6 ม.ค.64 - นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ และหลายพื้นที่ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดการเดินทางของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องได้รับการพิจารณาคำขอประกันโดยเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา มีนโยบายสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยในการต่อสู้คดีในศาล ลดขั้นตอนและภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
สำนักงานศาลยุติธรรมตระหนักถึงสุขภาพความปลอดภัยและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดให้บริการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวและคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service: CIOS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในการขอประกันโดยไม่ต้องเดินทางมาศาล และสามารถยื่นคำขอประกันทางออนไลน์ ตลอดจนสามารถทราบคำสั่งและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทางออนไลน์ตลอดเวลาได้
โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ร้องขอประกันที่ประสงค์จะยื่นคำขอประกันทางออนไลน์ สามารถเข้าใช้บริการได้แล้ววันนี้ โดยลงทะเบียนเป็นผู้ใช้ระบบ CIOS เพื่อพิสูจน์ตัวตนได้ที่เว็บไซต์ https://cios.coj.go.th หรือลงทะเบียนได้ที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศทุกวันทำการ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. เมื่อลงทะเบียนใช้งานระบบ CIOS สำเร็จแล้ว สามารถเข้าใช้ระบบเพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวและคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ทันที และสามารถเข้าใช้งานระบบได้ตลอดเวลาที่ระบบเปิดใช้งาน โดยกรอกข้อมูลและอัปโหลดคำร้องและเอกสารตามวิธีการที่ระบบกำหนด เมื่อผู้ร้องขอประกันยื่นคำร้องถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดแล้ว ระบบจะส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ร้องขอประกันตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าระบบได้รับคำร้องไว้ดำเนินการแล้ว และผู้ร้องขอประกันสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินการและคำสั่งศาลได้เองทางระบบ CIOS และเมื่อศาลมีคำสั่งประการใด จะส่ง SMS แจ้งไปยังผู้ใช้ระบบเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบคำสั่งศาลในระบบต่อไป
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและต้องทำสัญญาประกัน ถ้าผู้ร้องขอประกันเป็นผู้ใช้ระบบที่ลงทะเบียนเข้าใช้ระบบโดยมีการยืนยันตัวตนต่อศาลแล้ว เจ้าหน้าที่จะนัดหมายผู้ร้องขอประกันเพื่อทำสัญญาประกันด้วยวิธีให้ผู้ประกันจัดทำสัญญาประกันเป็นเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้วอัปโหลดเข้าสู่ระบบ หรือลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกันในสัญญาประกันที่เป็นเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล แต่หากผู้ร้องขอประกันเป็นผู้ใช้ระบบที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตนต่อศาล เจ้าหน้าที่จะนัดหมายผู้ร้องขอประกันมายืนยันตัวตนและทำสัญญาประกันที่ศาลในวันที่ศาลมีคำสั่ง แล้วดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป
ทั้งนี้ กรณีที่ต้องวางหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวด้วย ถ้าหลักประกันเป็นเงินสด ผู้ประกันอาจวางเงินต่อศาลโดยชำระผ่านเคาน์เตอร์หรือตู้ ATM ของธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งของธนาคาร แล้วอัปโหลดไฟล์หลักฐานการวางเงินเข้าสู่ระบบ แต่หากหลักประกันไม่ใช่เงินสด เจ้าหน้าที่จะนัดหมายผู้ประกันมาดำเนินการที่ศาลโดยเร็ว
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การยื่นคำขอประกันทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของศาลยุติธรรม และถึงแม้ในช่วงนี้จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกระลอก แต่ศาลยุติธรรมยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพ และการบริการประชาชนด้วยความสะดวกและรวดเร็วเช่นเดิม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |