เปิดไทม์ไลน์‘วัคซีน’! ผลิตเอง200ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

  ชัดๆ ไทม์ไลน์วัคซีนโควิดจากปากนายกฯ  ล็อตแรก 2 ล้านโดส ปลายเดือน มี.ค. 8 แสนโดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน, เดือนเม.ย. 1 ล้านโดส สำหรับประชาชน 5 แสนคน ปลายเดือน พ.ค. 26 ล้านโดส สำหรับประชาชน 13 ล้านคน เพิ่ม 35 ล้านโดส ส่วนของสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตปีละ 200 ล้านโดส

      เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวผ่านไลฟ์สดเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเตรียมเงินสำหรับรองรับวัคซีน โดยจะเข้ามาในระยะแรก 2 ล้านโดส, ปลายเดือน มี.ค. ประมาณ 8 แสนโดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน, เดือนเม.ย.จะได้อีก 1 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชน 5 แสนคน, ปลายเดือน พ.ค.อีก 26 ล้านโดส สำหรับประชาชน 13 ล้านคน
    ทั้งหมดจะต้องผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) ของเราและ อย.ต่างประเทศด้วย และวันนี้ได้มีการสั่งจองเพิ่มบริษัท AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส ฉะนั้น รวมทั้งหมดจะมีประชาชนประมาณเกือบ 60 ล้านคน ที่จะได้รับการฉีควัคซีนตามระยะเวลาที่วัคซีนเข้ามา
    "จากข้อมูลสาธารณสุขคิดว่าเพียงพอ ต้องฉีดคนละ 2 โดส ห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ ทยอยฉีด ส่วนการจะให้กลุ่มใดเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญผู้ที่อยู่หน้างาน ใกล้ชิดการตรวจคัดกรอง และผู้เจ็บป่วยโควิดต้องให้ความสำคัญส่วนนี้ก่อน และผู้ที่จะมีความเสี่ยงเกิดโรครุนแรง หรือการแพทย์ด่านหน้า ประชาชนผู้สูงอายุ ประชาชนที่มีโรคเรื้อรัง และอื่นๆ ที่มีความจำเป็น"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนล็อตที่ 2 จำนวน 26 ล้านโดส จะเริ่มส่งมอบเดือน มิ.ย. สำหรับวัคซีนล็อตต่อไปเราจะมีการติดต่อแสวงหาจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย เพื่อให้รวดเร็วตามความต้องการของเรา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีน AstraZeneca ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งไว้ในสถานการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ในการผลิตวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่าจะผลิตได้ประมาณปีละ 200 ล้านโดส ในระยะต่อไป ฉะนั้นน่าจะเพียงพอในการให้วัคซีนได้ทั่วทั้งประเทศ  
    นายกฯ กล่าวว่า เพื่อความรวดเร็ว เปิดให้ภาคเอกชน รัฐบาลจัดหาได้ แต่ต้องผ่านการรับรองมาตรการของ อย. และอยู่ในการควบคุมการใช้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เรื่องผลข้างเคียงวันนี้ จากการติดตามสัดส่วนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งต้องติดตาม เพราะนี่คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการรับวัคซีนในระยะนี้ วันนี้มีการฉีดในหลายประเทศ หลายยี่ห้อ เราต้องติดตามทุกประเทศ เพราะเราต้องการให้คนไทยปลอดภัยมากที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ต้องให้ความสำคัญจำกัดการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว เอาคนที่ติดเชื้อมาควบคุม รักษาพยาบาลให้ได้โดยเร็ว ส่วนผู้ที่เป็นแล้วก็ใช้ยารักษาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีการจัดหาไว้อย่างเพียงพอ  
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.รับทราบการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในกรณีเร่งด่วน ซึ่งมีการพูดคุยกับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทคฯ (Sinovac Biotech) เพื่อจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส โดยวัคซีนที่จะได้รับอนุญาตเข้ามาใช้กับประชาชนคนไทย จะต้องขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ประเทศจีน และเมื่อผ่านจากประเทศจีนแล้ว จะต้องนำมาให้ อย.ของประเทศไทยอนุมัติเพิ่มเติมด้วย ซึ่งองค์การเภสัชกรรมฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ และกรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดซื้อและกระจายไปสู่ประชาชน โดยมีวงเงินจัดสรร 1,228 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดสโดยเร็วและเร่งด่วน
    แบ่งเป็นจำนวน 2 แสนโดสแรก นำเข้ามาในเดือน ก.พ.2564 ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำไปฉีดเข็มแรกให้เจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด จำนวนประมาณ 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อ มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 180,000 คน
    นายอนุชากล่าวว่า ในเดือน มี.ค.2564 จะได้วัคซีนอีก 800,000 แสนโดส ซึ่งจะฉีดเข็มที่สองให้กลุ่มที่ 1 จำนวน 200,000โดส ส่วนอีก 600,000 แสนโดส ฉีดในกลุ่มจังหวัดที่ควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตก ภาคใต้ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มที่ติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 540,000 คน ขณะที่ในเดือน เม.ย.2564 จะได้วัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2 ล้านโดส โดยจะฉีดเข็มที่สองให้กับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในเดือน มี.ค. ประมาณ 600,000 คน ส่วนอีก 400,000 โดส จะฉีดให้กับบุคลากรอื่นๆ เพิ่มเติม  
    "สำหรับประชาชน 1 คน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส หลังจากนั้นประเทศไทยมีการจองซื้อวัคซีนรวมทั้งสิ้น 26 ล้านโดสไปแล้ว จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณกลางปี 2564 นอกจากนี้ นายกฯ อนุมัติเพิ่มเติมในการจัดหาซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้คุ้มครองคนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด รวมเรามีวัคซีนทั้งหมด 63 ล้านโดส ที่ให้คนไทยใช้ได้ภายในปี 2564" โฆษกรัฐบาลกล่าว
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาและเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งเพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมายครอบคลุมประชาชนไทยร้อยละ 50 ภายในปี 2564 ผลการเจรจาภายในเดือน ก.พ.-เม.ย. ไทยจะได้รับวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส ถ้าเป็นไปตามแผน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะได้รับวัคซีน 2 แสนโดสแรก ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง และในเดือน มี.ค. จะได้รับอีก 8 แสนโดส เดือนเม.ย.อีก 1 ล้านโดส โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมาย
    ปลัด สธ.กล่าวว่า การทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ จำนวน 26 ล้านโดสนั้น จากเดิมจะได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 2 แต่จากการเจรจาจะได้วัคซีนมาเร็วกว่ากำหนด ทยอยส่งตามแผนการฉีดวัคซีน โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดส่งและกระจายวัคซีนไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ จาก COVAX Facility อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง และได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่ม เพื่อให้ได้วัคซีนครอบคลุมประชาชนไทยร้อยละ 50 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้.


   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"