คลอดแล้วมาตรการคุมเข้มพื้นที่สีแดง "บิ๊กตู่" ลงนามคำสั่ง ศบค.กำหนด 28 จว.เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดโรงเรียน ผับ บาร์ คาราโอเกะ ห้ามประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ร้านอาหารมีเงื่อนไขจำกัดคนนั่ง และมีมาตรการแต่ละพื้นที่ ส่วนห้าง-ร้านสะดวกซื้อเปิดตามเวลาปกติ งดเดินทางข้ามจังหวัด ทำงานที่บ้าน เริ่ม 6 โมงเช้า 4 ม.ค. สมุทรสาครวิกฤติพบติดเชื้อพุ่ง 541 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 315 ราย ติดเชื้อในประเทศ 294 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 21 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,694 ราย หายป่วยแล้ว 4,337 ราย รักษาในโรงพยาบาล 3,293 ราย เสียชีวิตสะสม 64 ราย ทั้งนี้ยอดผู้ป่วยวันนี้ขึ้นไปสูงสุดกว่าวันอื่นๆ โดยผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 274 ราย มีความเชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร 2 ราย คือผู้ติดเชื้อจาก กทม.และสมุทรสงคราม และเชื่อมโยงกับพัทยา จ.ชลบุรี 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจาก กทม. ผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อในประเทศมี ประวัติไปสถานบันเทิง, สถานที่ชุมชน และสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 37 ราย แบ่งเป็น กทม. 15 ราย, จ.เชียงใหม่ 2 ราย, จ.กาญจนบุรี 1 ราย, จ.นนทบุรี 2 ราย, จ.ราชบุรี 5 ราย, จ.ลำปาง 2 ราย, จ.อ่างทอง 9 ราย, จ.อำนาจเจริญ 1 ราย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ยังมีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ระหว่างรอผลการสอบสวนโรคอีก 234 ราย แบ่งเป็น กทม. 2 ราย, นนทบุรี 1 ราย, สมุทรสาคร 38 ราย, ระยอง 43 ราย, ชลบุรี 62 ราย, สมุทรปราการ 8 ราย, จันทบุรี 68 ราย และตราด 12 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจากการคัดกรองเชิงรุกในแรงงานต่างด้าวอีก 20 ราย แบ่งเป็น จ.สมุทรสาคร 17 ราย และ จ.นนทบุรี 3 ราย สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักตัวของรัฐทุกประเภทมี 21 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรวม 84,975,277 ราย รักษาหายแล้ว 60,093,000 ราย และเสียชีวิตรวม 1,843,313 ราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้ลงนามในประกาศมาตรการฉบับที่ 6 แล้วหรือยัง และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ม.ค. เวลา 06.00 น.ตามที่เสนอหรือไม่ โฆษก ศบค.ตอบว่า ณ ตอนนี้ยังเป็นร่าง ซึ่งนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมเช้านี้อีกรอบหนึ่ง ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการที่จะออกไป โดยจะดูจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ข้อมูลที่มีมา เรื่องของจังหวัดที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นได้มีการปรับแก้ไขบ้างเพื่อให้นายกฯ พิจารณาลงนาม
คลอดแล้วข้อกำหนดสู้โควิด
ต่อมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งนี้ ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 ม.ค.64 นั้น เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กํากับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มี.ค.63 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อํานวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคําแนะนําของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย จึงมีคําสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการ ตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามบัญชีรายชื่อ จังหวัด ประกอบด้วย
1.กรุงเทพมหานคร 2.จ.กาญจนบุรี 3.จ.จันทบุรี 4.จ.ฉะเชิงเทรา 5.จ.ชุมพร 6.จ.ชลบุรี 7.จังหวัดตราด 8.จ.ตาก 9.จ.นครนายก 10.จ.นครปฐม 11.จ.นนทบุรี 12.จ.ปทุมธานี 13.จ.ประจวบคีรีขันธ์ 14.จ.ปราจีนบุรี 15.จ.พระนครศรีอยุธยา 16.จ.เพชรบุรี 17.จ.ราชบุรี 18.จ.ระนอง 19.จ.ระยอง 20.จ.ลพบุรี 21.จ.สิงห์บุรี 22.จ.สมุทรปราการ 23.จ.สมุทรสงคราม 24.จ.สมุทรสาคร 25.จ.สุพรรณบุรี 26.จ.สระแก้ว 27.จ.สระบุรี 28.จ.อ่างทอง
รวมทั้งสิ้น 28 จังหวัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.63 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น สั่ง ณ วันที่ 3 ม.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น
ปิดโรงเรียน
โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร่โรคออกเป็นวงกว้าง กระจายไปในหลายเขตพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการของโรค เป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทาง ทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดและบังคับใช้บรรดามาตรการต่างๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
1.เป็นการเรียนการสอน หรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกล หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2.เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
3.เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการ หรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
4.เป็นโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ
ข้อ 3 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ข้อ 4 เงื่อนไขการเปิดดำเนินการ ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือการทำกิจกรรมดังต่อไปนี้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่างๆ ที่กำหนด
1.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันพิจารณาประเมิน กำหนดรูปแบบและกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสม
2.การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ ภายใต้การดำเนินการมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
สมุทรสาครวิกฤติ
ข้อ 5 มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อการป้องกันระงับยับยั้งการแพร่โรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละเขตพื้นที่สถานการณ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดได้ โดยให้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 15)
ข้อ 6 การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและคัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ศปก.ศบค.กำหนด โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ
ข้อ 7 ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติงานเพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทาง ซึ่งเป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อ 8 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตรวจสอบกลั่นกรองและเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลาย หรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้ เพื่อความเหมาะสมต่อสถานการณ์ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับบรรยากาศที่ "ศูนย์ห่วงใยคนสาคร" 2 วัดโกรกกราก วันที่ 3 ม.ค.64 นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ไปเยี่ยมดูความเรียบร้อย ซึ่งในวันนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากถึง 541 ราย เป็นต่างด้าวที่ค้นหาเชิงรุก 448 ราย เพราะฉะนั้นการตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาครจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องช่วยกันจัดสถานที่รองรับผู้ป่วยของตนเองด้วยอีกทาง ทั้งนี้ ขณะแถลงข่าวช่วงสาย จังหวัดสมุทรสาครพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 36 รายเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |