สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังวิกฤติ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ยอดการติดเชื้อเกือบวันละล้านคน ถึงแม้บางประเทศจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดแล้วก็ตาม แต่ยังไม่การันตีป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนหลายคนแพ้ยาอย่างหนัก ส่วนสถานการณ์ของไทยก็หนักไม่แพ้กัน เมื่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิดกลับมาหลอนคนไทยอีกครั้ง
ยอดการติดเชื้อทะยานขึ้นสู่หลักพันเพียงไม่กี่วัน แหล่งแพร่ระบาดของเชื้อจากแรงงานต่างด้าวที่ตลาดกุ้งมหาชัย จ.สมุทรสาคร เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสอบสวนโรคพร้อมประกาศล็อกดาวน์เป็นพื้นที่เสี่ยงห้ามเข้า-ออก ถึงแม้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. จะออกมายืนยันไม่ใช่การระบาดรอบสอง แต่เป็นการระบาดระลอกใหม่ สามารถควบคุมได้ แต่พบว่าผู้ที่รับเชื้อจากแหล่งระบาดกระจายไปทั่วประเทศ กทม.ประกาศงดเคาต์ดาวน์ และกิจกรรมที่เป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ไม่มีใครช่วยได้นอกจากคนไทยช่วยกันเอง การ์ดอย่าตก เว้นระยะห่าง สวมแมสก์ทุกครั้งที่ออกสู่ที่สาธารณะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ
การแพร่ระบาดไวรัสโควิดกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกย่อยยับ ผู้คนตกงาน ไทยก็หนัก ตั้งแต่ระบาดรอบแรกเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะธุรกิจภาคท่องเที่ยวที่ทำเงินเข้าประเทศมหาศาลพังย่อยยับ สถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก แต่ละปีนักท่องเที่ยวต่างประเทศแพ็กกระเป๋านำเงินเข้ามาใช้จ่ายหมุนเวียนเศรษฐกิจปีละหลายพันล้าน แต่เดี๋ยวนี้เงียบเป็นป่าช้า ห้างร้านทยอยปิดกันเกือบหมด ไม่ต่างกับเมืองร้าง ยิ่งไวรัสโควิดกลับมาระบาดรอบสอง เศรษฐกิจไม่รู้จะกลับมาได้อีกเมื่อไหร่
ไวรัสโควิด-19 ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายแม้กระทั่งความเชื่อมั่นของ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยอาศัยช่องทางโซเชียลสะท้อนปัญหาถูกผู้บังคับบัญชา “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด” โดยงบประมาณตัวนี้ รัฐบาลเป็นคนจัดสรรให้เพื่อตอบแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมปฏิบัติงานสกัดกั้นการแพร่ระบาดในช่วงวิกฤติ ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-30 มิ.ย.63 จำนวน 2,521 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณ 2,521 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยเลี้ยงข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งด่านป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 60-70 บาทต่อวัน วันละไม่เกิน 7 ชั่วโมง งบประมาณค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบเบิกจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละกองบัญชาการเบิกงบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น จำนวนการตั้งด่าน และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จริง และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยืนยันว่าส่งให้กองบัญชาการและกองบังคับการแต่ละภาคไปทั้งหมดแล้ว แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน หลายหน่วยได้รับเงินไม่เป็นไปตามจริงตามจำนวนเบิก บางหน่วยมีการซิกแซ็กโอนไปเข้าบัญชีไม่ตรงชื่อ หรือบางหน่วยต้องมีเงินทอน รวมทั้งการสร้างพยานเท็จขอให้ตำรวจชั้นผู้น้อยถอนเงินสดจากธนาคารมาคืนให้กับต้นสังกัด
“บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงกับควันออกหู ตำรวจที่ทำงานตั้งด่านต้องได้เงินเต็มตามจำนวนทุกหน่วยทุกนาย หากพบการกระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีทุกนาย พร้อมสั่งการให้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน ความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชารอไม่ได้ “บิ๊กหิน” พล.ต.อ.วิสนุ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุด ที่ 0001 (จตช)/021 ถึง ผบช.น., ผบช.ภ., ผบช.ภ.1-9, ผบช.ก., ผบช.ส., ผบช.สตม., ผบช.ตชด., ผบช.สพฐ., ผบช.รร.นรต. และ ผบช.ทท. เร่งรัดให้ผู้บัญชาการทุกหน่วยดังกล่าวรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับตั้งชุดปฏิบัติการ 10 ชุดจากส่วนกลางลงไปหาข้อมูลคู่ขนาน
จเรตำรวจแห่งชาติชี้แจง ตามระเบียบกำหนดเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกชั้นยศชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ตามหลักต้องโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่โดยตรง หากโอนไปบัญชีอื่นใดก็ผิดหมด จะมอบอำนาจให้คนอื่นโอนไม่ได้ และให้รายงานผลการตรวจสอบโดยด่วน หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดระเบียบ คำสั่งหรือพบการทุจริต ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทั้งทางวินัยและอาญา ซึ่งก็พบว่า การร้องเรียนมีมูลพบว่าบางแห่งทุจริตเฉพาะโรงพัก บางแห่งทุจริตกันทั้งจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่การเงินรายบุคคลมีส่วนรู้เห็นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าบางกองบัญชาการมีการขอเบิกงบสูงถึง 100-200 ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเวลาทำงานใน 60 วัน หรือเร็วกว่านั้น เรื่องการอมเบี้ยเลี้ยงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นกับองค์กรตำรวจ ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนแล้วเรื่องมักจะเงียบหาย ถูกดอง หรือตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาเลือกที่จะเงียบมากกว่ามีปัญหา เป็นแกะดำในฝูง เพราะรู้ดีเมื่อเปิดหน้าสู้จะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานอย่างไร ถึงแม้จะมีช่องทางตามระเบียบขั้นตอน แต่ตำรวจยุคนี้ถือว่าดีหน่อย เมื่อโลกยุคโซเชียลตาสับปะรด มีช่องทางในการสื่อสารหรือการร้องเรียน สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
ปัญหา “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด” พล.ต.อ.สุวัฒน์รับทราบปัญหาตั้งแต่เกิดเรื่อง ไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไป ติดตามการทำงานของจเรตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดทุกกองบัญชาการให้เร่งดำเนินการโดยเด็ดขาด พร้อมให้หลักการทำงาน คืนความเป็นธรรม เยียวยาถูกต้องตามระเบียบและทุกคน รวมถึงสังคมพอใจ และให้ทุก บช.ไปเร่งจัดการเข้าสู่กระบวนการทางวินัย พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับรอง ผบช. ที่ทำหน้าที่จเรตำรวจของ บช.น. ตำรวจภูธรภาค 1-9 เพื่อติดตามผลการดำเนินการทางวินัย
จเรตำรวจที่เคยถูกมองเป็นเสือกระดาษ ตำรวจสอบตำรวจเท่ากับตำรวจช่วยตำรวจ ใช้ไม่ได้ในยุคของ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ เมื่อหัวหน้าจเรตำรวจแห่งชาติอย่าง “บิ๊กหิน” พล.ต.อ.วิสนุ เอาจริง ไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในองค์กร ผลการตรวจสอบพบว่า มีข้าราชการตำรวจที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางวินัย จำนวน 166 นาย จาก 17 จังหวัด และนครบาล ทั้งระดับ บก. ภ.จว. และระดับสถานีตำรวจ โดยมีตั้งแต่ระดับ ผบก.ลงมาถึง ผบ.หมู่ ซึ่งต้องถูกดำเนินการตามแต่มูลเจตนาของผู้กระทำผิดจากเบาไปถึงหนัก ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ กักยาม ดำเนินคดีวินัยร้ายแรง ซึ่งโทษสูงสุดคือสั่งปลดออกจากราชการและดำเนินคดีทางอาญา
คดีความเบี้ยเลี้ยงโควิดรอบแรกยังไม่เสร็จ โควิดกลับมาระบาดอีกรอบแล้ว ซึ่งตำรวจยังเป็นกำลังหลักในการตั้งด่านตรวจจุดสกัดการเผยแพร่เชื้อร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ได้กำชับห้ามเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ก็ต้องคอยดูกันต่อไป ถ้าหัวไม่ส่าย หางคงไม่กระดิกแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |