บ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เข้มงวดป้องกันโควิด)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช. ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจับมือ อสม. องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติการเชิงรุก ใช้กลไกที่มีอยู่ เช่น เครือข่ายบ้านมั่นคง กองทุนสวัสดิการชุมชน เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ตั้งด่านตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ มีร้านค้าชุมชนขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน เลี้ยงปลาดุก ปลูกผัก ฯลฯ เป็นแหล่งอาหารสำรอง ขณะที่เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพจัดกิจกรรมป้องกันและให้ความรู้เพื่อไม่ใช้ชาวบ้านตื่นกลัว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง สภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อบต. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เทศบาล อำเภอ ฯลฯ ตั้งด่านตรวจวัดอุณหภูมิ คัดกรองผู้ที่อาจจะมีเชื้อโควิด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะแพร่กระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
วันนี้ (5 มกราคม) นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า ในฐานะที่ พอช.ทำงานร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ โดยมีภารกิจหลักที่ พอช.ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท โครงการซ่อมสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสหรือ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ การจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือชาวชุมชน หรือ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ สภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ
“ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ พอช.จึงได้ออกแบบการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อให้เครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับ พอช.สามารถดำเนินมาตรการป้องกันและฟื้นฟูชุมชนจากสถานการณ์โควิดได้ทันทีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง เนื่องจากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมีประสบการณ์ในการทำงานป้องกันและฟื้นฟูชุมชนมาแล้ว เช่น การเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง ทำหน้ากากผ้าอนามัยกว่า 1 ล้านชิ้น ทำเจลล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทในสถานการณ์โควิด” ผอ.พอช.กล่าว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ
สำหรับแผนการทำงานเชิงรุกนั้น นายสมชาติกล่าวว่า ขณะนี้ พอช.ได้ประสานงานไปยังสำนักงานภาค พอช.ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละจังหวัดติดตามข้อมูลและสถานการณ์จากหน่วยงานราชการว่าในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ (จัดโซนเป็นพื้นที่สีแดง สีเหลือง สีเขียว) และในแต่ละพื้นที่ดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว หรือมีข้อเสนอ หรือต้องการการสนับสนุนจาก พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
“การรับมือและป้องกันสถานการณ์โควิดรอบใหม่นี้ พอช.จะใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายบ้านมั่นคง กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น อสม. อบต. รพ.สต. เทศบาล พมจ. อำเภอ และจังหวัด ขณะเดียวกัน พอช.จะสนับสนุนให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดทำแผนงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและฟื้นฟูชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิดต่อไป” ผอ.พอช.กล่าว
เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศร่วมเฝ้าระวัง-ป้องกันโควิด
นับแต่การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ ร่วมกันป้องกันโควิดแพร่ระบาด เช่น ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในชุมชนรวมกันกว่า 1 ล้านชิ้น การตรวจวัดไข้ร่วมกับ อสม.เพื่อคัดกรองผู้ที่อาจจะติดเชื้อ จัดทำเจล แอลกอฮอล์ล้างมือ
