ป.ป.ช.เปิดตัวเลขคำร้อง-มูลค่าเสียหาย สถานการณ์คอร์รัปชันไทยยัง'หนัก'


เพิ่มเพื่อน    

 

      มีสถิติเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่น่าสนใจ หลังสำนักบริหารงานกลาง และสำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้รับมอบหมายจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ให้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์การทุจริตในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลสถิติคำกล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช.เอาไว้ 

      ในภาพรวมงบประมาณ พ.ศ.2562 ปรากฏว่า มีการกล่าวหาร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มากถึง 10,382 เรื่อง จากหลากหลายช่องทาง ได้แก่ หนังสือร้องเรียน 4,855 เรื่อง หนังสือราชการ 2,143 เรื่อง การร้องเรียนด้วยวาจา 184 เรื่อง เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 30 เรื่อง บัตรสนเท่ห์ 2,632 เรื่อง เว็บไซต์ 529 เรื่อง แจ้งเบาะแส 9 เรื่อง และคำกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อและตำแหน่งผู้ร้องเรียน

      โดยแบ่งเป็นคำกล่าวหาที่มีรายละเอียดครบถ้วน จำนวน 7,212 เรื่อง และคำกล่าวหาที่มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จำนวน 3,170 เรื่อง ทั้งนี้ คำกล่าวหาเหล่านี้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการเอง จำนวน 3,285 เรื่อง และส่งเรื่องไปหน่วยงานภายนอก 3,488 เรื่อง

      และเมื่อจำแนกตามงบประมาณที่เกิดเหตุ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มากที่สุด 1,831 เรื่อง รองลงมาเป็นคำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 1,742 เรื่อง คำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จำนวน 827 เรื่อง คำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 555 เรื่องคำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 404 เรื่อง และคำกล่าวหาที่เกิดเหตุในปีงบประมาณ พ.ศ.2548-2557 จำนวน 1,156 เรื่อง

        สำหรับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุดยังคงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมากถึง 2,212 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.36 รองลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทย 973 เรื่อง หรือร้อยละ 14.37 กระทรวงศึกษาธิการ 752 เรื่อง หรือร้อยละ 11.10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 661 เรื่อง หรือร้อยละ 9.91 และเป็นส่วนราชการอื่นๆ อีก 2,175 เรื่อง 

      คำกล่าวหาที่มากที่สุด 2 อันดับแรก คือ 1.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต อนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ และ 2.การจัดซื้อจัดจ้าง

      ใน 3 อันดับแรกของหน่วยงานที่มีการกล่าวหามากที่สุด เมื่อจำแนกออกเป็นประเภท พบว่า ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีคำกล่าวหามากที่สุดในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 นั้น เป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 743 เรื่อง รองลงมาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ จำนวน 681 เรื่อง และประเภทยักยอก/เบียดบังเงิน หรือทรัพย์สินของราชการ จำนวน 305 เรื่อง

      ขณะที่กระทรวงมหาดไทยมีคำกล่าวหาประเภทการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ จำนวน 340 เรื่อง ประเภทจัดซื้อจัดจ้าง 172 เรื่อง และประเภทออกเอกสารสิทธิที่ดิน 168 เรื่อง

      ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคำกล่าวหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างถึง 221 เรื่อง ประเภทการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ 219 เรื่อง และประเภทการบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตำแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) 120 เรื่อง

      จากคำกล่าวหาที่สำนักงาน ป.ป.ช.รับไว้ดำเนินการเองมีจำนวน 3,285 เรื่อง และเมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณโครงการและจำนวนเงินที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหา พบว่า มีมูลค่ารวมถึง 236,243,838,413 บาท ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทคำกล่าวหา ปรากฏว่า คำกล่าวหาประเภทจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่ามากที่สุดถึง 207,060,914,215 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.65 รองลงมาคือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีจำนวน 23,840,211,033 บาท หรือร้อยละ 10.09 และการบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตำแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) จำนวน 2,053,203,519 บาท หรือร้อยละ 0.87 

      อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐในคดีต่างๆ ทั้งสิ้น 300 คดี แบ่งเป็น

      คดีขนาดกลาง (M) จำนวน 110 คดี คดีขนาดใหญ่ (L) จำนวน 81 คดี คดีขนาดใหญ่มาก (XL) จำนวน 58 คดี และคดีขนาดเล็ก จำนวน 51 คดี 

      และเมื่อจำแนกข้อมูลตามประเภทคดีแล้วจะพบว่า กลุ่มคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ 1.กลุ่มคดีด้านจริยธรรมและความประพฤติมิชอบ จำนวน 76 คดี 2.กลุ่มคดีด้านการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 75 คดี 3.กลุ่มคดีด้านกระบวนการยุติธรรม การเมืองและความมั่นคง จำนวน 43 คดี

      และหากจำแนกข้อมูลตามมูลค่าความเสียหายของคดีที่ชี้มูลความผิดแล้วจะพบว่า ลำดับที่ 1 คือ กลุ่มคดีด้านการจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด โดยคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 7,686 ล้านบาท

      นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,137 ราย และเมื่อจำแนกข้อมูลตามประเภทตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกชี้มูลความผิดแล้วจะพบว่า ลำดับที่ 1 คือ ตำแหน่งประเภทข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นตำแหน่งที่ถูกชี้มูลความผิดมากที่สุด จำนวน 437 ราย และหากพิจารณาถึงประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดถูกชี้มูลความผิดแล้วจะพบว่า ลำดับที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล รองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดเทศบาลตำบล   

        หากดูจากสถิติที่ ป.ป.ช.เก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ ถือว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยไม่ได้เบาบางลงเลย แม้ตัวเลขจะลดลงก็ตาม แต่ยังเป็นปริมาณที่มากอยู่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"