วิวัฒนาการมาตรา112 โทษหนัก"ตัดหัว"สู่"จำคุก"


เพิ่มเพื่อน    

           หลังจากม็อบราษฎร หรือมวลชนม็อบ 3 นิ้วพักรบ และประกาศยกระดับในปี 2564 เพื่อเดินหน้าตามภารกิจ 3 ข้อ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในระหว่างการต่อสู้ไปสู่เป้าหมาย ระหว่างทางก็ต้องรับผลของการกระทำที่เกิดขึ้น

            หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เดินหน้าดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.-16 ธ.ค.2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ทั้งสิ้น 31 ราย ใน 18 คดี เป็นเยาวชน อายุ 16 ปี และนักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง

            รวมทั้งแกนนำคนสำคัญก็ไม่พลาดถูกหมายเรียก ไม่ว่าจะเป็น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และทราย เจริญปุระ ดาราชื่อดัง เป็นต้น  

            ท่ามกลางเสียงต้านจากฝ่ายผู้ชุมนุมและการเมืองที่หนุนหลัง ที่มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เหวี่ยงแห่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถูกจับตาจากต่างชาติ กระทั่ง "มีความพยายามให้ยกเลิกมาตรา 112"

            ขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการคุ้มครองประมุขของประเทศเป็นไปตามหลักที่ปฏิบัติกันสากลในทุกประเทศ จึงไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวนี้มีที่มาที่ไป และความมีความมั่นคงของประเทศ

            ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพราะมาตรา 112 มีที่มาเป็นร้อยปี จะยกเลิกทันทีเลยคงจะไม่ได้ ส่วนรายละเอียดความเป็นมาเป็นเช่นใด ถือโอกาสรับทราบไปพร้อมกัน   

            สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย กรณีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

            ถูกบังคับใช้ครั้งแรกอย่างไร ย้อนประวัติศาสตร์กฎหมายไทยไปตั้งแต่ยุค ‘กฎหมายตราสามดวง’ ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยชำระกฎหมายต่างๆ จากยุคอยุธยา โดยในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการเขียนถึงประเด็นความผิด ‘ติเตียนว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว’ อยู่ในมาตรา 72 บุคคลดังกล่าวต้องถูกลงโทษสถานหนักคือ "การประหารชีวิต"

            ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการออก พ.ร.ก.ลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 โดยมาตรา 4 ระบุถึงความผิดในการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินเอาไว้ มีการบัญญัติโทษจำคุกเป็นครั้งแรก คือไม่เกิน 3 ปี และปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท (ค่าเงินเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว) หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปกฎหมายใหม่ นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ต้นธารประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน มีการเพิ่มคำว่า ‘แสดงความอาฆาตมาดร้าย’ เป็นครั้งแรก ดูหมิ่น หรือประทุษร้ายพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วย มีโทษตั้งแต่จำคุก 3-7 ปีปรับ 1,000-5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลคณะราษฎรมีการยกเลิกข้อกฎหมายเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยอ้างหลักความเสมอภาคกันตามรัฐธรรมนูญ โดยการยกเลิกกฎหมายข้อนี้อยู่ยาวนานถึงเกือบ 25 ปี

            กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2490 ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ครองอำนาจ ต่อมาในปี 2499 มีการตราประมวลกฎหมายอาญา ปรากฏมาตรา 112 ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ลักษณะข้อความเหมือนกับมาตรา 112 ในปัจจุบันทุกประการ ยกเว้นแต่บทลงโทษที่ปี 2499 ระบุว่า ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

            มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและกว้างขวางในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงต้นทศวรรษ 2500 เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์และศัตรูทางการเมือง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีการแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 คือจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน

            จะเห็นได้ว่ามาตรา 112 ในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพัฒนาการเรื่อยมาหลายร้อยปี มีการปรับการบังคับใช้-ถ้อยคำ-บทลงโทษจาก ‘หนัก’ มาหา ‘เบา’ โดยปัจจุบันโทษแค่จำคุกเท่านั้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่โทษคือโดนประหารชีวิตสถานเดียว?

            ส่วนฝ่ายต้านจะยกเลิกหรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ได้หรือไม่ จึงต้องเป็นเรื่องต่อสู้และถกเถียงทางความคิดให้สังคมตกผลึกร่วมกันเสียก่อน. 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"