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พอช.และภาคเอกชนยังสนับสนุนการจัดทำครัวชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ข้าวกล่อง น้ำดื่ม อาหารแห้ง แจกจ่ายผู้ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดกว่า 340,000 กล่อง ฯลฯ
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศได้เกิดการตื่นตัว และนำประสบการณ์จากการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงปีที่ผ่านมาเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เช่น
ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโพธิ์ทอง และสภาองค์กรชุมชนตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ จัดตั้งทีมอาสาจุดคัดกรอง covid-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมเป็นต้นมา โดยคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับทีมงานสภาองค์กรชุมชนตําบลโพธิ์ทอง สนับสนุนอาสาสมัครและอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิจำนวน 10 ชุด เพื่อใช้ที่จุดคัดกรองบริเวณสี่แยกวัดโหนด ตำบลโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นรอยต่อของตำบล เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้อย่างทันท่วงที
อาสาสมัครที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช)
ภาคเหนือ จังหวัดตาก เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เตรียมแผนงานระยะสั้น เช่น ระดับตำบล สภาองค์กรชุมชน 86 แห่ง ร่วมกับ อสม. อบต. เทศบาล รพ.สต. จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ และแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ อาหาร น้ำดื่ม แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ตกงาน ระยะกลาง ส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น โดยแจกเมล็ดพันธุ์ แจกพันธุ์ปลาดุก เพราะใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้น เพื่อนำมาเป็นอาหาร และระยะยาว จัดตั้งธนาคารหรือกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช การพัฒนากองทุนอาหารในตำบล ส่งเสริมการใช้กองทุนที่มีอยู่แล้วในตำบล เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนมาช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
บ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยาเข้มงวดหลังพบผู้ติดเชื้อโควิด 1 ราย
วาศินี กาญจนกุล ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อย อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี บอกว่า สหกรณ์บ้านมั่นคงเขาน้อยเมืองพัทยาฯ เกิดจากการรวมตัวกันของคนจนที่ทำงานในเมืองพัทยาที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง จำนวน 304 ครอบครัว โดย พอช.ให้การสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มและสินเชื่อเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2558
จุดตรวจบริเวณทางเข้า-ออกบ้านมั่นคงเขาน้อย
“ตั้งแต่โควิดปีที่แล้ว เราได้ตั้งจุดคัดกรองโควิดบริเวณป้อมยามทางเข้าชุมชน โดยจ้าง รปภ. 2 คนมาสลับกันตรวจวัดไข้ผู้ที่จะเข้า-ออก พอถึงช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราเริ่มเข้มงวดมากขึ้น เพราะที่บางละมุงมีคนติดเชื้อแล้วหลายคน ชุมชนจึงเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยประกาศให้ชาวบ้านทุกคนใส่หน้ากากอนามัยหากจะออกจากบ้าน และหากออกไปนอกชุมชนเมื่อกลับเข้ามาจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้เจลล้างมือทุกครั้ง ส่วนคนข้างนอกไม่ว่าจะเป็นคนส่งอาหาร ไปรษณีย์ คนขายอาหารเราจะไม่ให้เข้า ให้เอาของฝากไว้ที่ป้อมยาม” ประธานสหกรณ์บอก
วาศินีบอกด้วยว่า ขณะนี้มีแม่ค้าอาหารในชุมชนตรวจพบเชื้อโควิดแล้ว 1 ราย เนื่องจากแม่ค้ารายนี้ทำอาหารเข้าไปส่งที่บ่อนการพนันแห่งหนึ่งในบางละมุง ซึ่งพบว่าในบ่อนมีการแพร่เชื้อและมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วหลายคน จนโรงพยาบาลบางละมุงไม่มีเตียงพอที่จะรองรับ แม่ค้ารายนี้จึงต้องนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลพนัสนิคม จ.ชลบุรี
“ตอนนี้เราจึงบอกให้คนในครอบครัวแม่ค้ารายนี้กักตัวเองก่อน 14 วัน หากมีอาการไม่ดี เราจะติดต่อทางโรงพยาบาลทันที โดยคณะกรรมการชุมชนจะช่วยกันเฝ้าสังเกตอาการ ส่วนคนอื่นๆ ที่อาจจะใกล้ชิดก็ให้กักตัวเอง รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ปกครองไม่ให้เด็กๆ ออกมาเล่นนอกบ้านหรือในสนามเด็กเล่นในชุมชนด้วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และขณะนี้ชุมชนได้ประสานงานหน่วยให้เข้ามาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในชุมชนแล้ว”
เจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหลังมีผู้ติดเชื้อ
นอกจากมาตรการดังกล่าวที่บ้านมั่นคงเขาน้อยฯ แล้ว วาศินีบอกว่า ขณะนี้ชาวชุมชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ เพราะชาวชุมชนส่วนใหญ่หากินในเมืองพัทยา เช่น ทำงานในโรงแรม บาร์ นวดแผนโบราณ ขายอาหาร เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจึงขาดรายได้ บางคนเคยขายปลาซาบะย่างได้วันละหลายสิบตัว แต่พอช่วงโควิดขายได้วันละ 1 ตัว จึงต้องเลิกขาย ส่งผลกระทบต่อรายได้-รายจ่ายในครัวเรือน
“เมื่อสมาชิกชุมชนมีปัญหาเศรษฐกิจ สหกรณ์ฯ จึงต้องให้การช่วยเหลือ เพราะสมาชิกจะต้องผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านประมาณเดือนละ 2,400 บาท ช่วงนี้สหกรณ์จึงพักชำระหนี้ให้สมาชิกที่เดือดร้อนคนละ 3 เดือน ตอนนี้พักชำระไปแล้วประมาณ 20 ราย” ประธานสหกรณ์บอกถึงมาตรการช่วยเหลือสมาชิกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด
พอช.หนุน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท
ในช่วงสถานการณ์โควิด 2563 ที่ผ่านมา พอช.มีมาตรการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการพักหนี้ให้แก่สหกรณ์ผู้ใช้สินเชื่อในโครงการบ้านมั่นคงเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งหมด 395 องค์กร รวม 119,956 ครัวเรือน ช่วยให้กลุ่มและองค์กรที่ใช้สินเชื่อทั่วประเทศไม่ต้องชำระดอกเบี้ยรวม 74.50 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทในช่วงสถานการณ์โควิด แยกเป็น 1.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง จำนวน 220 โครงการ 234 เครือข่ายเมือง ครอบคลุม 2,931 ชุมชน 535,557 ครัวเรือน วงเงินอนุมัติทั้งสิ้น 55,835,000 บาท 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชนบท จำนวน 1,529 โครงการ 1,558 ตำบลวงเงินอนุมัติทั้งสิ้น 71,558,375 บาท โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้ความรู้ การป้องกัน ทำหน้ากากผ้าอนามัย ทำเจลล้างมือ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สร้างอาชีพ สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก เลี้ยงปลา ไก่ ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านมั่นคงเขาน้อยพัทยา นำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 300,000 บาท มาจัดตั้งร้านค้าคุณภาพชีวิตในชุมชน ใช้เงินลงทุน 150,000 บาท จำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาต่ำกว่าทุน เช่น เนื้อหมูซื้อมากิโลกรัมละ 170 บาท ขาย 100 บาท นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปลา อาหารแห้ง นม เครื่องใช้ในบ้านต่างๆ ขายราคาต่ำกว่าทุน เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย และนำเงินอีก 150,000 บาท มาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส จำนวน 22 ชุมชนในเมืองพัทยา เช่น ผู้ป่วยติดเตียง คนแก่ แม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กนักเรียน ฯลฯ โดยมอบข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ นมผง ชุดนักเรียน ฯลฯ
ร้านค้าช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน
นุชจรี พันธ์โสม แกนนำชาวชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ บอกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดปี 2563 สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางซึ่งมีสมาชิก 20 ชุมชน ประชากรกว่า 20,000 คนได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ทำงานในร้านอาหาร ขับมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ฯลฯ สภาองค์กรชุมชนฯ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ พอช. จัดทำครัวชุมชนแจกอาหารให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นมา นอกจากนี้ยังได้รับอนุญาตจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ใช้พื้นที่ว่างที่อยู่ติดชุมชน 1 ไร่ ปลูกผักต่างๆ และเลี้ยงปลาดุก 6 บ่อซีเมนต์แจกจ่ายกัน
“สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางได้รับงบสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมืองจาก พอช.จำนวน 300,000 บาท จึงนำมาทำครัวชุมชน ปลูกผัก เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง กะเพรา มะเขือ และเลี้ยงปลาดุก ตอนนี้เลี้ยงปลาดุกไปแล้ว 5 รุ่นๆ ละ 600 ตัว เราจะแจกเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัวละ 1 กิโลฯ อาทิตย์ละครั้ง และผักเก็บได้ฟรี เพื่อเอาไปทำกับข้าว แต่จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายมาให้ดู เพื่อฝึกการทำบัญชีครัวเรือน ควบคุมรายจ่ายด้วย” นุชจรีบอก
บ่อปลาดุก
แปลงผักที่ชุมชนเขตวังทองหลาง
ส่วนการรับมือกับสถานการณ์โควิดช่วงนี้ นุชจรีบอกว่า สภาองค์กรชุมชนฯ ยังมีเจลล้างมือแจกจ่ายให้แก่สมาชิกเครือข่ายเพื่อป้องกันเชื้อโรค ส่วนหน้ากากอนามัยมีเพียงพอแล้ว โดยใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีอยู่ และยังมีกองทุนข้าวสารที่ซื้อข้าวสารมาขายให้สมาชิกเดือนละ 1 ครั้งในราคาต่ำกว่าทุน เช่น ข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 45 บาท ขายผู้ได้รับผลกระทบ 30 บาท คนทั่วไปขายบวกกำไรนิดหน่อยเพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียน
เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพจัดกิจกรรมให้ความรู้ไม่ให้ชาวบ้านตื่นกลัว
ป้าสนอง รวยสูงเนิน ที่ปรึกษาเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บอกว่า แม้ว่าตอนนี้ในเขตเทศบาลเมืองชุมแพยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และยังเป็นพื้นที่ควบคุม แต่ข่าวต่างๆ ที่ประโคมเรื่องโควิดทุกค่ำเช้าทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว บางคนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพที่มีสมาชิก 13 ชุมชน จำนวน 1,052 ครอบครัว จึงได้เริ่มจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตื่นกลัว และช่วยกันป้องกันโรค
“วันนี้ (5 มกราคม) เครือข่ายฯ ร่วมกับเทศบาลเมืองชุมแพจึงได้จัดอบรมการทำเจลล้างมือจากแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้แทนชุมชนต่างๆ 13 ชุมชน เพื่อให้นำกลับไปสอนลูกบ้าน และสอนวิธีใช้เจลล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์มาเช็ดประตู ลูกบิดที่ต้องจับบ่อยๆ เวลาไปไหนก็ให้พกเจลไปด้วย ส่วนหน้ากากผ้าอนามัยเราทำไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังมีใช้กันอยู่ แต่ที่น่าห่วงคือ ชาวบ้านที่ตื่นกลัว เพราะเหมือนกับโควิดมันมาอยู่ใกล้ๆ ตัว ดังนั้นหลังจากวันนี้แล้ว เครือข่ายจะร่วมกับเทศบาลฯ เข้าไปจัดกิจกรรมในชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันตัว และหากิจกรรมต่างๆ ทำ จะได้ไม่เครียด ไม่กังวล มีสติ ไม่กลัวเกินเหตุ เช่น ปลูกผักในกระถาง หรือปลูกที่ว่างในชุมชน” ป้าสนองบอกถึงแผนงาน
การทำเจลล้างมือป้องกันเชื้อโควิดที่บ้านมั่นคงชุมแพ
ส่วนงบประมาณในการจัดทำเจลใน ป้าสนองบอกว่าใช้งบพัฒนาคุณภาพชีวิตจาก พอช.ประมาณ 30,000 บาท คาดว่าจะทำแจกจ่ายและใช้งานใน 13 ชุมชนได้นานประมาณ 2 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์โควิดจะบรรเทาลง นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณในการปลูกผักสวนครัวต่างๆ เพื่อเป็นอาหารแจกจ่ายในช่วงนี้ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |