“อภิศักดิ์” หนุนตรวจสอบความรอบคอบก่อนบังคับใช้ มาตรฐานการบัญชี IFRS9 หวั่นกระทบปล่อยกู้เอสเอ็มอี


เพิ่มเพื่อน    

 

“อภิศักดิ์” แนะปรับใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่ยังสอดคล้องกับสากล หนุนตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบภาพกว้าง ห่วงมาตรฐานบัญชีใหม่ทำแบงก์ตั้งสำรองเพิ่มกระทบปล่อยกู้เอสเอ็มอี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ในวันที่ 1 ก.ค. 2562 ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค. 2565 เนื่องจากต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาศึกษาข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชัดเจนก่อน ว่า เรื่องดังกล่าว กกบ. เป็นตัวหลักในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาและรวบรวมข้อมูลความพร้อม รวมถึงผลกระทบในภาพรวมกับประเทศก่อน

นอกจากนี้ เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินทั้งหมดเพื่อให้มีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จะต้องไปเตรียมความพร้อมกับบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทั้งนี้ มองว่าหลักเกณฑ์ IFRS9 ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ใช้กันในสากล เมื่อต่างประเทศออกหลักเกณฑ์มา ในส่วนของประเทศไทย ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อนำมาใช้ภายในประเทศด้วย ซึ่งไทยเองเป็นประเทศขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเห็นว่าเราอาจจะมีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่ก็สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่เป็นสากลได้ โดยไม่ต้องกำหนดการใช้ตามหลักเกณฑ์สากลให้เหมือนเป๊ะทุกข้อก็ได้ โดยให้มองเป็นภาพกว้าง ๆ ก็พอ

“เราไม่จำเป็นต้องทำแบบที่เขากำหนดทั้งหมด แต่เราสามารถเอาภาพรวมหลักเกณฑ์ที่ต่างประเทศกำหนดมาพิจารณาปรับให้สอดคล้องได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือการปรับให้สอดคล้อง เอาสิ่งที่ควรพัฒนามาดำเนินการ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ควรจะมีการศึกษาข้อดีข้อเสียของเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกบ. ที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ โดยสิ่งที่อยากให้พิจารณาคือ ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสูง ประมาณ 30% ขณะที่ต่างประเทศมีประมาณ 10% หรือประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ ผลกระทบที่ตามมาของเรื่องนี้ คือ สถาบันการเงินจะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่สถาบันการเงินจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยกับเอสเอ็มอีเพิ่ม หรือบางแห่งอาจจะไม่ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีเลยก็ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลและอาจเกิดผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอดูผลการศึกษาก่อน” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า มาตรฐาน IFRS9 ไม่กระทบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพราะเป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้ด้อยโอกาสมีรายได้น้อย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อย หากให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยกู้ดังกล่าวและต้องตั้งสำรองจนขาดทุนก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการปรับลดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม โดย ธปท. ทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่าง

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สภาวิชาชีพบัญชีมีแผนจะนำการบัญชีหรือมาตรฐานรายงานการเงิน (IFRS 9) มาใช้ในประเทศไทยในปี 2562 หลังจากวันบังคับใช้ของต่างประเทศ 1 ปี (ซึ่งบังคับใช้ในปี 2561) ธปท. ได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ระบบและเตรียมการตั้งสำรองอันเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรฐานการบัญชีใหม่ ซึ่งโดยรวมแล้วสถาบันการเงินเองก็ดำเนินการเตรียมตัวและพร้อมแล้ว

อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มดี ด้วยเหตุนี้ ทราบมาว่า สภาวิชาชีพบัญชีโดยคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) จะนำผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (ในแง่ของต้นทุนการขอสินเชื่อที่อาจสูงขึ้นและการเข้าถึงสินเชื่อที่อาจยากขึ้น) มาประกอบการพิจารณาเพื่อความรอบคอบ รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบในการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"