ป่วยใช้เตียงอยู่แล้ว ดังนั้น 80% ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยต้องเอาออกมา จึงเกิดการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้น ต้องแยกออกมาอยู่ให้เจ้าหน้าที่ดูแล 1/10 หรือ 1/100 ได้ โดยนายกฯ สั่งการแล้วให้มีโรงพยาบาลสนามในทุกจังหวัด ตรงกับแนวทางของ รมว.สาธารณสุข จึงให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม จึงขอเรียนว่าสิ่งที่กำลังจะทำนี้เท่าเทียมกันทั้งหมด เพื่อดูแลประชาชนในจังหวัดของท่าน ไม่ข้ามจังหวัด ทุกที่ต้องมีเตรียมพร้อมไว้ ดังนั้น ไม่ต้องตกใจ หากจะมีแพทย์ไปเดินดูว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะจะต้องมีการดูอย่างรอบคอบ ทั้งระบบสุขาภิบาล ระบบบำบัด ระบบคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปรักษา จึงขอเรียนเพื่อความเข้าใจ และขอความร่วมมือ ขอความเห็นใจจากประชาชนได้เห็นใจแรงงานเพื่อนบ้านที่มาอยู่กับพวกเรา ผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจ นอนรักษา 14 วันก็หาย ขอความเข้าใจและเห็นใจ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้จำเป็นยิ่งที่ไทยต้องเตรียมตั้ง รพ.สนามเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหลายๆ พื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และขอให้คนไทยทุกคนรับรู้ว่า รพ.สนาม คือเครื่องมือควบคุมการระบาด และช่วยจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น ซึ่ง รพ.สนามมีความจำเป็น 4 ข้อ คือ 1.ผู้ป่วยทั่วไปใน รพ.จะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไป ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้ปะปนกัน 2.บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ 3.รพ.ในระบบปกติ จะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไป เหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 63 และ 4.ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะ รพ.สนามจะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน
“ตอนนี้ รพ.ต่างๆ เริ่มพบคนไข้โควิด-19 อาการหนักมากขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากยุทธศาสตร์ต้นน้ำไม่สามารถคุมการระบาดได้ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำจะเอาไม่อยู่ และขอให้มั่นใจว่าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จะถูกส่งต่อไปยัง รพ.ปกติแน่นอน รอบนี้การติดเชื้อมาจากเรื่องที่ผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข การลักลอบเข้าเมือง การสอบสวนโรคจึงทำได้จำกัด ดังนั้นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ยังปิดบังไทม์ไลน์และไม่กักตัว ยังใช้ชีวิตตามปกติยังมีอีกมาก ในที่สุดไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้เตียงใน รพ.ไม่พอ เหมือนหลายๆ พื้นที่เสี่ยงที่ รพ.ในพื้นที่เริ่มส่งสัญญาณแล้ว ผมขอร้องคนไทยทุกคนให้มองตามความจริงว่า รพ.สนามคือตัวช่วย ให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น เราต้องเร่งตั้ง รพ.สนามตั้งแต่วันนี้ ผมขอฝากอีกเรื่องว่า สิ่งใดที่เป็นความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าให้เกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่รัฐต้องช่วยกัน อย่าให้มีอีก คนไทยต้องร่วมใจกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ยอมรับถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามว่า มักจะมีปัญหากระทบกับคนที่อยู่ในบริเวณนั้นมาโดยตลอด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ยอม เพราะกลัวจะติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปอธิบายพูดคุยเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ชาวบ้านยอมรับได้ หัวเด็ดตีนขาดชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ยอม แต่ชาวบ้านที่พันท้ายนรสิงห์นี้แรกๆ ก็ต่อต้านไม่ยอม ต่อมาก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจและยอมรับ โดยล่าสุดชาวบ้านบอกเห็นตนเองยอมเสียสละที่ดิน 8 ไร่ สละเงินทองมาก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ชาวบ้านจึงพร้อมและยอมที่จะเสียสละไปพร้อมกัน
"ผมไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ผมทำเพื่อคนสมุทรสาคร และที่สำคัญผมก็ทำเพื่อคนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ลูกบ้านผมให้มีขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับโควิด โดยขอบอกว่า ถ้าคนในตำบลพันท้ายนรสิงห์ติดเชื้อโควิด-19 ถึงกับต้องเสียชีวิตตายไป คนข้างหลังต้องไม่ลำบาก มารับเงินที่ผมได้เลย ผมจ่ายให้เอง 500,000 บาท เพราะผมถือว่าเขาเป็นผู้เสียสละเพื่อคนสมุทรสาคร” นายวัฒนากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |